เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 สำนักข่าวเออีซี10 นิวส์ จัดงานเสวนา “มิติใหม่ เที่ยวไทย กับวัฒนธรรมกินดื่ม” ณ ห้องกมลทิพย์ 2 โรงแรม เดอะสุโกศล กรุงเทพฯ โดยมี ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัย เกริก ร่วมปาฐกถา หัวข้อ “นักท่องเที่ยวกับวัฒนธรรมการดื่มและสังสรรค์ และผลกระทบต่อสังคม นายฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ปาฐกถา หัวข้อ “กระแสและแนวโน้มการท่องเที่ยวไทย” พร้อมด้วยวงเสวนา “มิติใหม่ เที่ยวไทย กับวัฒนธรรมกินดื่ม” โดยมี รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการทางด้านกฎหมาย ผศ.ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว นักวิชาการด้าน และนายดำรงค์เกียรติ พินิจการ เลขานุการสมาคมอุตสาหกรรมบันเทิง และการท่องเที่ยวเมืองพัทยาเศรษฐศาสตร์ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัย เกริก ปาฐกถางาน “มิติใหม่เที่ยวไทย กับวัฒนธรรมกินดื่ม” หัวข้อ “นักท่องเที่ยวกับวัฒนธรรมการดื่มและสังสรรค์ และผลกระทบต่อสังคมว่า ปัจจุบัน เทรนด์ดูแลสุขภาพในยุคใหม่ ได้ปรับเปลี่ยนมุมมองเรื่องการดื่มที่มีปริมาณเหมาะสมและพอดี เป็นวิธีสิ่งที่ช่วยดูแลสุขภาพให้ดียิ่งขึ้นได้ และในหลายๆสังคม ก็ให้การยอมรับว่าเรื่องการดื่ม เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เช่น ดื่มเพื่อฉลองชัยชนะ ดื่มเพื่อแสดงความยินดีในโอกาสต่างๆ โดยไม่ได้มองว่าการดื่มเป็นเรื่องที่ทำลายสุขภาพอย่างเดียว
ขณะที่ ความเห็นส่วนตัวต่อนโยบายการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงใน 4 จังหวัด กรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ และภูเก็ต ออกไปถึงตี 4 ก็ถือว่ามีความเหมาะสมต่อบริบทของสังคมยุคใหม่ และช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ แต่ก็จำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบสุขภาพอนามัย สังคม ศาสนาเช่นกัน รวมถึง รัฐบาล แพทย์ ครู ก็ต้องช่วยรณรงค์ ให้ความรู้ กับวัฒนธรรมการกินดื่มอย่างถูกต้อง เช่น ไม่ควรมีวัฒนธรรมการดื่มว่า ดื่มแล้วต้องหมด ดื่มแล้วต้องเมา ควรเปลี่ยนเป็นดื่มพอประมาณมากกว่า
ท้ายนี้ มองว่า เรื่องขยายเวลาเปิดสถานบริการ เป็นความจำเป็นตามสถานการณ์ แต่ก็อยากให้รัฐบาลให้ความ สำคัญรับฟังมุมมองของประชาชนที่แตกต่างเพื่อนำมาปรับให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด เพราะหากรัฐบาลมีกฎควบคุมการดื่มที่ตรึงเกินไป ก็อาจก่อให้เกิดการลักลอบการแอบขายซึ่งควบคุมได้ยาก ดังนั้น จึงขอให้กำลังใจรัฐบาลเดินหน้าเรื่องนี้ โดยยึดหลักความเป็นจริงในสังคม และคำนึงประโยชน์ของทุกฝ่ายอย่างรอบคอบ
ด้านนายฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “กระแสและแนวโน้มการท่องเที่ยวไทย” ว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวของประเทศไทย มีรายได้เข้าประเทศรวมกว่าปีละ 1.23 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นตลาดในประเทศ 641,000 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยว 189 ล้านคน/ครั้ง เฉลี่ยการใช้จ่ายต่อคนที่ 4,100 บาทต่อทริป และรายได้จากตลาดต่างประเทศ 589,000 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยว 11.15 ล้านคน เฉลี่ยการใช้จ่ายต่อคนที่ 62,580 บาทต่อทริป โดยในปี 2566 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยแล้วกว่า 23.2 ล้านคน นักท่องเที่ยว 5 อันดับแรกได้แก่นักท่องเที่ยวจาก มาเลเซีย จีน เกาหลีใต้ อินเดีย และรัสเซีย
สำหรับนโยบายของรัฐบาลที่มีข้อเสนอ ให้ขยายเวลาการเปิดธุรกิจสถานบริการจากเที่ยงคืนถึงตี 4 ในบางพื้นที่ รวมถึงนโยบายที่ออกมาก่อนหน้านี้ เช่น การเปิดวีซ่าฟรีจากหลายๆ ประเทศ มองว่าเป็นนโยบายที่ดีที่จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว ทำให้เกิดการใช้จ่ายได้เพิ่ม อีกทั้งเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้ชาวต่างชาติต้องการกลับมาท่องเที่ยวได้อีกครั้ง ที่ผ่านมา ททท. ได้ตั้งเป้าหมายการสนับสนุนท่องเที่ยวเชิงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับทำงานให้เกิด Greatest Change ด้วย Soft Power of Thailand ตามแนวทาง 5F คือ Food Film Fashion Festival Fight เพื่อเพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวคุณภาพ รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยใช้หลัก Inclusive Tourism เจาะกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แบบ 4-2-2 คือ 4 Personas (ประชากรโลกผู้ที่มีความมั่งคั่งสูง ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ ผู้ต้องการทำงานจากประเทศไทย และผู้ที่มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ) 2 Demographic (Millennials และ Active Senior) 2 Behavior (Medical & Wellness และ Responsible Tourism)
นอกจากนี้ ยังได้วางโมเดล "DASH" เป็นแนวทางการดำเนินงานเพื่อพลิกโฉมการท่องเที่ยวไทย ได้แก่ D - Domestic Travel ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ A - Accelerate Demand กระตุ้นอุปสงค์เชิงคุณภาพ S - Shape Supply ยกระดับระบบนิเวศท่องเที่ยวสู่ความมีคุณภาพและความยั่งยืน และ H - Healing Thai Economy ฟื้นประเทศด้วยการท่องเที่ยว เยียวยาเศรษฐกิจ ด้วยการสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ "ลุกเร็ว ก้าวไว"
รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการทางด้านกฎหมาย กล่าวในงานเสวนา “มิติใหม่เที่ยวไทยกับวัฒนธรรมกินดื่ม”ว่า มีข้อสังเกตถึงนโยบายการเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 ว่า รัฐบาลมีการศึกษานโยบายนี้ ก่อนตัดสินใจทำแล้ว หรือยัง ทั้งในส่วนของข้อดีข้อเสีย สาเหตุที่เลือกเฉพาะพื้นที่นำร่อง กรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ และภูเก็ต ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นการทำหวังผลทางการเมืองหรือไม่ เพราะทั้ง 4 พื้นที่นี้รัฐบาลเพิ่งแพ้การเลือกตั้งมาทั้งหมด นอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน เช่น ผู้ประกอบการ รวมถึงพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ที่เชื่อมโยง อย่างความพร้อมของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีเพียงพอหรือไม่
“หากรัฐบาลศึกษาแล้วว่าเป็นนโยบายที่ดีคุ้มค่า ช่วยกระตุ้นท่องเที่ยวได้จริงก็สามารถเปิดมากกว่าแค่ 4 จังหวัด แต่หากรัฐบาลยังไม่ได้ทำ ก็ไม่จำเป็นต้องรีบเปิดในเดือนธันวาคมนี้ สามารถทยอยเปิดทีหลังได้ ที่สำคัญรัฐบาลไม่จำเป็นต้องโฆษณาเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาไทยด้วยการชวนมากินดื่มอย่างเดียว เพราะที่จริงประเทศไทยมีจุดแข็งหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ขนบประเพณี ซึ่งเป็นซอฟท์ พาวเวอร์ ที่ดีว่าการชวนมากินดื่ม หากผลักดันเรื่องเหล่านี้ เชื่อว่าจะกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ดีกว่าขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงแน่นอน”
ผศ.ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า นโยบายขยายเวลาสถานบันเทิงถึงตี 4 สามารถทำได้ แต่ต้องเริ่มจากจำกัดเป็นพื้นที่โซนนิงก่อน หากได้ผลดีก็ค่อยขยายไปจังหวัดอื่นๆ อย่างไรก็ตามสิ่งที่อยากเสนอให้รัฐบาลแก้ปัญหา คือวัฒนธรรมการดื่มของผู้มีรายได้น้อย ที่เข้าถึงการบริโภคสุราราคาถูกได้ง่าย จนเป็นบ่อเกิดความเสียหาย ทั้งด้านสุขภาพ สังคม และงบประมาณ เนื่องจากทุกวันนี้โครงสร้างภาษีสุรายังมีความลักลั่นอยู่ โดยเฉพาะสุราขาวมีราคาเริ่มต้นเพียงขวดละ110 บาท แต่ดีกรีความเมากับสูงมาก
ดังนั้น รัฐบาลควรพิจารณาขึ้นภาษี กลุ่มสุราราคาถูก โดยเฉพาะสุราขาวให้แพงขึ้น เพื่อช่วยลดปริมาณการดื่มของคนมีรายได้น้อย เพราะทุกวันนี้สุราขาวมีดีกรีสูงสุด แต่กลับถูกเก็บภาษีต่ำสุด เรียกเก็บภาษีตามมูลค่า เพียงร้อยละ 2 ถูกกว่าเบียร์ที่เสียถึงร้อยละ 22 ไวน์ร้อยละ 10 สุราแช่ผลไม้ ร้อยละ 10 ขณะที่ภาษีที่เก็บตามปริมาณแอลกอฮอล์ ก็ควรขึ้นเพราะปัจจุบันสุราขาว 40 ดีกรีเสียภาษีเพียงขวด 60 บาทถูกกว่าไวน์ที่เก็บขวด 150-200 บาท ซึ่งราคาสุราขาว ที่เหมาะสมควรขายที่ 200-300 บาท
นายดำรงค์เกียรติ พินิจการ เลขานุการสมาคมอุตสาหกรรมบันเทิง และการท่องเที่ยวเมืองพัทยา กล่าวว่า การขอขยายเวลาปิดสถานบันเทิง เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการพยายามมาตลอด เพราะทุกวันนี้ การแข่งขันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีเยอะมาก หลายประเทศอย่างสิงคโปร์ เกาหลีใต้ หรือยุโรป ค่อนข้างผ่อนปรนเปิดได้ถึง 6 โมงเช้า ซึ่งตอบโจทย์ไลฟสไตล์นักท่องเที่ยวต่างชาติได้ดีกว่า ที่นิยมช่วงหัวค่ำออกมารับประทาน จากนั้นหาบาร์นั่งดื่ม และเปิดท้ายด้วยการเข้าสถานบันเทิง
นอกจากนี้ ยังอยากให้รัฐบาลขยายโซนนิ่งเมืองพัทยา เพราะครั้งล่าสุดจัดทำมานานแล้วตั้งแต่ปี 2545 แต่ปัจจุบันเมืองพัทยาเติบโตขึ้นมาก หากโซนนิ่งยังเท่าเดิมจะเกิดปัญหาการแอบเปิดสถานบันเทิงนอกโซนนิง ซึ่งจะตรวจสอบดูแลได้ยาก และ ณ วันนี้ ผู้ประกอบการสถานบันเทิงในพัทยา พร้อมเต็มที่ที่จะขยายเวลาเปิดถึงตี 4 นำเงินตราเข้าประเทศมากขึ้น ซึ่งคาดว่าการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงทำให้ธุรกิจยามค่ำคืนในพัทยามีเงินสะพัดเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 30-40%