เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 มีการรวมพลังจากทุกภาคส่วน ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามหลักการสหประชาชาติ ทั้งนี้มีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานเปิดการประชุม UN Global Compact Network Thailand Forum (UNGCNT Forum) ประจำปี 2566 ที่สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย โดย นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย และประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ จัดขึ้นร่วมกับสหประชาชาติในประเทศไทย และนางกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ESCAP HALL ถ.ราชดำเนินนอก

โอกาสนี้ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น โดย นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์  หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร (รักษาการ) บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น หนึ่งในองค์กรสมาชิกผู้ก่อตั้งสมาคมฯ ได้เข้าร่วมประชุม พร้อมยืนยันเจตนารมณ์นำศักยภาพเทคโนโลยีดิจิทัลครบวงจรของทั้งทรูและดีแทค สนับสนุนการพัฒนาคนยุค 5.0 สู่สังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม อันสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะเทเลคอม-เทคคอมปานีไทยที่มุ่งสร้างโอกาสและเสริมศักยภาพด้าน “คน” ครอบคลุมทุกกลุ่ม ได้แก่ 

• เยาวชนไทย - ยกระดับการศึกษายุคดิจิทัล ลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมให้เด็กไทยมีโอกาสเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยตั้งเป้าหมายสร้างสังคมดิจิทัลสำหรับทุกคน (Digital Inclusion) ให้บรรลุ 36 ล้านคนภายในปี 2573 ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการทรูปลูกปัญญา เว็บไซต์และแอปพลิเคชันทรูปลูกปัญญา คลังความรู้ออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ รายการธรรมะเรียลลิตี้สามเณรปลูกปัญญาธรรม ที่มุ่งเน้นปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม โครงการ Safe Internet ส่งเสริมการใช้อินเทอร์เน็ตและบริการโทรคมนาคมอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย  ทรู คลิกไลฟ์ แพลตฟอร์มนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์แบบครบวงจร ตลอดจนเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี เดินหน้าภารกิจขับเคลื่อนการศึกษาไทย ให้ก้าวไกลอย่างมั่นคงและยั่งยืน

• สตาร์ทอัพ -  จัดให้มีโปรแกรมบ่มเพาะทรู อินคิวบ์ สร้างระบบนิเวศครบวงจรเพื่อส่งเสริมให้สตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีชาวไทย ได้สร้างธุรกิจด้านนวัตกรรมในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมเติบโตอย่างยั่งยืน

• พนักงาน –  ดูแลให้พนักงานทุกคนทำงานอย่างมีความสุข  รู้สึกมีส่วนร่วม เปิดเวทีให้แสดงศักยภาพบนพื้นฐานของวัฒนธรรมองค์กร 4C ที่แข็งแกร่ง อีกทั้งยังจัดอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะให้แก่พนักงาน ทั้งหลักสูตรของทรู ดิจิทัล อะคาเดมี และอีกหลากหลายแพลตฟอร์มการพัฒนาทักษะชั้นนำของโลก พร้อมส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมด้านความยั่งยืน 100% ตลอดจนนำนวัตกรรมมาใช้ในเทคโนโลยีการบริหารทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน สร้างคนให้พร้อมสู่การเป็นผู้นำและรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ทรานสฟอร์มสู่องค์กรดิจิทัลที่เติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้กลยุทธ์ “Future-Ready True, Future-Ready You”

• คู่ค้า – ส่งเสริมให้คู่ค้าทั้งหมดดำเนินธุรกิจตามแนวทางความยั่งยืน ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (ESG) โดยเฉพาะกลุ่มคู่ค้าหลัก และคู่ค้าที่มีความเสี่ยงสูงที่ต้องมีการตรวจประเมินด้านความยั่งยืนในสถานที่ปฏิบัติงาน โดยผู้ตรวจประเมินจากภายนอกเป็นประจำทุกปี เป็นไปตามเป้าหมาย 100% การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างรับผิดชอบ

• กลุ่มเปราะบาง – ส่งเสริมการจ้างงานผู้พิการ ตามมาตรา 33 และ 35 และร่วมกับ “มูลนิธิออทิสติกไทย” ยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มออทิสติก ด้วยการสร้างสรรค์ Autistic Application นวัตกรรมเพื่อฝึกทักษะ เสริมสร้างสมาธิ สติปัญญา และการสื่อสาร ให้แก่บุคคลออทิสติก พัฒนา STS (Screening Tools for Special Needs) แพลตฟอร์มการสำรวจ และคัดกรองเบื้องต้น เพื่อช่วยให้กลุ่มออทิสติก ได้มีโอกาสเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างทันท่วงทีและรับสิทธิพื้นฐานที่เท่าเทียม อีกทั้ง ยังจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมเพื่อการทำงานบุคคลออทิสติก (CP-TRUE-Autistic Thai Vocational Training Center) เพื่อฝึกอาชีพให้สามารถสร้างรายได้และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้น้องๆ จากมูลนิธิออทิสติกไทยฝึกอบรมการชงกาแฟ และก้าวเป็น “บาริสต้า” มืออาชีพ พร้อมได้รับการจ้างงานเป็นพนักงานในร้านทรูคอฟฟี่ ต่อเนื่องทุกปีถึงปัจจุบัน รวมทั้งเปิดพื้นที่ให้คนกลุ่มนี้ได้แสดงความสามารถด้านศิลปะ นำผลงาน Art Story by Autistic Thai ฝีมือน้องๆ จากมูลนิธิออทิสติกไทยมาจำหน่าย ณ ร้านทรูคอฟฟี่ ตลอดจนริเริ่มธนาคารชุมชนออทิสติก เพื่อส่งเสริมการออม สร้างเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนให้แก่สมาชิก และช่วยแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการส่งเสริมอาชีพอีกด้วย  

ทั้งนี้ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ร่วมเป็นหนึ่งใน 15 องค์กรสมาชิกผู้ก่อตั้งสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT: Global Compact Network Thailand) ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 โดยมีพันธกิจ คือ

• ดำเนินการเชิงยุทธศาสตร์ที่ช่วยผลักดันเป้าหมายของสังคมในวงกว้าง อาทิ เป้าหมายสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน (UN Sustainable Development Goals) โดยมุ่งเน้นการสร้างภาคีความร่วมมือและการพัฒนานวัตกรรม 

• ดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ ทั้งด้านการวางยุทธศาสตร์ และการปฏิบัติการที่สอดคล้องกับหลักสากล 10 ประการ ของ UN Global Compact ซึ่งครอบคลุม 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่ สิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน การปกป้องสิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริต