ตลาดหลักทรัพย์ฯขู่ฟันวินัยโบรกเกอร์ไม่ส่งหลักฐานมีหุ้นใน 15 วันจะถือเป็น Naked Short-ไม่จำเป็นใช้ Uptick
นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานกฎหมาย และหัวหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กรและกำกับองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯได้ออก 3 มาตรการเพิ่มเติมในการกำกับดูแลโปรแกรมเทรดดิ้ง และการทำชอร์ตเซลโดยไม่มีหุ้นในมือ (Naked Short Sell) ประกอบด้วย 1.เพิ่มความเข้มงวดการส่งหลักฐานของโบรกเกอร์เพื่อแสดงการมีหุ้นในครอบครอง ก่อนส่งคำสั่งขายภายใน 15 วัน หากไม่สามารถส่งได้ทันตามกำหนดจะถือว่าเข้าข่ายเป็นการทำชอร์ตเซลโดยไม่มีหุ้นในมือ (Naked Short Sell) ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ จะลงโทษทางวินัยกับโบรกเกอร์ เพื่อให้มั่นใจว่าโบรกเกอร์ปฏิบัติตามเกณฑ์การขายชอร์ตจากเดิมที่ไม่ได้กำหนดจำนวนวัน เพียงให้มีการส่งหลักฐานมาพิสูจน์ว่าลูกค้ามีหุ้นในความครอบครองแค่ไหน อย่างไร ที่ผ่านมาจะพบปัญหาในการเข้าไปตรวจสอบ และใช้เวลาค่อนข้างนานในการตรวจสอบ
2. ทบทวนความเท่าเทียมกันในการซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างคนที่ทำการซื้อขายผ่านโปรแกรมเทรดดิ้ง กับคนที่ไม่ได้ใช้โปรแกรมเทรดดิ้ง และจำแนกตามประเภทของนักลงทุน โดยจะศึกษาเกณฑ์ของต่างประเทศว่ามีมาตรการเรื่องนี้อย่างไร เพื่อนำมาดูว่าจะทำอะไรเพิ่มเติมได้อีก เพื่อดูแลส่วนนี้ให้ดีขึ้น
3. ตั้งคณะทำงานพิเศษ ที่ให้เข้ามาช่วยตรวจสอบและเสนอแนะต่อกระบวนการทำงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการกำกับดูแล Naked Short Sell และโปรแกรมเทรดดิ้ง โดยคณะทำงานพิเศษดังกล่าว ประกอบด้วย ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ผู้แทนจาก ตลท.และอยู่ระหว่างทาบทามผู้แทนจากตลาดหลักทรัพย์แนสแด็ก (NASDAQ) และตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้ (KRX)
สำหรับสิ่งที่ทำไปแล้วคือ 1.การประสานความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการตรวจสอบรายการชอร์ตเซล และ Naked Short Sell และดูระบบการตรวจสอบที่ควรจะทำต่อไป 2.ส่งหนังสือเวียนไปยังโบรกเกอร์และคัสโตเดียน เพื่อให้ช่วยกำกับดูแลการซื้อขายแบบชอร์ตให้เป็นไปตามเกณฑ์ เพราะคัสโตเดียนจะเกี่ยวข้องกับนักลงทุนต่างประเทศในฐานะผู้รับฝากหลักทรัพย์ จึงเน้นย้ำให้ช่วยกันตรวจสอบสอดส่องว่าในการขายชอร์ตต้องมีหุ้นในครอบครอง 3.ประสานความร่วมมือกับสำนักงาน ก.ล.ต.ในการยกระดับการตรวจสอบบัญชีลูกค้า Omnibus Account (บัญชีที่ไม่ทราบตัวลูกค้า)
ทั้งนี้สิ่งที่ทำไปทั้งหมดเพื่อสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อกระบวนการตรวจสอบการทำโปรแกรมเทรดดิ้งและเน็คช็อตเซลให้เกิดความชัดเจนและยุติธรรมกับทุกฝ่าย สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ดำเนินการไปแล้ว คือการส่งหนังสือเวียนกำชับไปยังโบรกเกอร์ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความร่วมมือในการตรวจสอบธุรกรรมชอร์ตเซล พร้อมประสานกับสำนักงาน ก.ล.ต. ตรวจสอบบัญชีซื้อขายร่วมที่มีหลายคนเทรดเพื่อหาผู้มีอำนาจสั่งการตัวจริงในการทำชอร์ตเซล พร้อมเตรียมตั้งคณะทำงานชุดพิเศษ ประกอบด้วยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อทบทวนความเท่าเทียมเป็นธรรมของผู้ใช้โปรแกรมเทรด และไม่ได้ใช้ให้เป็นไปตามหลักสากล
ส่วนข้อแนะนำของสำนักงาน ก.ล.ต.ให้คณะกรรรมการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ พิจารณาความเหมาะสมในการกำหนดราคาทำชอร์ตเซลด้วยราคาสูงกว่าราคาครั้งสุดท้าย (Uptick Rule) เพื่อไม่ให้เกิดการดัมพ์ราคานั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้หารือกันแล้วเห็นว่า ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องนำมาใช้ เพราะตลาดหุ้นไทยเปลี่ยนแปลงไปตามเทรนด์โลกไม่ได้เกิดจากความผิดปกติ แต่ไม่ได้ปิดโอกาสการนำมาใช้หากพบสถานการณ์ที่ไม่ปกติที่มีผลกระทบต่อการซื้อขายก็พร้อมจะดำเนินการทันที
#ตลาดหลักทรัพย์ #ชอร์ตเซล #โบรกเกอร์ #SET #หุ้น