เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha”
จากท้อง ถึงหัว...ตัดสินชะตาสมองเสื่อม
คนเราเกิดมามีชะตาชีวิตกำหนดไว้แล้วด้วยรหัสพันธุกรรม และผลของชะตาจะปรากฏออก มาได้ชัดเจน เห็นได้ชัดและเกิดได้เร็วเพียงใดในช่วงชีวิต ยังมีตัวการที่สำคัญ ที่เราสามารถควบคุมได้
โรคสมองเสื่อมที่พูดในขณะนี้ ไม่ว่าจะเสื่อมในด้านความจำแบบอัลไซเมอร์ และคณะ (ที่มีชื่ออื่นๆอีก) โรคพาร์กินสันและคณะ และความเสื่อมในระบบประสาทอื่น ๆ เช่นในไขสันหลัง ขณะนี้ถือว่าเกิดจากต้นตอเดียวกัน คือการที่มีโปรตีนบิดเกลียว จึงเรียกว่า misfolded protein และเกิดจากความไม่เสถียรสมดุลของการควบคุมการสร้าง การบริหารจัดการ และการขับถ่ายหมุนเวียนโปรตีน เลยทำให้เกิดความผิดปกติของระบบ proteostasis และแน่นอน มีการอักเสบมาเป็นตัวแปรที่สำคัญทำให้โรคสมองเสื่อมทั้งหลายเหล่านี้ ถือเป็น neuroinflammatory disease
การที่เราจะปฏิเสธไม่รับมรดก คงทำไม่ได้แต่อาจจะเปิดพินัยกรรมช้าหน่อยหรือแม้ใครที่มีโรคโผล่ออก มาแล้ว ก็สามารถชะลอโรคได้จาก คำกล่าวที่ว่า “เรากินอะไรก็ได้อย่างนั้น”
และในปัจจุบันคงต้องควบรวมไปถึงว่า “เราหายใจอะไรเข้าไปก็ได้เช่นนั้น” นั้นคือ มลภาวะสารเคมีทั้งหลายในอาหาร ในน้ำดื่ม ในอากาศที่มีสารเคมี มีสารที่มาจากขยะปนเปื้อน ล้วนเป็นตัวร้ายที่ทำให้เกิดการอักเสบ
การอยู่ในช่วงที่มีอากาศที่มีมลพิษขนาดจิ๋ว 2.5 ในช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อให้เกิดการสะสมตัวของโปรตีนบิดเกลียวเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดและการอักเสบเป็นตัวนำให้เกิดเส้นเลือดในหัวใจและสมองตัน และมะเร็งอีกด้วย
อาหารการกินที่ก่อให้เกิดการอักเสบคือ อาหารแป้งมากน้ำตาล อาหารหวาน เนื้อแดงจากสัตว์ที่เดินบนบก ทั้งนี้เนื้อที่มีการหมักปรุงรสหรือทำให้เก็บได้นานและแม้กระทั่งเนื้อไก่ก็ยังอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย และนำไปสู่การที่ต้องเข้าใกล้มังสวิรัติที่หนักผักผลไม้ กากใย ที่กินทั้งชิ้น และปลอดสารเคมี หนักถั่ว แต่ถั่วเหลืองได้ในปริมาณที่ไม่มากนัก กุ้ง ปู ปลา ได้ หอยไม่ควรมากนัก บุหรี่ห้ามขาด เหล้าในปริมาณเพื่อสุขภาพ แต่ถ้าเข้าใกล้มังสวิรัติก็สามารถกินไข่แดงได้หลายลูกต่อวัน
อาหารเหล่านี้ที่ต้องห้าม ถูกปรับเปลี่ยนโดยแบคทีเรียในลำไส้ ก่อให้เกิดการอักเสบเข้าไปในกระแสเลือดและซึมผ่านเข้าเส้นเลือดสมองและเข้าในเซลล์สมอง เกิดการประทุอักเสบครั้งที่สองในเซลล์สมองและกระตุ้นให้มีการสร้างโปรตีนบิดเกลียวเหล่านี้มากขึ้นไปอีก นอกจากนั้นการอักเสบ ยังกระตุ้นเซลล์ในลำไส้ ให้มีการสร้างโปรตีนบิดเกลียวเหล่านี้ ขึ้นไปตามเส้นประสาท เบอร์ 10 และเข้าสู่สมอง และมลพิษในอากาศอาจจะเป็นเครื่องอธิบายที่พบโปรตีนผิดปกติเหล่านี้ในเส้นประสาทสมองเส้นที่หนึ่ง ที่กระจายในเนื้อเยื่อของโพรงจมูก และในที่สุดก็ขึ้นไปในสมองในที่สุด
เมื่อโรคปรากฏตัวขึ้นแล้ว ส่วนประกอบในอาหารที่มีประโยชน์ เช่น น้ำมันปลา ที่มี EPA DHA จะเริ่มหมดสภาพ ทั้งนี้ เนื่องจากน้ำมันปลาที่ได้จากอาหารจะต้องถูกเปลี่ยนโดยตับ เป็นน้ำมันปลาจิ๋ว ที่เรียกว่า plasmalogen และจากนั้น น้ำมันจิ๋วนี้จะส่งผ่านเข้าเส้นเลือดในสมองเข้าไปในเนื้อสมองและเข้าไปที่ผิวเซลล์และในเซลล์ชนิดต่าง ๆ ในสมอง แต่เมื่อโรคปรากฏให้เห็นแล้ว กระบวนการทำให้เป็นตัวจิ๋วและกระบวนการนำส่งผ่านต่าง ๆ เหล่านี้ชำรุดทั้งหมด ทำให้เป็นเครื่องอธิบายได้ว่า น้ำมันปลาจะช่วยป้องกันได้ในระยะเริ่มแรกที่ยังไม่แสดงอาการ ทั้งนี้โรคสมองเสื่อมทั้งหลายจะมีระยะเพาะบ่มตัวเองอยู่อย่างน้อย 10 ถึง 15 ปีก่อนที่จะแสดงอาการ
ข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ในวันที่ 20 ตุลาคม 2020 ในวารสาร cellPress Cell Reports Medicine ได้ชี้ให้เห็นความสำคัญถึงการมองภาพสมองเสื่อม ไม่ใช่ดูที่สมองอย่างเดียวแต่จะเป็นการมองภาพรวม เนื่องจากฮอร์โมนในเลือดที่มาจากลำไส้ที่เรียกว่า gut hormones เช่น ตัวที่ชื่อ กลีรลิน (ghrelin) มีบทบาทในการควบคุมการสร้างเซลล์ใหม่หรือเซลล์ต้นกำเนิดในสมองมนุษย์ที่แม้โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว และแม้ว่าจะมีอายุมากแล้วก็ตามที่เรียกว่า neurogenesis
ฮอร์โมนดังกล่าวมีสองฟอร์ม คือ acyl-ghrelin (AG) และ unacylated- ghrelin (UAG)
โดยที่พบว่า ตัว UAG กลับเป็นตัวร้ายลดหรือขัดขวาง การสร้างเซลล์ใหม่และพิสูจน์แล้วว่าทำให้ความจำปัจจุบันหรือการเก็บความจำระยะสั้นผิดปกติและการทำงานเชื่อมโยงประสานกันของเซลล์ประสาทในระบบเดียวกันและต่างระบบ (neuroplasticity) ไม่ปกติ
โดยเฉพาะในคนป่วยที่มีอาการของโรคพาร์กินสันส์ ร่วมกับความจำเสื่อม พบมีความผิดปกติของสัดส่วนระหว่าง AG และ UAG นี้ และยืนยันโดยไม่ว่าจะทำการทดสอบในหลอดทดลองหรือในสัตว์ทดลองที่ปรับแต่งพันธุกรรมให้ไม่มี ghrelin-O-acyltransferase และทำให้ไม่มี AG ก็จะมีความผิดปกติของการทำงานในระบบความจำ เมื่อให้ AG เข้าไปก็กลับเป็นปกติ และพบหลักฐานชัดเจนว่า AG ที่ช่วยกันสร้างเซลล์ใหม่ถูกขัดขวางจาก UAG
การค้นพบนี้ของ AG และ UAG ยังทดสอบในคนป่วยที่เป็นพาร์กินสันส์โดยมีความจำเสื่อมด้วย (parkinson -dementia ) แต่จะอธิบายปรากฏการณ์ของโรคสมองเสื่อมที่มีชื่ออื่น ๆ ได้หรือไม่อย่างไร อาจจะต้องมีการทดสอบกันต่อ แต่ข้อสำคัญก็คือเป็นการปูลู่ทาง ทั้งในการวินิจฉัยในคนที่อาจจะยังไม่มีอาการหรืออาการยังไม่ชัดเจนจนกระทั่งถึงวางแผนในการพัฒนานวตกรรม และยาใหม่
ทั้งนี้มีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ AG โดยมีการรายงานก่อนหน้าในวารสาร Current Biology วันที่ 17 กันยายน 2020 พบว่า ฮอร์โมนนี้เป็นตัวบอกสมองให้รู้สึกว่ามีความหิว โดยผ่านทางเส้นประสาทเบอร์ 10 ซึ่งเป็นเส้นเดียว กับที่โปรตีนบิดเกลียวและก่อให้เกิดโรคสมองเสื่อมใช้เป็นทางผ่านจากลำไส้ขึ้นไปยังสมอง
และในสัตว์ทดลองที่การส่งผ่านสัญญาณนี้ผิดปกติ จะเสมือนกับว่าลืมไปแล้วว่ากินไปแล้ว ทำให้กินแล้วกินอีก เหมือนกับกินไม่อิ่ม และอาจจะอธิบายสิ่งที่เราเห็นในคนป่วยสมองเสื่อมหลาย ๆ รายที่ลืมไปแล้วว่ากินแล้วยังกินอยู่เรื่อย (ท่าทางพวกเราหลายคนคงจะใช้ข้ออ้างนี้ว่าฮอร์โมนน้อยแต่ความจริงตะกละ) ซึ่งเป็นส่วนของความจำปัจจุบัน (episodic memory) และในสัตว์ทดลองนั้น อาจมีความเกี่ยวข้องกับความมืด -สว่าง หรือเทียบกับกลางวันกลางคืนด้วย
กล่าวโดยรวมการมีสุขภาพดีสามารถควบคุมกระทำได้จากตัวเราเองทั้งนี้โดยที่ต้องมีการส่งเสริมให้มีความตระหนักรู้ในการปฏิบัติตัว การใช้ชีวิต ในเรื่องของอาหารการกินและร่วมใจกันส่งเสริมอากาศสะอาดอาหารปลอดภัย คนไทยจะอยู่รอดได้ด้วยบัตรทองก็ต่อเมื่อเราไม่ได้มีโรคเต็มขั้นรายล้อมและเต็มโรงพยาบาล จนกระทั่งไม่ว่าจะมีหมอพยาบาลเครื่องไม้เครื่องมือ นวัตกรรมสมัยใหม่ยามะเร็ง จนถึงยามุ่งเป้าเข็มละ 230,000 บาท ฉีดชุดละสี่เข็ม ยืดเยื้อชีวิตไปได้ครึ่งปีหรือหนึ่งปีก็คงไม่รอด ต้องคิดแก้ปัญหาที่ต้นเหตุไม่ใช่วิ่งตามปัญหาแล้วครับ