"วราวุธ" ชี้ขอทานจีนเอี่ยวขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ ขอปชช.ช่วยเป็นหูเป็นตาแจ้งเบาะแส ดีเอสไอจ่อตั้งทีมสืบสวนขบวนการขอทานชาวจีนเกลื่อนกรุง  เร่งประสานขอข้อมูลคำให้การเหยื่อ พร้อมลงพื้นที่หาพยานหลักฐาน  ก่อนขอศาลฯออกหมายจับนายหน้า ผู้นำพา

     ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 21 พ.ย.66 นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีขบวนการขอทานชาวจีน  ว่า ข่าวที่มีขอทานชาวจีนได้มีการพบเห็นหลายที่ คาดว่าที่ผ่านมาอาจจะเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ ซึ่งขณะนี้ทางกระทรวงได้ประสานกับทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่าหากเป็นกรณีของคนไทยเรื่องก็จะลดความซับซ้อนลง เพราะผิดกฎหมายเรื่องขอทานอยู่แล้ว และทางกระทรวงก็สามารถดูแลได้ แต่กรณีนี้เป็นชาวต่างชาติก็จะมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น ซึ่งเท่าที่ทราบขอทานรายที่พบเมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา เดินทางเข้ามาด้วยพาสปอร์ตที่หมดอายุแล้ว เป็นการเดินทางเข้าประเทศโดยไม่ถูกต้อง ก็จะมีกฎหมายฉบับอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องการตรวจคนเข้าเมือง 
   

 การขอทานเป็นเรื่องผิดกฎหมายในประเทศไทยทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือการขอทานมีกฎหมายหลายฉบับเกี่ยวข้องอยู่ และที่สำคัญ เรื่องการค้ามนุษย์ที่ประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ได้ประชุมกับคณะอนุกรรมการและติดตามอยู่เสมอ ไม่ว่าในส่วนกระทรวงแรงงาน เจ้าหน้าที่ตำรวจ และกระทรวง พม. เอง เราดำเนินการอย่างเข้มงวด ดังนั้นประเด็นการค้ามนุษย์จะต้องมีการสืบสวนต่อไปว่าในแต่ละกรณีที่เจอและมีความใกล้เคียงกัน ก็ต้องให้เจ้าหน้าที่สอบสวนเพิ่มเติมว่าเกี่ยวข้องและเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการค้ามนุษย์อย่างไรหรือไม่ ขอเรียนประชาชนผ่านสื่อมวลชนว่าหากใครพบกรณีการขอทานที่ใดก็แล้วแต่ ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่
   

 เมื่อถามว่า เป็นเรื่องน่ากังวลหรือไม่ถ้าประเทศไทยถูกจัดลำดับการค้ามนุษย์แบบขึ้นๆ ลงๆ นายวราวุธ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในขั้นตอนรวบรวมทำรายงาน Tip Report หรือการส่งรายงานเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ให้กับหน่วยงานต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง คาดว่าปลายปีนี้จะแล้วเสร็จและภายในเดือนม.ค.67 จะส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาต่อไป 
   

 วันเดียวกัน  พ.ต.ต.สิริวิชญ์ ชาญเตชะสิทธิ์กุล ผอ.กองคดีการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า ภายหลังจากได้รับเรื่องร้องเรียน ขั้นตอนถัดไปก็จะต้องขอการอนุมัติตั้งเลขสืบสวนคดีพิเศษจากอธิบดีดีเอสไอ เพื่อสืบสวนดูว่าพฤติการณ์และลักษณะดังกล่าวทั้งหมดเข้าข่ายเป็นการค้ามนุษย์หรือไม่ และเพื่อพิจารณาความผิด หากเป็นการค้ามนุษย์ กองคดีฯ ก็จะมีลักษณะหรือเกณฑ์ที่จะประเมินรับเป็นคดีพิเศษได้ ซึ่งระหว่างนี้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษก็จะต้องสืบค้นหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมก่อน โดยการประสานข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ อาทิ สน.บางพลัด สน.บางรัก สน.ลุมพินี เป็นต้น เพื่อขอหลักฐานจากเจ้าหน้าที่ที่ได้รวบรวมไว้แล้ว เช่น บันทึกการซักถาม การสัมภาษณ์ต่างๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่ของเราอาจจะต้องลงพื้นที่เพื่อไปสัมภาษณ์เหยื่อโดยตรงด้วย
   

 สำหรับการดำเนินการในเบื้องต้นนั้น เราได้มีการประสานขอข้อมูลไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางรัก เรียบร้อยแล้ว พร้อมกับจะดำเนินการสอบถามไปยังสน.อื่นๆต่อไป หลังจากนี้ เราจะต้องมีการตั้งเลขสืบสวนควบคู่ไปกับการสืบค้นหาข้อมูลต่างๆ เพราะเหตุที่เกิดขึ้นมันมีบุคคลที่ทำการขอทานจริงและมีจำนวนหลายราย ทั้งกลุ่มบุคคลเหล่านี้ที่ทำการขอทานยังมีพฤติการณ์ในลักษณะคล้ายกัน รวมถึงยังมีกลุ่มบุคคลที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือเรียกว่านายหน้า หรือผู้นำพาเป็นธุระจัดหาที่อาจใช้พิจารณาได้ว่าเป็นผู้บังคับให้มีการขอทานเกิดขึ้นหรือไม่ และถึงแม้ว่าเหยื่อจะไม่กล้าหรือยินยอมในการให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ แต่โดยหลักการแล้วเราจะใช้กระบวนการตรวจสอบการค้ามนุษย์เข้าไปพูดคุยกับเหยื่อ เพื่อทำให้เหยื่อเปิดใจและพร้อมให้ข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์
     

พ.ต.ต.สิริวิชญ์ กล่าวว่า หากมีการพิสูจน์ตรวจสอบแล้วพบว่าผู้ทำการขอทานเป็นเหยื่อจริงก็จะต้องได้รับการคุ้มครอง และจะต้องได้รับการช่วยเหลือ จนถึงขั้นตอนการส่งกลับไปยังภูมิลำเนาหรือประเทศต้นทางของบุคคลนั้นๆ ส่วนกรณีของผู้ต้องหา หรือผู้ที่รับหน้าที่เป็นธุระจัดหา ก็จะต้องถูกดำเนินการเอาผิดทางอาญาฐานความผิด การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ โดยการนำคนมาขอทาน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี คณะพนักงานสอบสวนจะรวบรวมพยานหลักฐานทุกรายการเพื่อขอศาลออกหมายจับ