สมาคมประกันชีวิตไทย เตือนผู้เอาประกันภัยที่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันชีวิตตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร ต้องแจ้งความประสงค์ที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีและให้ความยินยอม (Consent) แก่บริษัทประกันชีวิตนำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร โดยขอให้ผู้เอาประกันภัยแจ้งความประสงค์และให้ความยินยอมนำส่งข้อมูลของทุกกรมธรรม์เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษี และไม่ควรยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิตก่อนเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด เนื่องจากจะทำให้ผู้เอาประกันภัยเสียสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งรวมถึงจะต้องเสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมของปีภาษีที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นเบี้ยประกันชีวิตไปแล้ว พร้อมเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินภาษีที่ต้องจ่าย


นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า จากการที่ภาครัฐหรือกรมสรรพากรได้ให้ความสำคัญกับการออมเงินและการวางแผนทางการเงินของประชาชนในระยะยาว เพื่อสร้างความมั่นคงให้ชีวิตและครอบครัว โดยจะมีการให้สิทธิลดหย่อนภาษีแก่ผู้มีเงินได้ที่มีกรมธรรม์ประกันชีวิตกับบริษัทประกันในประเทศไทย
ที่ได้กำหนดให้กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป หากมีการจ่ายเงินคืนระหว่างสัญญา เงินคืนที่ได้รับจะต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี และสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตที่ชำระดังกล่าวมาลดหย่อนภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท และสำหรับผู้มีเงินได้ที่มีประกันภัยสุขภาพสามารถนำเบี้ยที่ชำระแล้วมาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงได้แต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้วจะต้องไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนผู้ที่มีประกันชีวิตแบบบำนาญสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตที่ชำระแล้วไปลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยทั้งนี้เงินลดหย่อนภาษีดังกล่าวเมื่อรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่มีประกันภัยสุขภาพของบิดามารดา สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าบิดามารดาของผู้มีเงินได้ จะต้องมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษี ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี 

สำหรับผู้เอาประกันภัยที่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีไปแล้ว หากมีการยกเลิกหรือเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิต ประกันภัยสุขภาพ หรือประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่ใช้ลดหย่อนภาษีก่อนเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด จะถือว่าไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย ผู้เอาประกันภัยจะต้องเสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมของปีภาษีที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นเบี้ยประกันชีวิตไปแล้ว รวมถึงเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินภาษีที่ต้องจ่ายให้กับกรมสรรพากร 
             

นอกจากนี้ผู้เอาประกันภัยที่ประสงค์จะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ควรแจ้งความประสงค์และให้ความยินยอม (consent) แก่บริษัทประกันชีวิตเพื่อนำส่งข้อมูลการชำระเบี้ยประกันชีวิตให้กับกรมสรรพากรตามแนวทางที่กรมสรรพากรกำหนด เพราะไม่เช่นนั้น ผู้เอาประกันภัยจะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันชีวิตของกรมธรรม์นั้นได้ กรณีผู้ที่มีกรมธรรม์หลายฉบับ แต่ไม่ได้ให้ความยินยอม (consent) ทุกฉบับ หากมีการยกเลิกกรมธรรม์ฉบับที่แจ้งไว้กับกรมสรรพากร จะทำให้ผู้เอาประกันภัยเสียสิทธิการลดหย่อนภาษี และจะต้องคืนเงินภาษีที่ลดหย่อนได้บนกรมธรรม์ที่ไม่ได้ให้ความยินยอม (Consent) รวมถึงผู้เอาประกันภัยอาจเกิดความยุ่งยากและความไม่เข้าใจเมื่อต้องนำส่งเอกสารเพิ่มเติมให้กับกรมสรรพากร เพื่อรักษาสิทธิการลดหย่อนภาษีดังกล่าวไว้ 

นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในโอกาสนี้ จึงขอย้ำเตือนประชาชนทุกท่านว่า ก่อนยกเลิกหรือเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิต ควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนว่าจะเสียสิทธิประโยชน์อะไรไปบ้าง หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บริษัทประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองตามแต่ละกรมธรรม์ อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเป็นเพียงผลประโยชน์เพิ่มเติมเท่านั้น เพราะจุดเริ่มต้นของการมีประกันชีวิตคือเรื่องความคุ้มครองและบริหารความเสี่ยงเป็นหลักสำคัญ