รบ.เดินหน้าคู่ขนานศึกษาการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ “ชนินทร์” เชื่อได้ข้อเสนอการทำประชามติต่อ ครม.ภายในสิ้นปี
นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวถึง ความคืบหน้าจากการประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ในวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาว่า การประชุมครั้งนี้เป็นเป็นการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่เป็นครั้งที่ 2 โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการ ทั้ง 2 คณะ โดยคณะกรรมการได้รับทราบผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ และได้มีมติร่วมกันที่จะดำเนินการต่อใน 2 เรื่อง ได้แก่
1. มอบหมายให้คณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ ดำเนินการจัดทำข้อเสนอ ในการแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พุทธศักราช 2564 เพื่อให้การทำประชามติเป็นเครื่องมือในการสอบถามความเห็นประชาชนที่ใช้งานได้จริง มีประสิทธิภาพและเป็นสากล รวมถึงพิจารณากำหนดประเด็นที่จะต้องแก้ไขในมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน เพื่อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
2. มอบหมายให้ประธานนำส่งประเด็นข้อสอบถามเกี่ยวกับดำเนินการทำประชามติ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการโดยตรงตามรัฐธรรมนูญ ตอบกลับมาอย่างเป็นทางการ เพราะข้อคิดเห็นจากเลขาธิการ กกต. ที่ได้หารือร่วมกันก่อนหน้านี้ อาจไม่สามารถพิจารณาเป็นความเห็นที่เป็นข้อยุติได้
นายชนินทร์กล่าวว่า ในส่วนการรายงานความคืบหน้าของคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ ได้พบความเห็นแตกต่างในหลากหลายประเด็นและได้บันทึกประเด็นทั้งหมดไว้ก่อน เนื่องด้วยคณะอนุกรรมการฯ ยังต้องรวบรวมความคิดเห็นเพิ่มเติมจากการลงพื้นที่อีก 2 ภาค คือการรับฟังกลุ่มความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่ภาคเหนือ และกลุ่มมุสลิมที่ภาคใต้ ตลอดจนรอความเห็นจากการทำแบบสอบถามจากสมาชิกรัฐสภาทั้ง 750 ท่านภายหลังการเปิดสมัยประชุมสภา เพื่อนำมาจัดทำข้อสรุปที่ครบถ้วน ในการรายงานที่ประชุมคณะกรรมการในการประชุมครั้งถัดไป
“กระบวนการเพื่อหาข้อสรุปในการทำประชามติของรัฐบาล มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก เพราะได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน แม้จะประสบความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย แต่ทุกฝ่ายก็ตั้งใจจะแสวงหาจุดร่วมที่ลงตัว เพื่อให้กระบวนการเดินต่อไปได้ ดังนั้นจึงเชื่อมั่นว่าภายในสิ้นปี 2566 คณะกรรมการจะสามารถจัดทำข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีได้สมบูรณ์ และได้เริ่มเดินหน้าการทำประชามติเพื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของพี่น้องประชาชนที่แท้จริงได้แน่นอน” นายชนินทร์กล่าว