Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 35.25 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 35.20 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนอ่อนค่าลงเล็กน้อย (แกว่งตัวในช่วง 35.15-35.31 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นในช่วงแรก ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ อย่างไรก็ดี รายงานข้อมูลยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานสหรัฐฯ (Jobless Claims) ที่ออกมาดีกว่าคาด ได้หนุนให้ เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้ ราคาทองคำปรับตัวลดลง และกดดันให้ เงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 35.30 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนที่เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ตามการย่อตัวลงบ้างของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด อย่าง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยมหาวิทยามิชิแกน แม้ว่าข้อมูลดังกล่าวจะยังคงสะท้อนแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่ก็เป็นภาพที่ยังไม่น่ากังวล ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวแบบ Soft Landing และเฟดก็อาจจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว ซึ่งมุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดได้ช่วยหนุนให้ดัชนี S&P500 สามารถรีบาวด์ขึ้น +0.41%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.30% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ ASML +1.2%, SAP +1.2% ท่ามกลางความหวังว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปก็ถูกกดดันโดยแรงขายบรรดาหุ้นกลุ่มพลังงาน BP -2.2%, Shell -2.2% หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงแรง
ในฝั่งตลาดบอนด์ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้ง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน ที่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึง คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้นที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.5% สวนทางกับที่ตลาดประเมิน ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รีบาวด์ขึ้นต่อเนื่องทดสอบโซน 4.44% อีกครั้ง ก่อนที่จะย่อตัวลงบ้างและแกว่งตัวใกล้ระดับ 4.40% ตามแรงซื้อของผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่รอจังหวะในช่วงบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้น โดยการเคลื่อนไหวดังกล่าว ก็สอดคล้องกับการประเมินของเรา ที่มองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงที่อาจผันผวนสูงขึ้นได้บ้าง โดยเฉพาะในจังหวะที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อออกมาดีกว่าคาด ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดสามารถทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นได้
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้น หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังเชื่อมั่นในภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ Soft Landing และเฟดอาจจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว อย่างไรก็ดี การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ถูกจำกัดโดยแรงขายของผู้เล่นในตลาด หลังบรรยากาศในตลาดการเงินกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 103.9 จุด (กรอบ 103.6-104.2 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ บรรยากาศในตลาดการเงินที่พลิกกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น รวมถึงจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลดลงหลุดโซน 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ยังคงสามารถแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,990 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ หลังในช่วงท้ายตลาด เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ย่อตัวลงบ้าง
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจฝั่งยุโรป และแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB รวมถึง ECB โดยผู้เล่นในตลาดจะจับตา รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนพฤศจิกายน ของฝั่งยูโรโซนและอังกฤษ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างประเมินว่า เศรษฐกิจยูโรโซนและอังกฤษจะยังคงส่งสัญญาณชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ อาจยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 จุด สะท้อนถึงภาวะการหดตัวต่อเนื่องของทั้งภาคการผลิตและภาคการบริการ ซึ่ง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของทั้งอังกฤษและยูโรโซน ออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจกดดันให้เงินปอนด์ (GBP) รวมถึง เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงได้ หลังจากที่ทั้งสองสกุลเงินได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นพอสมควรในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานผลการประชุม ECB ล่าสุด เพื่อประกอบการประเมินทิศทางนโยบายการเงินของ ECB ซึ่งปัจจุบัน ผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า ECB ได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว และอาจลดดอกเบี้ยลงได้ราว -1% ในปีหน้า (เริ่มลดดอกเบี้ยในช่วงไตรมาสที่ 2)
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังคงแกว่งตัว sideway แต่ทว่า โมเมนตัมฝั่งอ่อนค่าก็เริ่มกลับมามีกำลังมากขึ้น ตามการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงการปรับตัวลงของราคาทองคำที่หนุนให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ขณะเดียวกัน การปรับตัวลงต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบในช่วงที่ผ่านมา ก็อาจเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าได้ จากโฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมันในจังหวะย่อตัวของผู้เล่นในตลาด อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทอาจยังคงจำกัดอยู่ในโซน 35.30 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า หากรายงานดัชนี PMI สหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ ออกมาดีกว่าคาด ก็อาจทำให้เงินดอลลาร์ พร้อมบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อ กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านแรก ไปทดสอบโซนแนวต้านสำคัญ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้
อนึ่ง ในวันนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของฝั่งยุโรป เพราะหากรายงานดัชนี PMI ของทั้งอังกฤษและยูโรโซน ออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจยิ่งกดดันให้ทั้งเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และเงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลง ซึ่งจะช่วยให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ไม่ยาก
ในช่วงนี้ ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.10-35.35 บาท/ดอลลาร์