นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยคืบหน้าโครงการพัฒนาทางเท้ากทม.รูปแบบใหม่ ว่า ปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการที่ถนนอุดมสุข เขตบางนา ฝั่งละ 4 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ประชาชนหนาแน่น โดยใช้วัสดุปูทางเท้าแผ่นกระเบื้องซีเมนต์ปูพื้น มีคุณสมบัติแข็งแรง ทนทาน ทดแทนการใช้บล็อกตัวหนอน ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และผ่านการใช้งานมากว่า 30 ปี มีการยุบตัวทำให้ทางเท้าไม่เรียบเสมอกัน โดยการปูกระเบื้องจะใช้ปูนทรายสำเร็จรูปปูบนพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก ก่อนวางกระเบื้องทางเท้าทับลงไป เพื่อรับน้ำหนักได้มากขึ้น ไม่ยุบตัว ปัญหาที่พบมากสุดจากการลงพื้นที่คือ ยังมีผู้ค้าหาบเร่แผงลอยอยู่บนทางเท้าถนนอุดมสุข ทำให้ทางเท้าไม่สะอาด มีการปล่อยของเสีย กีดขวางการสัญจร และการก่อสร้างรุกล้ำพื้นที่ทางเท้า รวมถึงรถมอเตอร์ไซค์ขึ้นมาบนทางเท้า เหล่านี้อาจทำให้อายุการใช้งานของทางเท้าที่ปรับปรุงใหม่สั้นลง มีการยุบตัวเพราะรับน้ำหนักมากเกินไป ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไข

นายชัชชาติ กล่าวว่า การพัฒนาทางเท้าเป็นเรื่องละเอียด เพราะคำนึงถึงผู้พิการและผู้ใช้รถวีลแชร์ จะต้องมีการปรับปรุงรอยต่อระหว่างทางเท้ากับถนนเข้าซอย/บ้าน/อาคาร/สำนักงาน ให้เรียบเสมอกันอย่างไร้รอยต่อทุกช่วงตลอดแนวทางเท้า ปรับปรุงฝาท่อต่าง ๆ ทั้งของกทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เรียบเสมอพื้น ลดอันตรายให้ผู้ใช้วีลแชร์ รวมถึงรื้อถอนสิ่งกีดขวางที่ไม่จำเป็น แต่ต้องรักษาต้นไม้ใหญ่ไว้ กทม.มีนโยบายห้ามตัด นอกจากนี้ โครงการพัฒนาทางเท้าจะขยายไปถึงถนนสายหลักต่าง ๆ ของกทม.ประมาณ 90 กิโลเมตร และจะมีการปรับปรุงทางเท้าในซอยย่อยกว่า 300 กิโลเมตร รวมถึง การพัฒนาทางเท้าเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าในรัศมี 1 กิโลเมตร ทั้ง 422 สถานีทั่วกรุงเทพฯ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนในช่วงการเดินทางระยะสุดท้าย ระหว่างที่พักอาศัยกับสถานีรถไฟฟ้า รวมระยะทางประมาณ 1,600 กิโลเมตร ซึ่งจะมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง