ต้องให้ความสำคัญวิชาประวัติศาสตร์! “ปลัด มท.” รับลูกนโยบาย “อนุทิน” สร้างค่านิยมรักชาติ สั่งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด เร่งดำเนินการ พร้อมลุยสร้างครูต้นแบบ หนุน แยก 3 ปวศ.-หน้าที่พลเมือง-ศีลธรรม เป็นวิชาเดี่ยว
จากกรณีที่วานนี้(17 พฤศจิกายน 2566) รัฐมนตรี 4 กระทรวง ประกอบไปด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มาทำข้อตกลงร่วมกันใน "การสร้างทรัพยากรมนุษย์ของชาติ เป็นคนที่มีจิตสำนึกรักชาติ ภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติไทย และยึดมั่นสถาบันสำคัญของชาติ"
ล่าสุด 18 พฤศจิกายน 2566 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการการศึกษาจังหวัด ต้องให้ความสำคัญกับวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย นอกจากนั้น ยังได้ส่งตำราเรียนฉบับสมบูรณ์ ให้กับท่านผู้ว่าฯ โดย เป็นหลักสูตรที่ทางกระทรวงมหาดไทยมั่นใจ และเชื่อถือ คือ เนื้อหาประวัติศาสตร์ชาติไทยฉบับที่ใช้เรียนใช้สอนในโรงเรียนจิตอาสา 904 ศอญ.
ขณะเดียวกัน เราจะเร่งสร้างครูต้นแบบที่มีความเข้าใจในประวัติศาสตร์ชาติ และประวัติท้องถิ่น เป็นบุคคลที่มีความสามารถในการถ่ายทอดเรื่องราวการประวัติศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามเป้าหมายในการสร้างจิตสำนึกรักชาติ ทั้งนี้ เราเดินหน้าตามนโยบายของท่านรัฐมนตรีว่ากากระทรวงมหาดไทย สั่งวันนี้ เสร็จเมื่อวาน ที่จังหวัดตาก เรามีครูต้นแบบแล้วหลายท่าน
“ผมได้ไปหารือกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้กระทรวงศึกษาฯ ได้กำหนดหลักสูตร เพื่อให้ผู้เรียน ได้เรียนวิชาประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และศีลธรรม ในจำนวนเวลาที่เพิ่มขึ้น อาจจะแยกออกมาเป็นเอกเทศทั้ง 3 วิชา แน่นอนว่า กระทรวงมหาดไทย เรารับสนองนโยบายของท่านอนุทิน ชาญวีรกูล อย่างสุดความสามารถ และยืนยันว่าในเรื่องของการปลุกจิตสำนึกการรักชาติ เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างเต็มที่”
.