ซีอีโอเครือซีพี เสนอโมเดล SI-Sustainable Intelligence พลิกโฉมการศึกษาไทยจาก 2.0 เป็น 5.0 หนุนเด็กทุกคนต้องมีคอมพิวเตอร์-สร้างการเรียนรู้แบบ Learning Center เน้นทักษะดิจิทัลขั้นสูง มุ่งทรานส์ฟอร์มประเทศรับความท้าทายในอนาคต  

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) แสดงวิสัยทัศน์ในเรื่อง The Future of Education พลิกโฉมการศึกษาไทยเท่าทันอนาคต ภายในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023 FUTURE READY THAILAND รวมผู้นำระดับโลกและไทยจากทุกภาคส่วน จัดโดยสำนักข่าว THE STANDARD ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ  

นายศุภชัย ได้ฉายภาพรวมความท้าทายของโลกและเมกะเทรนด์ปี 2023 - 2030 พร้อมกล่าวว่า เด็กรุ่นใหม่ในยุคนี้ต้องเผชิญกับความท้าทายของโลกในหลายด้าน เราต้องปรับตัวให้ทันและต้องให้ความสำคัญกับการผลักดันนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลมากขึ้น เพราะเราหยุดความก้าวหน้าของโลกไม่ได้ แม้ว่าในตอนนี้โลกอยู่ในยุค 4.0  ซึ่งเป็นยุคของการเข้าถึงข้อมูลเป็นดั่งน้ำมันในอากาศ แต่ตอนนี้เรากำลังจะก้าวเข้าสู่ยุค 5.0 ซึ่งเป็นยุคของการผสมผสานเทคโนโลยีเอไอและกรอบความคิดของคน รวมถึงหลักความยั่งยืนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน และเป็นยุคที่ให้ความสำคัญในการเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลขั้นสูงให้กับคนในประเทศ แต่ทั้งนี้เมื่อมาดูผลสำรวจความสามารถทางทักษะดิจิทัล พบว่า เด็กไทยยังขาดทักษะดิจิทัลและภาษาอังกฤษที่ยังตามหลังประเทศเพื่อนบ้าน และหากดูการจัดอันดับการแข่งขันในเวทีโลก GDP ไทยอยู่อันดับที่ 26 แต่ GDP/CAPITA อยู่อันดับที่ 84  ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของไทยในการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ รวมไปถึงการลงทุนด้านเทคโนโลยี  ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการศึกษาทำให้เด็กเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ เพราะประสิทธิภาพของทรัพยากรมนุษย์ คือหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ  

ซีอีโอเครือซีพี ได้เสนอแนะสิ่งที่จะพลิกโฉมการศึกษาไทยให้เท่าทันความท้าทายต่างๆ ในอนาคต ระบบการศึกษาไทยควรต้องปรับการเรียนรู้จาก 2.0 เป็น 5.0 เข็มทิศสำคัญคือการให้ความรัก ให้ความมั่นใจกับเด็ก เน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลาง โดยบทบาทของครูจะต้องปรับเปลี่ยนจากผู้สอนไปเป็น "โค้ช" หรือผู้นำกระบวนการเรียนรู้ (Facilitator) ต้องสอนให้เด็กเป็น "นักค้นคว้า" มีกรอบความคิดใหม่และเกิดการปรับตัวให้อยู่รอดในโลกที่ท้าทายตอนนี้ เพราะฉะนั้นการเรียนรู้จึงต้องปรับให้เด็กเกิดการตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ ลงมือทำร่วมกัน อภิปรายด้วยเหตุผล เพื่อให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนา โดยทุกโรงเรียนต้องปรับเป็น  Learning Center พร้อมเสนอโมเดล Sustainable Intelligence Transformation (SI Transformation Model) ผ่าน 5 ฐานสำคัญในการเปลี่ยนระบบการศึกษและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ประกอบด้วย 1.Transparency โรงเรียนต้องมีตัวชี้วัด School Grading พร้อมตัวชี้วัดใหม่ที่มีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง และต้องมีสมุดพกดิจิทัล วิเคราะห์และพัฒนาศักยภาพรายบุคคล  2.Market Mechanism สร้างกลไกตลาดและวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน รวมไปถึงการส่งเสริมสื่อคุณธรรม 3.Leadership &Talents ไม่จำกัดวิทยฐานะผู้อำนวยการ สร้างผู้นำและบุคลากรที่มีทักษะ 5.0 4. Empowerment เน้นการเรียนผ่านการลงมือทำในแบบ Action Based Learning บนสามขาความยั่งยืนคือเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และควรต้องมี Computer Science เป็นวิชาหลักครอบคลุมดิจิทัลเทคกับเอไอ และ 5.Technology เสนอให้นักเรียนทุกคนมีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต พร้อมส่งเสริมการสร้างสตาร์ทอัพ และดันให้ประเทศไทยเป็นฮับด้านนวัตกรรม โดยเน้นย้ำว่า เด็กทุกคนต้องมีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต เพราะนั่นคือห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุด และต้องมีการส่งเสริมศักยภาพของคนรุ่นใหม่ เพื่อการพัฒนาประเทศให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก  

"การศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน เป็นเรื่องใหญ่ หากเราต้องการเปลี่ยนแปลงอนาคต เราต้องเปลี่ยนเจเนอเรชันถัดไป เพราะพวกเขาคือผู้ที่จะรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ และต้องสร้างทักษะดิจิทัลให้พวกเขามีศักยภาพในการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างเท่าทัน" ซีอีโอเครือซีพี กล่าวปิดท้าย 

นอกจากนี้ภายในงาน เครือซีพีได้ร่วมออกบูธ CP SEEDING SOCIAL IMPACT นำเสนอความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงของซีอีโอเครือซีพีศุภชัย เจียรวนนท์ ในการมีนโยบายให้กลุ่มธุรกิจค้าส่งค้าปลีกของเครือซีพีอย่าง เซเว่น อีเลฟเว่น แม็คโคร และโลตัส ในการผลักดันส่งเสริม SME และเกษตรกรไทยผ่านโครงการ "แพลตฟอร์มแห่งโอกาส" เสริมความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการไทยเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจของเครือฯ ปัจจุบันเครือฯ ได้สนับสนุนเกษตรกรมากว่า 1 ล้านราย และผู้ประกอบการรายย่อยมากกว่า 8.9 แสนคน ด้วยการส่งเสริมความรู้ความสามารถและการสนับสนุนในด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลกได้  

 

#เครือซีพี #ศุภชัยเจียรวนนท์ #การศึกษา #ดิจิทัล