วันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 ดร. กัลยาณี ธรรมจารีย์ นายกสมาคมส่งเสริมเครือข่ายการท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษเปิดเผยว่า ได้ค้นพบเมล่อนหวานเจี๊ยบของศรีสะเกษจากการเดินทางลงพื้นที่ไปร่วมมอบบ้านให้ผู้ยากไร้ กับคณะของนายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งชาวบ้านได้นำกระเช้าเมล่อนมามอบให้ผู้ว่าฯภายหลังเสร็จสิ้นภาระกิจแล้วที่อำเภอโนนคูณ ตนรู้สึกสงสัยที่เมล่อนลูกใหญ่มากเหมือนมาจากประเทศญี่ปุ่น จึงสอบถามว่า ซื้อเมล่อนมาจากไหน และได้ทราบจาก นางประคอง ใสเนตร หัวหน้าสำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเหล่ากวาง อำเภอโนนคูณ บอกว่าเมล่อนนี้ ได้มาจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน บ้านเหล่าฝ้าย
ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบล ได้สนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนี้ให้ยืมเงินได้โดยไม่มีดอกเบี้ย ช่วงแรกให้ยืมไป 300,000 บาท ให้ทางกลุ่มไปบริหารจัดการปลูกในพื้นที่ของตนเอง โดยหากชาวสวนจำหน่ายเมล่อนได้ก็จะหักเงินเข้ากลุ่ม 50 สตางค์ต่อหนึ่งกิโล และให้กลุ่มมีเงินออมอีกส่วนหนึ่ง ทำให้แต่ละปีจะมีเงินเหลือในกลุ่ม วิสาหกิจชุมชนได้จำนวนมาก สำหรับการปลูกเมล่อนนี้ มีผู้ที่รวมกลุ่มปลูกหนึ่งกลุ่มมีสมาชิกประมาณ 10 คน ได้ปลูกเมล่อนมาประมาณ4-5 ปีแล้วสร้างรายได้ให้ชุมชนมาก แต่ใครที่คิดจะปลูก ตอนแรกต้องมีการลงทุนมาก เพราะต้องทำโรงเรือน โรงเรือนแต่ละหลังประมาณ 40,000 บาท ซึ่งเป็นเงินของกลุ่มที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบ ต้องมีเงินสมทบไม่น้อยกว่า 30% ของเงินที่จะยืม เช่นยืม 300,000 บาท ต้องมีเงินสมทบของกลุ่มอย่างน้อย 90,000บาท ซึ่งทางองค์การบริหารส่วนตำบล ได้ออกระเบียบ ของการยืมเงินเพื่อให้กลุ่มได้รับผิดชอบด้วย แต่ละกลุ่มสามารถมายืมเงินมาลงทุนได้
นายสุพัฒน์ เต๊ะฮุย เจ้าของสวนในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล่าวว่า เขาเป็นคนไทยเชื้อสายมอญ มาจากจังหวัดอุทัยธานี แต่ก่อนทำงานอยู่ในกรุงเทพฯอาชีพรับเหมาก่อสร้าง ต่อมามีภรรยาก็มาปลูกเมล่อนที่นี่ เพราะมีที่ดินทั้งหมด 14 ไร่ ได้ถมดินเพื่อเตรียมปลูกเมล่อน แต่แบ่งไว้ทำนา 2ไร่ เพื่อครอบครัว ช่วงที่ปลูกเมล่อนได้ผลคือหลังผสมใช้เวลาประมาณ 38 วัน เวลาเก็บผลผลิตจะมีรถจากกรุงเทพฯซึ่งเป็นขาประจำมารับเมล่อนถึงสวนเลย เราไม่ต้องไปส่งที่ไหน ทำให้ตลาดบ้านเราไม่ค่อยได้กินเพราะรับออเดอร์ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าอยู่แล้ว ตอนนี้อยากจะขยายปลูกเพิ่ม แต่ยังไม่มีเงินทุน เพื่อนๆส่วนมากก็ไม่กล้าลงทุนเพราะต้องทำ โรงเรือนในครั้งแรกที่ต้องใช้ทุนหลายหมื่น กลุ่มนี้สร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้สนใจปลูกเมล่อนได้เรียนรู้และฝึกฝนการปลูกเมล่อนง่ายๆเอาไว้กินเอง และปรึกษาหารือ สอบถามปัญหาต่างๆ ช่วยกันสอน ช่วยกันแนะนำ เดินไปด้วยกัน และสนุกกับการปลูกเมล่อน "เมล่อนปลูกยาก แต่ปลูกได้"
นายเกตุ อนันต์ เจ้าของสวนในกลุ่มบอกว่า พวกเราต้องใช้เวลาลองผิดลองถูกกว่าจะปลูกเมล่อนได้หวานแบบนี้ มีห้างที่ศรีสะเกษให้เอาไปส่งให้ด้วย ก็ไม่พอขาย เพราะเมล่อนที่นี่เป็นที่ต้องการของลูกค้ามาก พวกเราได้ชวนเพื่อนๆให้ตั้งกลุ่มร่วมกันปลูกจะได้สร้างรายได้ให้ชุมชน และหากเป็นที่รู้จักมากขึ้น พวกเราก็จะขายได้ราคาดีกว่านี้แน่นอน