เศรษฐา"เรียกรองนายกฯ "ภูมิธรรม-ปานปรีย์-สมศักดิ์" มอบนโยบาย จี้ทำการบ้าน หลังกลับจากเอเปค ก่อนาบุกกระทรวงการคลัง ถก"ดิจิทัลวอลเล็ต-แก้หนี้นอกระบบ" ด้าน"ภูมิธรรม" เผยร่างพ.ร.บ.กู้เงินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอยู่ในขั้นตอนตีความของกฤษฎีกา 

   
  เมื่อวันที่ 20 พ.ย.66 เวลา 08.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหว นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เดินทางเข้าปฏิบัติงาน ที่ทำเนียบรัฐบาลตามปกติ ภายหลังเดินทางกลับจากการเข้าร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2023 โดย นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า ภายหลังจากเดินทางกลับจะเรียกรัฐมนตรีเข้ามอบนโยบาย
    
 โดย เวลา 09.00 น. เศรษฐา ได้เรียกรัฐมนตรีเข้าพบที่ตึกไทยคู่ฟ้าเพื่อมอบนโยบาย อาทิ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ มอบนโยบายให้ติดตามการค้าการลงทุนในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลังด้วย จากนั้นเวลา 10.27 น. ได้เรียก นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ และเวลา 10.35 น. เรียก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ เข้าพบที่ตึกไทยคู่ฟ้าด้วย
   
  รายงานข่าวแจ้งว่า ได้มีการแจ้งมอบหมายงาน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ เป็นประธานการประชุมคณะกรรรมการนโยบายการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ (ก.น.บ) ครั้งที่ 2/2566 ตึกภักดีบดินทร์ แทนนายกฯ และในวันเดียวกันนี้ช่วงบ่ายเวลา 13.00 น. นายกฯ จะเดินทางไปกระทรวงการคลัง เพื่อมอบนโยบายและติดตามความคืบหน้านโยบายรัฐบาลอาทิ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต และการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่จะแถลงข่าวใหญ่สิ้นเดือน พ.ย.นี้
   
  ด้าน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบร่างพ.ร.บ.กู้เงินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตโดยกฤษฎีกา ว่า ตอนนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาของกฤษฎีกา ซึ่งกฤษฎีกาไม่ได้จะมาคัดค้าน หรือไม่เห็นด้วยอะไร แต่ก็อยากให้เราช่วยกันดูให้รอบคอบ รัฐบาลก็เห็นด้วยจึงส่งให้กฤษฎีกาช่วยดู ซึ่งยังอยู่ในกระบวน และคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน ส่วนในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 21 พ.ย. จะมีการรายงานความคืบหน้าเรื่องนี้หรือไม่ นายภูมิธรรม ระบุว่า ไม่ทราบ เดี๋ยวคงต้องดูว่าจะมีอะไรบ้าง พูดไปแล้วไม่เข้าที่ประชุมจะกลายเป็นผิดอีก
    
 ผู้สื่อข่าวถามว่า กฤษฎีกาจะส่งรายงานกลับมาก่อนช่วงปีใหม่หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ทางกฤษฎีกายืนยันจะทำให้เร็วที่สุด คิดว่าไม่มีใครจะดึงเรื่องให้ช้า ก็พยายามทำข้อสรุปให้ชัดเจน เพื่อที่จะพิจารณาต่อไปได้ ส่วนยืนยันได้หรือไม่ว่าหน่วยงานภาครัฐเห็นด้วย ถึงแม้รัฐบาลจะทำในเรื่องร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน หรือต้องมีการบันทึกไว้ในที่ประชุมว่าหน่วยงานใดไม่เห็นด้วย ส่วนนี้เป็นนโยบายรัฐบาล และการดำเนินงานของรัฐบาลก็พยามรับฟังความคิดเห็นอย่างเต็มที่แล้ว พร้อมแสดงความสุจริตในการทำโครงการนี้ แม้จะมีบางแนวคิดที่แตกต่างกันบ้าง เช่น บางแนวคิดที่บอกต้องกระจายตัวเงิน แต่ตนคิดว่าต้องดูในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งรอให้ชัดเจนก่อนค่อยว่ากัน
     
สำหรับการที่มีภาคผู้บริหารเอกชนชั้นนำออกมาหนุนเรื่องนี้ จะเป็นการตอกย้ำสิ่งที่รัฐบาลทำว่ากำลังกู้วิกฤตเศรษฐกิจ เหมือนที่นายกฯ บอก นั้น เป็นเรื่องที่น่ายินดี คิดว่าวันนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่าในหลายภาคส่วน และหลายมิติยังมีความเห็นที่เหมือน หรือแตกต่างกันอยู่ เช่น เมื่อช่วงเช้าได้รับรายงานจากคนที่ไปเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ ก็ไปเจอไกด์ หรือเวลาขึ้นรถ หลายคนก็บอกว่าอยากได้ ทุกคนก็รู้ว่าโครงการนี้จะทำให้เกิดการใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น ซึ่งวัตถุประสงค์ของเรา ไม่ใช่อยู่ๆ ไปแจกเงิน แต่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้าทุกคนรู้ว่ากำลังซื้อกำลังขาดแคลนประเทศวิกฤตหรือไม่วิกฤต บางทีก็พูดได้ เพราะเป็นทัศนะบุคคล จะบอกว่าไม่วิกฤตก็ได้ ขึ้นอยู่กับจุดยืนของตัวเอง หรือสถานะทางวิชาชีพ สถานะทางการเงินอยู่ตรงไหน ถ้ายังมีเงินก็คงบอกไม่วิกฤต แต่ถ้าคนขายของไม่ได้ คนไม่มีกำลังซื้อ ไปถามพ่อค้าแม่ค้าตอนนี้ก็บอกว่าแย่
    
 นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า ถ้าหากวันนี้ไม่เพิ่มกำลังซื้อ กลไกทางเศรษฐกิจก็ไม่มีผล ซึ่งถ้าจะให้พูดและเห็นพ้องต้องกัน ก็เหมือนฝืนธรรมชาติ จะอยู่ที่ความเห็นใครก็ไม่เป็นไร ที่สำคัญต้องขึ้นอยู่ที่วัตถุประสงค์เป็นหลัก ประเทศเราซบเซามาโดยตลอด ตนคิดว่าตัวเลขทางวิชาการก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ชีวิตจริงก็เป็นส่วนหนึ่ง อยากรู้ว่าวันนี้วิกฤตหรือไม่ให้ไปเดินที่ตลาด ไปถามคนทางการค้า หรือบริษัทต่างๆ ทุกประเทศวันนี้ต้องการความเปลี่ยนแปลง ทุกคนก็รออยู่ ดังนั้นจะพูดว่าวิกฤตหรือไม่อยู่ที่แต่ละบุคคล
      
 "ถ้าผมมีเงินมากก็บอกไม่วิกฤต แต่ถ้าถามประชาชนที่ไม่มีเงินในมือก็บอกว่าวิกฤต ขออย่ามาเถียงหรือเอาชนะกัน เอาความเป็นจริง และสิ่งที่มันเกิดให้เป็นประโยชน์ และจริงๆกู้หรือไม่กู้ ไม่ใช่สาระสำคัญ การกู้เพื่อมาชดเชย เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนก็ทำได้ จริงๆแล้วปีก่อนๆ ก็เห็นกู้มหาศาล ไม่เห็นใครมีปัญหาเลย เราจะกู้เรื่องนี้ให้ประชาชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจกับมีปัญหาอย่างนี้เป็นต้น เราควรใจกว้าง มองอะไรที่เป็นจริง สอดรับความเป็นจริงของสังคม เพราะเรายืนยันเจตนาบริสุทธิ์ และพยามรับฟังทุกส่วน ถ้าไม่ฟังป่านนี้คงทำไปแล้ว ก็พยายามทำให้สังคมเห็นพ้องมากที่สุด แต่ไม่ได้หมายถึงทุกคนต้องเห็นพ้องเหมือนกัน ส่วนมีประชาชนบางส่วนไม่เห็นด้วยต้องทำความเข้าใจอย่างไร นายภูมิธรรม ระบุว่า กระบวนการทำหน้าที่อยู่แล้ว มาถามเป็นส่วนๆ มันก็ตอบยาก แต่กระบวนการที่เกิดขึ้นก็ทำหน้าที่อยู่แล้ว ก่อนยืนยันยินดีรับฟังทุกส่วนอยู่แล้ว แต่เพียงไม่อยากให้มาเปิดความเห็นในที่สาธารณะที่เถียงไปเถียงมา แล้วหาข้อยุติไม่ได้ และไม่สามารถแก้ปัญหาได้" นายภูมิธรรม กล่าว 
 
วันเดียวกัน  น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Sirikanya Tansakun  ศิริกัญญา ตันสกุล ระบุว่า  GDP ไตรมาส 3 โต 1.5% วิกฤตรึยัง? คงต้องย้ำอีกครั้งว่า เราจะไม่ต้องมาเถียงเรื่อง "วิกฤติ" หรือ "ไม่วิกฤติ" กันเลย ถ้ารัฐบาลไม่เลือกใช้วิธีการ "ออก พ.ร.บ. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท" เพื่อมาทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เพราะการที่จะออก พ.ร.บ. เงินกู้ได้นั้น รัฐบาลจำเป็นต้องพิสูจน์ให้ได้โดยชัดเจนว่า ตอนนี้มี "ความจำเป็น เร่งด่วน เพื่อแก้วิกฤติอย่างต่อเนื่อง และตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่ทัน" จริงหรือไม่
    
 ไม่มีใครเถียงว่าเศรษฐกิจไทยแย่ เศรษฐกิจไทยโตช้า และโตต่ำกว่าที่คาด ดิฉันเองก็เห็นด้วยและพูดเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่คำถามที่คาใจใครหลายๆ คนในตอนนี้คือ สรุปแล้วเศรษฐกิจไทย "วิกฤต" รึยัง?
   
  วันนี้มีตัวเลขออกมาจากสภาพัฒน์ฯ ว่า GDP ไทยในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โตขึ้น 1.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน ต้องอธิบายก่อนว่า ตัวเลข GDP นั้น วัดได้จากทั้งฝั่งรายจ่าย (expenditure) และฝั่งการผลิต (production) ซึ่งตัวเลขรวมจะต้องตรงกัน
   
  ฝั่งการผลิตอธิบายได้อย่างตรงไปตรงมา ก็คือภาคอุตสาหกรรม (เป็น sector ที่ใหญ่ที่สุด) เกิดหดตัวลง -4% เลยดึงใน GDP ของไทยโตต่ำ ที่ติดลบหนักที่สุดคืออุตสาหกรรม "เพื่อการส่งออก" โดยเฉพาะ Hard Disk Drive และชิ้นส่วนแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนภาคบริการขยายตัวได้ดีมาก ในด้านที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหาร โตขึ้นถึง 14.9% การค้าปลีกและค้าส่งขยายตัว 3.3% ขนส่งโต 6.8%
   
  ส่วนฝั่งรายจ่ายที่เราคุ้นเคย คำนวณได้ตามสูตร C+I+G+X-M (การบริโภคภาคเอกชน + การลงทุนภาคเอกชน + การใช้จ่ายภาครัฐ + การส่งออก - การนำเข้า) จากตัวเลขวันนี้ เราจะเห็นว่าตัวเลขภาคเอกชนโตขึ้นถึง "8.1%" การลงทุนภาคเอกชนโต 3.1% แต่ stock สินค้าก็ลดลงมาก แสดงว่ายังไม่ได้มีการผลิตเพิ่ม ซึ่งสอดคล้องกับฝั่งการผลิตที่ภาคอุตสาหกรรมหดตัว ภาครัฐหดตัวลงทั้งการบริโภค -4.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน (จากการที่ปีก่อนมีการเบิกค่ารักษาโควิด แต่ปีนี้ไม่มี จึงหดตัว) การลงทุนภาครัฐก็หดตัว -2.6% และถึงแม้การส่งออกสินค้าจะหดตัวตามคาดที่ -3.1% แต่การส่งออกภาคบริการกลับโตถึง 23% ส่วนการนำเข้าก็หดตัวแรงที่ -10.2%
   
  สรุปก็คือ ปัญหาของเศรษฐกิจไทยเป็นเรื่องของการส่งออกที่หดตัวตามเศรษฐกิจโลก การลงทุนของรัฐที่หดตัวลง และการลงทุนภาคเอกชนที่ถึงแม้จะโตขึ้น แต่ก็ถือว่าโตน้อยเมื่อเทียบกับการเติบโตของปีก่อน ไม่ใช่ "วิกฤตเศรษฐกิจ" อย่างที่รัฐบาลพยายามประโคมข่าว (ซึ่งก็แปลกดี เพราะไม่เคยเห็นรัฐบาลของประเทศไหนอยากจะให้เกิดวิกฤตขึ้นในประเทศ หรือมีท่าทีดีใจที่เห็น GDP โตต่ำ)
    
 คำถามคือ เมื่อรัฐบาลมองเห็นปัญหาของเศรษฐกิจไทยผ่าน data เหล่านี้แล้ว รัฐบาลจะยังคงฝืนกระตุ้นภาคการบริโภคผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอยู่หรือไม่ ทั้ง ๆ ที่ก็เห็นกันอยู่ว่าภาคการบริโภค โตกว่า 8%