วันที่ 24 พ.ย.2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 15.55 น. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ 2560 เปิดเผยว่า วันนี้มีการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ และรายงานความคืบหน้าให้ทราบแต่ละประเด็น โดยประเด็นแรก เป็นเรื่องคณะกรรมรับฟังความคิดเห็น ได้ดำเนินการมากพอสมควรแล้ว เหลือเพียง 2 ขั้นตอน คือ การไปรับฟังความคิดเห็นของภาคเหนือและภาคใต้ ซึ่งภาคเหนือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์และภาคใต้เป็นกลุ่มมุสลิม หากได้รับฟังตรงนี้จะถือว่าการรับฟังความคิดเห็นทุกภาคจะครบถ้วน อีกส่วนหนึ่งให้รอสภาฯ เปิด ซึ่งตนมีการพูดคุยกับทางรัฐสภาไว้แล้ว เพราะฉะนั้นรอฟังความคิดเห็นจากสส.และสว.
โดยได้เรียนเสนอเป็นแนวทางสรุปร่วมกันว่า ในคณะอนุกรรมการที่รับฟังความคิดเห็น ข้อคิดเห็นของอนุกรรมการ จากการรับฟังหลายเรื่องอาจจะเป็นไปได้ยากที่จะเห็นพ้องต้องกัน ในฐานะคณะทำงานติดตามและรับฟังทั้งหมดมา ทางเราจะสรุปความเห็นให้ชัดเจน ซึ่งเสียงที่แตกต่างกัน หรือเสียงที่มีความคิดเห็นในด้านอื่น ๆ มีความแตกต่างกัน จะทำการบันทึกเป็นข้อความคิดเห็นเช่นกัน เพื่อให้ที่ประชุมได้พิจารณา หรือคณะรัฐมนตรีที่ได้รับเรื่องราวดังกล่าวทราบถึงความแตกต่างทั้งหมด
นายภูมิธรรม กล่าวว่า ประเด็นที่สอง คณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ ทีมี นายวุฒิสาร ตันไชย เป็นประธานที่ได้ศึกษาว่า ทำประชามติกี่ครั้ง จะเลือกการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 หรือไม่ เพื่อแก้วิธีการ เป็นเรื่องที่มีความคิดเห็นแตกต่างอย่างมาก ในตอนนี้ได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการต่าง ๆ ให้ข้อกฎหมายเชื่อมโยงทุกอย่าง เพราะในกฎหมายที่เชื่อมโยงจะดำเนินการแก้ในกฎหมายประชามติ หากจะเข้าไปดำเนินการโดยยึดหลักเราจะทำให้กฎหมายประชามติสามารถเกิดประโยชน์ในการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยตามเสียงส่วนใหญ่อยากเห็น
โดยตนมองว่าประชามติควรใช้เป็นเครื่องมือให้เกิดรัฐธรรมนูญใหม่ และสามารถเป็นเครื่องมือที่ทันสมัยขึ้น สามารถพิจารณาครอบคลุมไปถึงการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งนำมาใช้ในการออกเสียงได้ นอกจากนี้จะต้องคำนึงถึงกฎหมายประชามติที่เปิดอำนาจในการทำให้กว้างขวางมากขึ้น เช่น สามารถทำร่วมกับการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้น ซึ่งไม่เคยมีความชัดเจนเกิดขึ้นในกฎหมาย โดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมการศึกษาเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน
นายภูมิธรรม กล่าวว่า ทั้งนี้เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีปัญหาเรื่องการตีความและองค์กรใดมีอำนาจในการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ หากไม่ชัดเจนศาลอาจจะไม่ตีความเช่นกัน ซึ่งอยากให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ตีความเรื่องนี้โดยปรึกษากับประธานรัฐสภาเพื่อใช้เป็นเงื่อนไข แต่เรื่องนี้อยู่นอกเหนือจากอำนาจที่อนุกรรมการได้ศึกษา แต่ได้มีการเสนอให้พรรคการเมืองที่อยู่ในที่ประชุมได้ปรึกษาหารือ หากขบวนการนี้เกิดขึ้นจะเป็นขบวนการที่สภาฯ เป็นผู้เสนอและตีความ และถ้ามีการขัดแย้งสามารถใช้อำนาจหน้าที่ในการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจในการตีความให้ชัดเจน โดยจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนภายในสิ้นปีนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากให้พรรคการเมืองเสนอศาลรัฐธรรมนูญตีความ ประเด็นใด นายภูมิธรรม กล่าวว่า เป็นประเด็นเรื่องความชัดเจนการทำประชามติและเรื่องกฎหมายประชามติ ต้องทำกี่อย่างไร และทำกี่ครั้ง และสามารถทำร่วมกับการเลือกตั้งได้หรือไม่ และใช้เทคโนโลยีในการทำประชาธิปไตย โดยการรับฟังเสียงต่าง ๆ สามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งเป็นการคุยในที่สภาฯ หากสภาฯ มีข้อสรุปที่ชัดเจนก็ไปต่อ แต่ถ้าเรื่องนี้ไม่ชัดเจนมีปัญหาและอุปสรรค สภาฯ จะทำหน้าที่ถามให้ศาลรัฐธรรมนูญมีความชัดเจนมากขึ้น หากจะทำรัฐธรรมนูญต้องถามผู้เป็นเจ้าของอำนาจประชาธิปไตยก่อน
เมื่อถามย้ำว่าศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าไม่ใช่องค์กรที่ให้คำปรึกษา จะรับพิจารณาในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่ได้คิดว่าเป็นที่ปรึกษา แต่หากที่ประชุมสภามีความขัดแย้ง สภาฯมีหน้าที่นำเสนอต่อศาลให้ตีความได้ เพื่อให้ได้ข้อยุติ
เมื่อถามว่าที่ประชุมมีข้อเสนอให้แก้กฏหมายประชามติหรือไม่ เนื่องจากมีกับดักสองชั้นเรื่องของเสียงของประชาชนที่จะมาลงประชามติ นายภูมิธรรม กล่าวว่า มีข้อสรุปให้ไปศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง ขณะที่นายนิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการฯเสนอว่า ยังมีกฎหมายที่สร้างความชัดเจนตรงนี้ได้ จึงมอบหมายให้คณะอนุกรรมการศึกษาไปพิจารณาด้วย เนื่องจากกฎหมายประชามติยังไม่เคยถูกนำมาใช้ จึงต้องไปศึกษาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เมื่อถามว่าการมีเงื่อนไขเพิ่ม หากต้องสอบถามศาลรัฐธรรมนูญ จะไม่กระทบกับไทม์ไลน์ที่วางไว้ ที่จะให้ได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้ ใช่หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ย้ำว่าคณะกรรมการฯมีความมุ่งมั่นจะทำให้เป็นไปตามไทม์ไลน์ที่ เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีบอกไว้ว่าทำไม่ได้ไม่มี มีแต่ทำอย่างไรจะทำให้ได้ ยืนยันว่ารัฐบาลตั้งใจจะทำให้สำเร็จ เพื่อให้เกิดประโยชน์ และประชาชนอยากได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย อยากได้บรรยากาศและกติกาใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆให้มากขึ้น แต่สุดท้ายหากเกิดปัญหาที่เป็นเรื่องจำเป็นและมีข้อจำกัดที่รับฟังได้ เชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจได้ แม้สังคมอาจจะเกิดความกังวลว่าเป็นการดึงเวลาให้เกิดความล่าช้า