วันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังประชุมคณะผู้บริหารกทม. ถึงมาตรการเตรียมพร้อมรับเทศกาลลอยกระทงปีนี้ ว่า กทม.เน้นเฝ้าระวังเรื่องทางเข้า-ออกในพื้นที่ ไม่ให้มีเกินจำนวน รวมถึงเรื่องความปลอดภัยของท่าเรือ โป๊ะ และสวนสาธารณะทั้ง 34 แห่งที่เปิดให้ประชาชนเข้าไปลอยกระทง โดยแบ่งการตรวจความพร้อมตามที่รับผิดชอบ เช่น เทศกิจดูแลความปลอดภัย สำนักสิ่งแวดล้อมดูแลเรื่องการจัดเก็บกระทง สำนักการจราจรและขนส่งดูแลความปลอดภัยของท่าน้ำ สำนักการแพทย์ดูแลเรื่องฉุกเฉิน สำนักการระบายน้ำดูแลเรื่องปล่อยน้ำในคลองต่าง ๆ จะเห็นได้ว่าคุณภาพน้ำดีขึ้น โดยกำชับให้แต่ละเขตดูแลเรื่องการจัดกิจกรรม เปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ค้าขายภายในงานก่อนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่

นายชัชชาติ กล่าวว่า จากสถิติการจัดเก็บกระทงในปี 65 พบว่า มีกระทงธรรมชาติร้อยละ 95.7 และกระทงโฟม ร้อยละ 4.3 ส่วนแนวทางกำจัดขยะและกระทงที่ลอยแล้วในปีนี้ ได้กำชับให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลา 05.00 น.ของวันรุ่งขึ้น ไม่ปล่อยให้เน่าในลำน้ำ หากเป็นกระทงธรรมชาติให้แยกทำปุ๋ยหมัก ส่วนกระทงที่เป็นโฟมส่งไปกำจัดให้ถูกวิธี เชื่อว่าปีนี้สถานการณ์โควิดที่ดีขึ้น มีการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น คาดว่าจำนวนกระทงจะมากขึ้น

นายชัชชาติ กล่าวว่า อยากให้ประชาชนลอยกระทงแบบออนไลน์เพื่อประหยัดเวลาในการเดินทาง โดยกทม.มีแนวทางสนับสนุนให้ประชาชนลอยกระทงอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะจัดที่คลองโอ่งอ่าง รวมถึงการเปิดให้ลอยกระทงผ่านระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ หากมีเรื่องที่อยากให้ผู้บริหารกรุงเทพมหานครดำเนินการ หรือมีเรื่องร้องเรียนก็ให้ลอยเป็นกระทงมาให้ผู้บริหารทราบ เพื่อส่งต่อไปยังเขตหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้แก้ไข ปรับปรุง ให้เป็นรูปธรรม โดยกทม.อยู่ระหว่างพัฒนาระบบและเตรียมเปิดให้ใช้ในแอพพลิเคชั่นทราฟฟี่ ฟองดูว์ ช่วงเทศกาลลอยกระทงนี้

สำหรับมาตรการป้องกันอันตรายในช่วงเทศกาลลอยกระทง ประจำปี 2566 ประกอบด้วย การตรวจสถานที่ผลิต สะสม จำหน่ายพลุ และการตรวจท่าเทียบเรือ โป๊ะ รวมถึงมาตรการในวันลอยกระทง เช่น การจัดส่งเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกตามสถานที่ลอยกระทง การตั้งจุดกองอำนวยการตั้งแต่เวลา 17.00 น.เป็นต้นไป 2 จุด คือใต้สะพานพระราม 8 (ฝั่งธนบุรี) และคลองโอ่งอ่าง การจัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดท่าเรือ โป๊ะ จุดละ 2 นาย พร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิต การดูแลความปลอดภัยริมแม่น้ำเจ้าพระยาโดยจัดให้มีเรือดับเพลิง ขนาด 38 ฟุต เรือท้องแบน เจ้าหน้าที่กู้ภัยทางน้ำ เรือตรวจการณ์ ดูแลตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระราม 9  ส่วนมาตรการหลังวันลอยกระทง ได้แก่ การรายงานการจัดเก็บขยะ จำนวนกระทง และรายงานผลอุบัติภัย