สยามรัฐ ยึดมั่นอุดมการณ์ปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติศาสน์ กษัตริย์ ยืนหยัดรับใช้สังคมด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ ...*...
ฉับพลันที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ปีนี้ โดยสรุปได้ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)ขยายตัวร้อยละ 1.5 ชะลอลงจาก ร้อยละ 1.8 ในไตรมาสสอง และคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 2.5 ต่อเนื่องจากที่ขยายตัวได้ ร้อยละ 2.6 ในปีที่ผ่าน ส่วนปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 2.7-3.7 ก็บังเกิดเกิดวิวาทะขึ้นมาทันทีว่า จากข้อมูลดังกล่าวบ่งบอกถึงเศรษฐกิจบ้านเราอย่างไร ใช่วิกฤตหนักถึงขนาดต้องออกกฎหมายกู้เงินหลายแสนล้านบาทมากระตุ้นจริงหรือไม่ ...*...
โดยเฉพาะหลังนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์อธิบายว่าตั้งแต่หลังผ่านสถานการณ์โควิด-19 เศรษฐกิจไทยก็มีความผันผวนมาตลอดโดยเฉพาะจากปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเงินเฟ้อสูง ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวการที่คาด ตลอดจนปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ในขณะที่เศรษฐกิจภายในของไทยเองยังสามารถเติบโตได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค หรือการท่องเที่ยว โดยรวมแล้ว เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดี แต่หากจะให้ดีกว่านี้ ก็ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นภาคใหญ่ และมีความเกี่ยวข้องกับการส่งออก ...*...
ทว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลัง ดูเหมือนจะมองไปคนละทางกับเลขาฯสภาพัฒน์ เห็นได้จากสัมภาษณ์ที่ว่า“ได้คุยกันถึงตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมา 1.5 เปอร์เซ็นต์ คู่แข่งประเทศเพื่อนบ้านต่ำสุด 3.3 เปอร์เซ็นต์คือมาเลเซีย ส่วนประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของเราที่จะแย่งแหล่งทุนก็ 5 เปอร์เซ็นต์กว่าทั้งนั้น มากกว่า 2-3 เท่าด้วยในบางประเทศ แต่ก็เป็นเรื่องของการตีความว่า วิกฤติจำเป็นหรือเปล่า แต่สำหรับผมเห็นว่าจำเป็น และยังเป็นอย่างนั้นอยู่” ...*...
สำทับซ้ำจากคนในฟากรัฐบาล โดยนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และการเมืองพรรคเพื่อไทย และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีว่า การที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยตลอด 10 ปี เฉลี่ยเพียงปีละ 1.8 – 1.9% เท่านั้น ซึ่งต่ำมากและต่ำที่สุดในอาเซียน จนไทยถูกขนานนามจากสื่อต่างประเทศว่าเป็นคนป่วยของเอเซียตั้งแต่ก่อนจะเกิดวิกฤตการณ์ไวรัสโควิดเสียอีก และเป็นการยืนยันการอยู่ในภาวะกบต้ม เป็นตามทฤษฎีกบต้มที่ตนได้เคยเตือนไว้แล้วตั้งแต่ปี 2559 จึงจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเร่งแก้ไขเพื่อให้เศรษฐกิจไทยหลุดพ้นจากภาวะกบต้ม และพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า เพื่อให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและมีความสุข มิเช่นนั้นเศรษฐกิจไทยอาจจะซึมยาวได้ ...*...
กลับมาอีกด้านหนึ่งมีมุมมองจาก น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ได้ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ไม่มีใครเถียงว่าเศรษฐกิจไทยแย่ เศรษฐกิจไทยโตช้า และโตต่ำกว่าที่คาด ตนก็เห็นด้วย และพูดเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่คำถามที่คาใจใครหลาย ๆ คนในตอนนี้คือ สรุปแล้วเศรษฐกิจไทย “วิกฤติ” รึยัง? ...*...
ทั้งนี้ น.ส.ศิริกัญญาได้วิเคราะห์ข้อมูลจากสภาพัฒน์โดยสรุปว่า ปัญหาของเศรษฐกิจไทยเป็นเรื่องของการส่งออกที่หดตัวตามเศรษฐกิจโลก การลงทุนของรัฐที่หดตัวลง และการลงทุนภาคเอกชนที่ถึงแม้จะโตขึ้น แต่ก็ถือว่าโตน้อยเมื่อเทียบกับการเติบโตของปีก่อน ไม่ใช่ “วิกฤติเศรษฐกิจ” อย่างที่รัฐบาลพยายามประโคมข่าว และคำถามคือ เมื่อรัฐบาลมองเห็นปัญหาของเศรษฐกิจไทยผ่านข้อมูลเหล่านี้แล้ว จะยังคงฝืนกระตุ้นภาคการบริโภคผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอยู่หรือไม่ ทั้ง ๆ ที่ก็เห็นกันอยู่ว่าภาคการบริโภค โตกว่า 8% ...*...
ความเห็นต่างระหว่างฝ่ายค้านและอีกหลายๆ ภาคส่วนกับรัฐบาลไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ที่สุดแล้วคำตอบสุดท้ายจะมาจากศาลรัฐธรรมนูญว่าเศรษฐกิจไทยโคม่าถึงขั้นต้องออกกฎหมายกู้เงินหลายแสนล้านบาทมากระตุ้นหรือไม่ ...*...
และฟันธงไว้ล่วงหน้าได้เลย คำวินิจฉัยในเรื่องนี้จากศาลรัฐธรรมนูญ จะก่อให้เกิดผลสะเทือนทางการเมืองอย่างแน่นอน …*…
ที่มา:เจ้าพระยา (23/11/66)