วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.00 น. ณ ถนนทางหลวงหมายเลข 309 บริเวณหน้าวิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง นายพิริยะ  ฉันทดิลก  ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง  มอบหมายให้นางสาวเอกรัตน์  นาคาคง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เป็นประธานในการจัดกิจกรรมรณรงค์ “ยานพาหนะทุกคันหยุดตรงทางม้าลาย คนเดินเท้าใช้ทางม้าลายและทางข้ามทุกครั้ง” และการรณรงค์สวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์  พร้อมด้วยนายศักดิ์ดา บรรดาศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ปลัดจังหวัดอ่างทอง หัวหน้าสำนักงานจังหวัดอ่างทอง หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอเมืองอ่างทอง นักเรียน ประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนักแสดงโขนทั้งพระราม พระลักษมณ์ ยักษ์ และลิง ตัวแสดงในเรื่อง รามเกียรติ์ นำทีมข้ามทางม้าลาย สร้างสีสันให้กับประชาชนที่ผ่านไปมาเข้าร่วมกิจกรรม

โดยมีนายบรรจง โพธิวงค์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอ่างทอง กล่าวรายงานการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างกระแสการรับรู้ให้ประชาชน นักเรียน นักท่องเที่ยว และผู้ใช้รถใช้ถนน ได้ตระหนักถึงความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน รวมทั้งเป็นการแสดงพลังเชิงสัญลักษณ์ถึงความพร้อมของทุกหน่วยงานภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง      

         

สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ประกอบด้วย การมอบนโยบายการปฏิบัติในการป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางถนน การมอบหมวกนิรภัยให้กับนักเรียน การเดินข้ามทางม้าลายอย่างปลอดภัย ซึ่งกำหนดแนวทางการรณรงค์ ทุกวันที่ 21 ของทุกเดือนเป็นเป้าหมายในการรณรงค์ โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอ่างทองได้บูรณาการร่วมกับอำเภอเมืองอ่างทอง แขวงทางหลวงอ่างทอง สถานีตำรวจภูธรเมืองอ่างทอง วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง คณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดอ่างทอง บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัย จำกัด สาขาอ่างทอง และภาคีเครือข่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน อาสาสมัคร มูลนิธิ ในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง
 

  ในการนี้ นางสาวเอกรัตน์  นาคาคง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เน้นย้ำ ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันรณรงค์ความปลอดภัยทางถนน และสวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ กำหนดให้ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ และผู้มาติดต่อราชการ สวมหมวกนิรภัยทุกครั้งที่มีการขับขี่รถจักรยานยนต์เข้ามาติดต่อราชการในพื้นที่และปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด หน่วยงานผู้รับผิดชอบสำรวจตรวจสอบปรับปรุงบริเวณทางข้ามให้มีความปลอดภัย  อาทิ การตีเส้นชะลอความเร็วก่อนถึงทางข้าม การจัดทำเครื่องหมายจราจรบนพื้นผิวถนนให้มีความชัดเจน จัดทำป้ายเตือนและป้ายสัญลักษณ์ให้ผู้ขับขี่และผู้ข้ามถนนเห็นได้ชัดเจน รวมทั้ง สร้างการรับรู้ในการใช้ทางข้ามอย่างปลอดภัย การสร้างจิตสำนึกให้ผู้ขับขี่  ลดความเร็วในเขตชุมชน หน้าสถานศึกษาหน้าสถานพยาบาล ทางข้ามหรือทางม้าลาย หยุดให้คนข้าม ตลอดจนสร้างความตระหนักถึงความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการขับรถที่ไม่มีวินัยและไม่ปฏิบัติตามกฎจราจรเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และความพร้อมในการเผชิญเหตุต่อไป

​​​​​​​ ​​​​​​​ ​​​​​​​