ทางรอด เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงขาวแปดริ้วที่ต้องพึ่งพาตนเองแนะ ทำทุกด้านให้ได้ประโยชน์แบบผสมผสานเกิดเป็นความหลากหลายทางอาชีพ จากกระบวนการเลี้ยงในทุกขั้นตอน ชี้เป็นการช่วยลดต้นทุนเพิ่มพูนผลผลิต จากการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เผยทำเลี้ยงชีพมานานไม่เคยขาดทุนแม้จะเกิดปัญหาด้านต้นทุนการผลิตที่ขยับพุ่งสูงสวนทางราคาปลาที่ดิ่งลงล้นตลาด หลังมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ ตัดราคาขายปลาในเมืองไทย
วันที่ 21 พ.ย.66 เวลา 12.30 น. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายนิพิฐพนธ์ นาคสมบูรณ์ อายุ 64 ปี อยู่บ้านเลขที่ 17 ม.8 ต.บางกะไห อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงขาวบ่อดินว่า จากปัญหาปลากะพงขาวมีราคาตกต่ำอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน (เว้นช่วงโควิด 19 ระบาด) หลังจากมีการนำปลากะพงราคาถูกเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย จึงเป็นการตีตลาดขายตัดราคาปลาในประเทศไทยให้เหลือเพียง กก.ละ 70 บาท
จนทำให้เกษตรกรในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงปลากะพงจำนวนมากในลำดับต้นๆของประเทศถึงเกือบ 3 พันรายได้รับผลกระทบ รวมถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงทั่วประเทศด้วย ที่กำลังประสบปัญหาการขาดทุนจากต้นทุนการผลิตภายในประเทศ ทั้งอาหารปลาสำเร็จรูป และพลังงานไฟฟ้าที่แพงสูงกว่าในประเทศเพื่อนบ้านว่า ที่บ่อเลี้ยงปลาของตนนั้นยังไม่เคยขาดทุน แม้ต้นทุนปัจจัยรอบด้านจะเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม
เนื่องจากตนเองใช้วิธีการเลี้ยงปลาแบบผสมผสาน จากการใช้ระบบหมุนเวียนน้ำจากบ่อเลี้ยงปลากะพงถ่ายเข้าไปสู่แปลงนาข้าว และนำน้ำจากนาข้าวเวียนเข้าไปเก็บไว้ในบ่อพักน้ำ ก่อนที่จะเวียนนำกลับเข้าไปยังในบ่อเลี้ยงปลากะพงอีกครั้ง จึงเป็นการถ่ายเทน้ำหมุนเวียนน้ำออกจากบ่อปลา ทำให้น้ำในบ่อเลี้ยงปลามีคุณภาพดีตลอดเวลา และช่วยทำให้ปลาโตเร็วใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงสั้นลง ปลาไม่ป่วยเป็นโรคได้ง่าย
จึงเป็นการลดต้นทุนค่าอาหารค่าเคมีบำบัดน้ำในการเลี้ยงปลาให้น้อยลง อีกทั้งยังได้ผลผลิตในนาข้าวดีขึ้นมากด้วย โดยนาปังรอบที่แล้วตนทำได้มากถึง 125 ถังต่อไร่ มาในครั้งนี้ที่เพิ่งเก็บเกี่ยวข้าวไปได้ 106 ถังต่อไร่ ขายได้ราคาตันละ 10,800 บาทจากนาข้าว 18 ไร่ และมีบ่อพักน้ำ 2 ไร่ มีบ่อปลากะพง 3 บ่อบนเนื้อที่ทั้งหมด 35 ไร่ จากที่มีการคาดการณ์ไว้ว่าในปีนี้จะแล้งยาวนานจากปรากฎการณ์เอลนีโญนั้น ตนยังเชื่อว่าพื้นที่ของตนจะยังคงมีน้ำสำหรับหล่อเลี้ยงนาข้าวต่อไปได้ โดยใช้น้ำจากบ่อเลี้ยงปลากะพง และบ่อพักน้ำที่มีอยู่
หากเราทำนาเพียงด้านเดียวเราจะเสียน้ำทิ้งไปเมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยว จึงอยากแนะนำเกษตรกรรายอื่นๆ ให้มีการจัดสรรพื้นที่ไว้สำหรับทำเป็นบ่อเก็บพักน้ำและมีบ่อเลี้ยงปลา โดยตนแบ่งบ่อเลี้ยงปลาไว้จำนวน 3 บ่อเนื้อที่รวมประมาณ 6 ไร่ ใช้เป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับทำนาได้อีกทางหนึ่ง และยังทำให้มีพื้นที่สำหรับหมุนเวียนน้ำ โดยหลังจากนี้ในช่วงเดือน ม.ค.ของทุกปีน้ำในคลองสาธารณะจะแห้งลง ทำให้ไม่มีน้ำจากภายนอกเข้ามาเติมได้อีกตลอดทั้งฤดูแล้ง แต่เมื่อเรามีบ่อพักน้ำ และมีแปลงนาสำหรับบำบัดน้ำ
จึงเป็นการนำเอาสารอาหารสารอินทรีย์ และแพลงตอนจากบ่อเลี้ยงปลา ถ่ายเวียนขึ้นไปเป็นปุ๋ยให้กับนาข้าวและยังเป็นการบำบัดน้ำจากบ่อเลี้ยงปลาไปในตัว จากการนำน้ำขึ้นไปตากแดดในแปลงนาเพื่อฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ทั้งยังทำให้นาข้าวงอกงามดีลดการใช้ปุ๋ยใส่นาข้าวลง เป็นการประหยัดต้นทุนในนาข้าวไปในตัว จากประสบการณ์ที่ผ่านมาการทำนาข้าวด้วยวิธีผสมผสานกับบ่อเลี้ยงปลากะพงลักษณะนี้ ได้ผลผลิตในแปลงนาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงได้ข้าวมากถึง 125 ถังต่อไร่ ซึ่งหากชาวนาทำนาได้ข้าวมากเกินกว่า 100 ถังต่อไร่ขึ้นไปแล้วนั้น ถือว่าประสบผลสำเร็จได้ผลผลิตดีมีกำไร อีกทั้งในช่วงเวลานี้ข้าวยังขายได้ราคาดีกว่าในทุกปีที่ผ่านมาด้วย
สำหรับเทคนิคการเลือกช่วงเวลาในการเลี้ยงปลา ถือว่ามีส่วนสำคัญหากจะเลี้ยงปลาให้ขายได้ราคาสูงๆ ต้องเลือกลงลูกปลาเลี้ยงในช่วงนี้ คือ พ.ย. -ธ.ค. เพราะเป็นช่วงที่ผู้เลี้ยงปลากะพงบ่อดินส่วนใหญ่จะขาดน้ำในการเลี้ยงช่วงฤดูแล้ง ทำให้ไม่มีคนเลี้ยงหรือเลี้ยงกันน้อยลง โดยปลาจะไปจับขายได้ในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. ซึ่งช่วงนั้นจะมีปลาในตลาดไม่มากนัก เนื่องจากผ่านฤดูแล้ง จึงทำให้สามารถขายปลาได้ราคาดีมากและไม่ขาดทุน เพราะการเลี้ยงปลากะพงนั้นจะใช้ต้นทุนสูงมาก โดยเฉพาะต้นทุนด้านอาหารและพลังงานซึ่งมีราคาค่อนข้างแพง
จากการที่เราสามารถหมุนเวียนน้ำได้ โดยการนำน้ำจากบ่อปลาถ่ายออกไปยังในนาข้าว เมื่อเลี้ยงปลามาได้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ซึ่งจะเป็นช่วงที่มีเศษมูลปลามากจนเกิดแพลงตอนในปริมาณมากในน้ำจนเป็นสีเขียว น้ำจะเริ่มหนืดปลาจะไม่สบายตัว แต่เมื่อเราถ่ายเวียนเอาน้ำออกไป และมีน้ำใหม่เข้ามาแทน จะทำให้ปลาไม่เครียดกินอาหารดี เจริญเติบโตได้ดี จากการหมุนเวียนน้ำลักษณะนี้
เมื่อนำน้ำไปใช้ในนาข้าวแล้ว หรือบำบัดเสร็จแล้วจึงปล่อยน้ำลงมาเก็บไว้ในบ่อพักน้ำ ส่วนน้ำที่เก็บไว้ในบ่อพักน้ำช่วงก่อนหน้าจะถูกสูบนำขึ้นไปใช้ในบ่อเลี้ยงปลากะพงแบบหมุนเวียนกันไป อีกทั้งในบ่อพักน้ำยังมีการปล่อยปลาเบญจพรรณเอาไว้ด้วย โดยเฉพาะปลากินพืชเพื่อไม่ให้บ่อรกร้างถูกหญ้าปกคลุม และยังได้ประโยชน์อีกต่อหนึ่ง เมื่อเราจับปลาขายทำเงินได้อีกหลายหมื่นบาทในบ่อพักน้ำในแต่ละปี
นอกจากนี้บริเวณขอบบ่อพักน้ำยังปลูกพืชผักอื่นๆ ไว้ได้อีกหลายชนิด เช่น กระถิน สะเดา มะม่วงหิมพานต์ ที่สามารถเก็บยอดขายได้ รวมถึงพริกและผักสวนครัวอื่นๆ จึงทำให้การทำเกษตรแบบผสมผสานตามรอยพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 นั้น มีรายได้เข้ามาตลอดทั้งปี และทำให้ผลกระทบจากการนำเข้าปลากะพงมาจากมาเลเซียนั้นมีไม่มากนักสำหรับตน แต่ก็ถือเป็นการกดราคาปลาของผู้เลี้ยงในประเทศไทยลง ทำให้มีผลกำไรน้อยลงหรือได้แค่เสมอตัว
ในส่วนของตนนั้นต้นทุนในการเลี้ยงปลากะพงขาวต่อ กก.ไม่เกิน 80 บาท แต่หากเกษตรกรรายอื่นๆ ที่ไม่ได้ทำเกษตรผสมผสานแบบตนนั้น ย่อมขาดทุนอย่างแน่นอนเนื่องจากหากเป็นการลงทุนเชิงเดี่ยว หรือเลี้ยงปลากะพงเพียงอย่างเดียวนั้น จะทำให้มีต้นทุนในการเลี้ยงสูงมากเกินกว่าราคาปลาที่จะขายได้ โดยต้นทุนเฉลี่ยของเกษตรกรทั่วไปนั้นประมาณ 85-90 บาทต่อ กก. อันนี้จะขึ้นอยู่กับแต่ละบ่อและวิธีการเลี้ยงของเกษตรกรแต่ละราย เช่น ค่าอาหาร พลังงาน เคมีเกษตรที่ใช้ และลูกพันธุ์ปลา ซึ่งหากได้ลูกพันธุ์ปลามาโตไม่ดีก็จะขาดทุนมาก เพราะปลาจะกินอาหารมากแต่ไม่โต จึงทำให้บางรายอาจมีต้นทุนสูงถึงกว่า 90 บาทต่อ กก. แต่ราคาปลาที่จะขายได้นั้น เพียง 70-80 บาทถือว่าขาดทุน