ผศ.ชวลิต ขาวเขียว รักษาการแทนรองอธิการบดี ฝ่ายกิจการพิเศษ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงปัญหาในโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (Hi Speed) ตามความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-จีน ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา โดยยอมรับว่า โครงการฯ มีความล่าช่าไปมาก เพราะตามข้อเท็จจริงหลังจากผ่านรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และ รายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (HIA) แล้ว โครงการฯ จะต้องเดินหน้า เนื่องจากมีการลงนามในสัญญาไปแล้ว ไม่เช่นนั้นไทยจะเสียค่าปรับ แต่โครงการฯ ยังติดปัญหาที่สถานีอยุธยา ซึ่งมีความกังวลว่าโครงการฯ อาจจะกระทบกับแหล่งมรดกโลกภายในเกาะเมืองกว่า 1,800 ไร่ ทั้งที่รถไฟความเร็วสูงแล่นนอกเกาะเมือง หรือนอกเขตมรดกโลกที่ขึ้นทะเบียนกับยูเนสโก (UNESCO) แต่เนื่องจากอโยธยาเป็นเมืองประวัติศาสตร์สำคัญ จึงต้องไปพิจารณาว่าจะกระทบอะไรบ้าง
ผศ.ชวลิต กล่าวว่า ในฐานะนักวิชาการด้านโบราณคดีนั้น ในความเห็นส่วนตัวนั้น โครงการรถไฟความเร็วสูงสร้างได้ แต่ต้องดูเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่ ต้องศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน เช่น ก่อนจะสร้างจะต้องมีการขุดค้นโบราณคดี ลดขนาดความสูงของการก่อสร้างรถไฟฯ ให้ต่ำลงมา ไม่ให้ไปสูงข่มโบราณสถาน หรือออกแบบป้ายสถานีสวยๆ ไม่ไปเบียดบังทัศนียภาพ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยก็มีหลายโครงการที่เป็นประเด็นคาบเกี่ยวกับการอนุรักษ์ เช่น สถานีรถไฟฟ้าสนามไชย ที่แล่นผ่านเมืองเก่าของกรุงเทพมหานคร ก็มีการขุดย้ายโบราณคดี และนำไปไว้ในพิพิธภัณฑ์มิวเซียม สยาม หรือโครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่มีการขุดกู้แหล่งโบราณคดีก่อนที่จะจมน้ำ รวมถึงโครงการก่อสร้างตึกศิริราชปิยมหาราชการุณย์ ที่ขุดเจอเรือไม้โบราณ เจอกำแพงธนบุรี ก็ได้ยกเรือขึ้นไปทำเป็นพิพิธภัณฑ์ เหล่านี้เป็นตัวอย่างของการพัฒนากับการอนุรักษ์อยู่ด้วยกัน ดังนั้นจึงจะต้องมีการประเมินคุณค่าในพื้นที่ดังกล่าว
"มันมีคีย์ เวิร์ส ที่ว่า "ถอดถอนมรดกโลกอยุธยา" หลังจากยูเนสโกมีใบเหลืองเตือนไทยมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกเตือนเรื่องไม่ควบคุมพื้นที่ ปล่อยให้มีการสร้างตึกสูง บางโรงแรมสูงกว่ารถไฟความเร็วสูงด้วยซ้ำ ต่อมามีโครงการรถไฟความเร็วสูง เราก็เจอใบเหลืองซ้ำอีก ดังนั้นจะเห็นได้ว่าอยุธยาโดนเตือนมาแล้วก่อนหน้านี้ ไม่ใช่พอรถไฟความเร็วสูงมาแล้วโดน ส่วนตัวเห็นว่าอยุธยาขาดการดูแลมานานแล้ว พื้นที่อื่นๆ ของอยุธยาด้วยที่ถูกปล่อยปละละเลยให้สร้างนั่น สร้างนี่ได้จนเละเทะ แต่พอมีโครงการรถไฟความเร็วสูงเข้ามา จึงกลายเป็นตัวเร่งทำให้คนตื่นตระหนกว่าทำไมต้องมาสร้างที่นี่" ผศ. ชวลิต กล่าวและว่า ตนเห็นด้วยกับการก่อสร้าง แต่ต้องสร้างแบบให้ทั้งสองส่วนอยู่ด้วยกันได้ อาจจะสร้างสถานีแบบสวยๆ ป้ายสถานีสวยๆ ซึ่งจะกลายเป็นตัวหนุนแหล่งท่องเที่ยวได้ด้วย
นักวิชาการด้านโบราณคดี กล่าวถึงทางออกของเรื่องนี้ว่า มี 2 แนวทาง คือ หากประเมินแล้วว่าสิ่งที่อาจจะไปกระทบเป็นสิ่งสำคัญและมีสิ่งเดียวในโลก ก็ต้องยุติการก่อสร้าง แต่หากชั่งน้ำหนักแล้วว่าประชาชนต้องการให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ ก็จะต้องไปพิจารณาผลกระทบในด้านต่างๆ ก่อนดำเนินการแก้ไข พร้อมมองว่า ปัจจุบันคนยังเข้าใจผิดระหว่างคำว่า "การพัฒนา" กับ "การอนุรักษ์" ว่าสองคำนี้ขัดแย้งกัน แต่ความจริงเป็นเรื่องที่ไปด้วยกันได้ เพราะคำว่า "อนุรักษ์" ไม่ใช่การถอยหลัง แต่เป็นคำที่ทำให้การพัฒนากับการเก็บรักษาไว้มีความสมดุลกัน ซึ่งต่างชาติ ทั้งญี่ปุ่น จีน เกาหลี ก็ทำ แต่ปัจจุบันกรมศิลปากรก็พยายามทำเรื่องอาสาสมัครและเครือข่ายในการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นเยอะ