เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 66 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.การคลัง ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์เฟซบุ๊ก “Thirachai Phuvanatnaranubala ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” หัวข้อ “ทำไมท่องเที่ยวไทยฟื้นน้อย?” ระบุข้อความว่า
ผมเดินทางไปญี่ปุ่น เครื่องบินเข้าที่สนามบินฮาเนดะ ปรากฏว่าคิว ตม. ยาวคดเคี้ยวเหมือนในดิสนีย์แลนด์
เขาปรับขบวนการทำงาน โดยจัดเครื่องพิมพ์นิ้วมือและถ่ายรูปผู้โดยสาร วางรวมกันเป็นเกาะ มีอยู่เกิน 10 เครื่อง
เครื่องจะอ่านพาสปอร์ต ถ่ายรูปผู้โดยสาร และพิมพ์ 2 นิ้วชี้
หลังจากนั้น ก็ต้องไปต่อคิวลดเลี้ยวรอบสอง เพื่อพบเจ้าหน้าที่ ตม. รายบุคคล
แต่ผ่านได้เร็ว เนื่องจากมีข้อมูลอยู่ในระบบแล้วก่อนหน้า
ผมยังเดินทางไม่จบ แต่เพื่อนที่เดินทางก่อนหน้า และกลับออกจากสนามบินนาริตะ แจ้งมาว่า
ผู้โดยสารเข้าคิวขาออกแต่ละช่วง น่าจะเป็นพันคน
ถ้าใครเผื่อเวลาขาออกไม่พอ ก็อาจจะตกเครื่องบินได้
สาเหตุที่ผู้โดยสารทะลักสนามบิน ตั๋วไปกลับญี่ปุ่นหาได้ยาก ราคาแพง
ก็เพราะค่าเงินเยนอ่อน ดึงดูดนักท่องเที่ยว
มีทั้งตะวันตก เอเซียตะวันออก และจีน
ในตลาดขายของข้างถนน เสียงภาษาที่ไม่ใช่ญี่ปุ่นเซ็งแซ่ ได้ยินภาษาไทยบ่อยครั้ง
แต่หลายร้าน มีเทปบรรยายหน้าร้านเป็นภาษาจีน และคนขายพูดจีนได้
ในข่าวข้างล่าง
"จีนติดหล่ม 4 ปัจจัยลบ เที่ยวไทยไม่พุ่ง วีช่าฟรีไม่ช่วย พลาดเป้า
นักท่องเที่ยวจีน 5 ล้านคน หนีเที่ยวญี่ปุ่น
ธุรกิจท่องเที่ยวปรับแผนยกยวง ด้านททท.ผนึกบิ๊กพันธมิตรจีน เร่งกู้ตลาดฟื้นความเชื่อมั่น โปรโมทเที่ยวอีสาน
ขยายช่องทางเข้าไทยผ่าน R3A รถไฟ
ความเร็วสูงจีน-ลาว"
ผมสนับสนุน การที่ธุรกิจท่องเที่ยวไทยพยายามปรับตัว
แต่ขอบอกว่า ตัวดึงดูดที่สำคัญมากกว่า น่าจะเป็นค่าเงินบาท
ถ้ารัฐบาลเน้นใช้นโยบายการคลังแบบกระตุ้นไปเรื่อยๆ ก็จะนำไปสู่เงินเฟ้อ
ธปท.ก็จะหนีไม่พ้น ต้องใช้ดอกเบี้ยสูง เพื่อถ่วงดุล ทำให้เงินบาทแข็ง
ซึ่งจะทำให้ท่องเที่ยวไทย ไม่สามารถแข่งขันได้
จึงขอแนะนำให้รัฐมนตรีคลัง เลิกหรือลดบทบาทนโยบายการคลังแบบกระตุ้น
แล้วหารือกับผู้ว่า ธปท. ให้ใช้นโยบายการเงินแบบกระตุ้นแทน อัดฉีดเงินเพิ่มเข้าระบบ
การลดดอกเบี้ย จะทำให้เงินบาทอ่อน และน่าจะช่วยฟื้นท่องเที่ยวได้ตรงจุด
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2566
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ