จากที่รัฐบาลได้มีการแก้ไขปัญหาการไร้ที่ทำกินของเกษตรกร การรุกล้ำเขตป่าสงวน และการรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากร รวมถึงการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน แก้ไขปัญหาการบุกรุกที่สงวนหวงห้ามของรัฐ รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ขึ้น เพื่อจัดสรรที่ดินให้กับผู้ยากจนที่ไม่มีที่ดินทำกินและอยู่อาศัย ได้มีที่ดินทำกินและใช้ประโยชน์ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด
จังหวัดกระบี่ เดิมมีบริษัทเอกชนขออนุญาตเข้าใช้ประโยชน์เพื่อปลูกปาล์มน้ำมันตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 ต่อมารัฐบาลมีนโยบายนำที่ดิน ส.ป.ก.ทั่วประเทศที่มีการเข้าทำประโยชน์หรือครอบครองไม่ถูกต้องคืน โดยมีการยึดคืนกลับมาในปี พ.ศ.2559 เพื่อนำมาจัดสรรให้แก่ประชาชนที่ยากไร้หรือไม่มีที่ดินทำกิน โดยใช้กลไกลคณะกรรมการผ่านโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ต่อมา เมื่อตุลาคม พ.ศ.2566 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการและพบปะเกษตรกร ณ พื้นที่ คทช. แปลงหมายเลข 601 และ 602 ตำบลเหนือคลอง อำเภอเหนือคลอง เพื่อตรวจติดตามการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ พร้อมทั้งได้มอบหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ให้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดกระบี่
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า “นับว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดีที่จังหวัดกระบี่ และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้ความสำคัญกับการจัดที่ดินทำกินให้เกษตรกร และมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเป็นการแสดงสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินตามกฎหมายปฏิรูปที่ดิน รวมทั้งมีการแก้ไขปัญหาการเรียกร้องที่ดินทำกินในพื้นที่จังหวัดกระบี่ โดยการดำเนินการจัดที่ดินทำกิน คทช. ให้ราษฎรผู้ยากไร้ไม่มีที่ดินทำกินได้รับการจัดที่ดิน ในรูปแบบสหกรณ์ มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ส่งเสริมพัฒนาอาชีพตามศักยภาพของพื้นที่ เพื่อให้ราษฎรมีรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”
สำหรับพื้นที่ คทช. จ.กระบี่ มีพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 4 แปลง คือ 1. แปลงตำบลเขาพนม เนื้อที่ประมาณ 976 ไร่ ส.ป.ก. อนุญาตให้สหกรณ์การเกษตรเมืองใหม่เขาพนม จำกัด เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน มีเกษตรกรซึ่งเป็นสมาชิกของสหกรณ์ได้รับการจัดที่ดิน 210 ราย ดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ได้แก่ โครงการขุดสระเก็บน้ำสาธารณะ 7 แห่ง โครงการก่อสร้างถนนสายหลักผิวจราจรหินคลุก 1 สาย โครงการก่อสร้างถนนสายซอยผิวจราจรหินคลุก 10 สาย ก่อสร้างอาคารรวบรวมผลผลิตทางการเกษตร 1 แห่ง ก่อสร้างโรงเรือนระบบน้ำหยดอัตโนมัติ 4 แห่ง และการก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ 1 แห่ง พร้อมทั้งส่งเสริมและพัฒนาอาชีพตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เน้นตลาดนำการผลิต เป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าทางการเกษตรของภาคใต้ฝั่งอันดามัน 2. แปลงที่ดินหมายเลข 601 เนื้อที่ประมาณ 973 ไร่ ส.ป.ก. อนุญาตให้สหกรณ์การเกษตรกระบี่น้อยพัฒนา จำกัด เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน มีเกษตรกรซึ่งเป็นสมาชิกของสหกรณ์ได้รับการจัดที่ดิน จำนวน 99 ราย และดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ ขุดสระเก็บน้ำสาธารณะ 7 แห่ง ก่อสร้างถนนสายหลักผิวจราจรหินคลุก 1 สาย ก่อสร้างถนนสายซอยผิวจราจรหินคลุก 7 สาย และก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ 1 แห่ง พร้อมทั้งส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามแนวทาง “กระบี่สมาร์ทซิตี้” เมืองทันสมัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม 3. แปลงที่ดินหมายเลข 602 เนื้อที่ประมาณ 683 ไร่ มีการขุดสระเก็บน้ำสาธารณะ จำนวน 4 แห่ง และโครงการก่อสร้างแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ขนาด 1.63 ล้านลูกบาศก์เมตร 4. แปลงที่ดินหมายเลข 603 เนื้อที่ประมาณ 3,617 ไร่ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคในเขตปฏิรูปที่ดิน ได้แก่ โครงการขุดสระเก็บน้ำสาธารณะ จำนวน 11 แห่ง
พื้นที่ดำเนินการของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดกาญจนบุรี ได้ประกาศเขตดำเนินการปฏิรูปที่ดิน จำนวน 1,282,414 ไร่ พื้นที่ 12 อำเภอ 41 ตำบล เนื้อที่ดำเนินการหลังกันพื้นที่สาธารณูปโภคและหนังสือสำคัญออกแล้ว จำนวน 788,822 ไร่ ดำเนินการแล้ว 11 อำเภอ 40 ตำบล เกษตรกรได้รับการอนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว จำนวน 41,115 ราย 51,907 แปลง 737,207 ไร่ ทั้งนี้จังหวัดกาญจนบุรี ได้ขับเคลื่อนงานจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลในเขตปฏิรูปที่ดินท้องที่จังหวัดกาญจนบุรีประกอบด้วยพื้นที่เป้าหมาย ตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค จำนวน 3 แปลง ได้แก่ 1) แปลงที่ดินหมายเลข No.14 เนื้อที่ 1,223-0-65 ไร่ 2) แปลงที่ดินหมายเลข No.15 เนื้อที่ 808-1-36 ไร่ และแปลงที่ดินหมายเลข AL8 เนื้อที่ 946-3-60 ไร่ รวมเนื้อที่ 2,978-1-61 ไร่
“สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้ความสำคัญกับการจัดที่ดินทำกินให้เกษตรกร และมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเป็นการแสดงสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน โดยการดำเนินการจัดที่ดินทำกินในพื้นที่ คทช. ให้ราษฎรผู้ยากไร้ไม่มีที่ดินทำกินได้รับการจัดที่ดิน ในรูปแบบสหกรณ์ มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ส่งเสริมพัฒนาอาชีพตามศักยภาพของพื้นที่ เพื่อให้ราษฎรมีรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งจังหวัดกระบี่และจังหวัดกาญจนบุรีถือเป็นจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก หากเกษตรกรศึกษาความต้องการของตลาดและผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว และแหล่งอาหารชั้นนำของประเทศ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่เกษตรกร ให้เกษตรกรอยู่ได้ อยู่ดี มีความสุข อีกด้วย” นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวทิ้งท้าย