เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่ศูนย์วิจัยสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมสูงเนิน คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา นายกฤษณธร เลิศสำโรง นายอำเภอสูงเนิน พร้อมนายจักรกริช นาควิโรจน์ หัวหน้าฝ่ายติดตามและวิเคราะห์เครื่องมือวัดพฤติกรรมเขื่อน กรมชลประทาน จัดการฝึกอบรมการซักซ้อมและถ่ายทอดการใช้แผนปฏิบัติการฉุกเฉิน โครงการจัดทำแผนปฏิบัติการกรณีฉุกเฉิน (EAP) เขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เขต 5 นครราชสีมา ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สถาบันการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชนและกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ท้ายเขื่อนลำตะคอง ร่วมกิจกรรมสร้างความรับรู้ทำความเข้าใจผลการศึกษาแผนการบริหารจัดการกรณีฉุกเฉินสำหรับชุมชน เพื่อนำข้อมูลประกอบการศึกษาให้มีความสอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ความเป็นจริง

นายจักรกริช เปิดเผยว่า ปี พ.ศ 2507-2512 กรมชลประทานได้สร้างเขื่อนลำตะคอง ที่ ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว มีพื้นที่กักเก็บน้ำ 314 ล้าน ลบ.เมตร เพื่อใช้ประโยชน์ในการดำรงชีพของพี่น้องประชาชนกว่า 5 แสนคน ในพื้นที่ 6 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ปากช่อง อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ อ.เมือง และ อ.เฉลิมพระเกียรติ รวมทั้งบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำลำตะคอง ลุ่มน้ำมูลให้ลดน้อยลง สถานการณ์ล่าสุด มีปริมาณน้ำ 193 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 61 %จองพื้นที่เก็บกัก 314 ล้าน ลบ.เมตร การใช้งานกว่า 50 ปี แม้ตัวเขื่อนมีความมั่นคงปลอดภัยและออกแบบก่อสร้างมาเป็นอย่างดีแล้วก็ตาม แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติต่างๆ รวมทั้งเพิ่มความจุพื้นที่เก็บกักให้ตัวเขื่อน 55 ล้าน ลบ.เมตร จึงมีข้อกังวลจากประชาชนประกอบกับอุทกภัยจากพิบัติของเขื่อนมีลักษณะเกิดขึ้นรวดเร็วกว่าอุทกภัยสาเหตุอื่นๆ อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินมากกว่าอุทกภัยสาเหตุปกติ จึงจำเป็นต้องจัดทำแผนปฏิบัติการกรณีฉุกเฉินสำหรับชุมชนจากการพิบัติของเขื่อนในกรณีต่างๆ รวมถึงกรณีเกิดอุทกภัยจากการระบายน้ำในปริมาณมาก เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงของประชาชนในพื้นที่ท้ายน้ำจำลองเหตุการณ์เขื่อนลำตะคองเกิดภัยพิบัติ ซึ่งมีการแจ้งเตือนภัยและเจ้าหน้าที่ทหาร ปภ.ฝ่ายปกครอง อาสาสมัครกู้ภัย ฯ ระดมสรรพกำลังอพยพประชาชนกว่า 200 คน ที่มีบ้านพักอาศัยในละแวกสองฝั่งเส้นทางลำตะคองไหลผ่าน เคลื่อนย้ายมาที่ศูนย์พักพิง โดยใช้เวลาซ้อมแผน 2 ชั่วโมง

​​​​​​​ ​​​​​​​ ​​​​​​​