นับถอยหลังอีกเพียง 6 ปี นับจากนี้ อภิมหาโปรเจ็กของการรถไฟแห่งประเทศไทย ในการขยายส่วนต่อเส้นทางรถไฟ เด่นชัย – เชียงของ จะแล้วเสร็จ ซึ่งนอกจากจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่อยากจะเปลี่ยนบรรยากาศเดินทางมาเดินด้วยรถไฟ ยังเป็นการเปิดมิติการค้าที่จะเชื่อมต่อไปยังจีนได้ง่ายขึ้น โดยเปิดประตูการค้าชายแดนภาคเหนือเชื่อมลาว - จีนใต้ ที่เชียงของ ลดระยะเวลาในการเดินทางได้เร็วกว่า 1 ชม. - 1.30 ชม. เมื่อเทียบกับการเดินทางด้วยรถยนต์

อีกทั้งยังเป็นเส้นทางรถไฟสายโรแมนติกสุดสายหนึ่ง กับการเปิดประสบการณ์เดินทางแบบสโลว์ไลฟ์ ไปเที่ยวเชียงรายดินแดนเหนือสุดของประเทศไทยด้วยรถไฟสุดคลาสสิค ชมวิวสองข้างทางที่เต็มไปด้วยสายหมอกยามเช้า และ ความงามของทิวเขาสลับกับป่าไม้

ล่าสุด “นายนิรุฒ มณีพันธ์” ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ลงพิ้นที่การก่อสร้างเส้นทางติดตามความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง โดยได้เปิดเผยความคืบหน้าการก่อสร้างอุโมงค์แม่กา จ.พะเยาว่า โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่เส้นทางสายเหนือ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 85,345 ล้านบาท นั้นอุโมงค์แม่กา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในเส้นทาง มีระยะทาง 2.7 กม. เป็น 1 ใน 4 อุโมงค์ของโครงการฯ ซึ่งอยู่ในสัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะเวลาสัญญา 45 เดือน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขุดเจาะอุโมงค์ ได้ดำเนินการไปแล้ว 8 เดือน มีความคืบหน้า 17.8% หรือแล้วเสร็จ 964 เมตร ทั้งนี้ รฟท. ได้ปรับแผนการดำเนินการ โดยจะหล่อผนังอุโมงค์คู่ขนาน เพื่อให้โครงการไม่ล่าช้า และเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้

ทั้งนี้อุโมงค์แม่กา มีขนาดความกว้าง 7.4 เมตร และความสูง 7.341 เมตร ภายในอุโมงค์เสริมความแข็งแรงและเสริมเสถียรภาพของผนังหินหรือดินด้วยการติดตั้งค้ำยัน โดยอุโมงค์ดังกล่าว มีความพิเศษ 2 เรื่อง ได้แก่ 1.เป็นอุโมงค์วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ คาบเกี่ยว 2 จังหวัด คือ ลำปาง และพะเยา 2.มีขั้นตอนและวิธีการขุดเจาะอุโมงค์ทางด้านเหนือและด้านใต้แตกต่างกัน คือ ด้านใต้ พื้นที่ จ.ลำปาง ลักษณะธรณีวิทยาเป็นหินแข็ง ใช้วิธีขุดเจาะโดยการระเบิดหิน ส่วนด้านเหนือ พื้นที่ จ.พะเยา ลักษณะธรณีวิทยาเป็นดิน ใช้วิธีขุดเจาะโดยการใช้เทคโนโลยีหัวขุด Drum Cutter

อย่างไรก็ตามอุโมงค์แม่กามีการออกแบบด้านความปลอดภัย เพื่อรองรับเหตุแผ่นดินไหว หรือน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้น ขณะเดียวกัน มีจุดอพยพตลอดเส้นทางรวม 11 จุด ระยะห่างแต่ละจุดประมาณ 240 เมตร ซึ่งในกรณีมีเหตุฉุกเฉินภายในอุโมงค์นั้น จะมีรถไฟวิ่งคู่ขนานกับอุโมงค์ด้านข้าง ไปยังจุดอพยพบริเวณที่ใกล้จุดเกิดเหตุที่ได้ก่อนจะรับ-ส่งต่อไปยังจุดรวมพลต่อไป

ส่วนภาพรวมทั้งโครงการฯ ปัจจุบันมีคืบหน้า 3.01% จากแผนสะสม 2.72% หรือเร็วกว่าแผน 0.28% ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการพิจารณาการเวนคืนที่ดิน มูลค่า 10,600 ล้านบาท พร้อมทั้งขอใช้พื้นที่ส่วนของกรมธนารักษ์ และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยขณะนี้ รฟท.ได้ดำเนินการเวนคืนที่ดินไปแล้วกว่า 80% จากทั้งหมด 7,500 แปลง และครบ 100% ภายใน ก.พ. 2567 อย่างไรก็ตาม คาดว่า จะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการภายในปี 2571

สำหรับโครงการดังกล่าว แบ่งการก่อสร้างงานโยธาเป็น 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 103.70 กม. มูลค่างานก่อสร้าง 26,560 ล้านบาท ความก้าวหน้างานก่อสร้างสะสม 1.92% จากแผนงานสะสม 1.47% หรือเร็วกว่าแผนงาน 0.45%, สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 132.30 กม. มูลค่างานก่อสร้าง 26,890 ล้านบาท ความก้าวหน้างานก่อสร้างสะสม 4.39% จากแผนงานสะสม 3.64% หรือเร็วกว่าแผนงาน 0.74% และสัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทางโครงการ 87.10 กม. มูลค่างานก่อสร้าง 9,385 ล้านบาท ความก้าวหน้างานก่อสร้างสะสม 2.60% จากแผนงานสะสม 3.16% หรือช้ากว่าแผนงาน 0.56%

อย่างไรก็ตาม โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ถือว่าเป็นเส้นทางประวัติศาสตร์ซึ่งประชาชนรอคอยมานานยาวกว่า 60ปี หากก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จ จะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางได้เร็วกว่า 1-1.30 ชั่วโมง (ชม.) เมื่อเทียบกับการเดินทางด้วยรถยนต์ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งด้านการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจการค้า สร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ที่เส้นทางตัดผ่าน ช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล สำหรับรถไฟทางคู่สายใหม่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม.นั้น เส้นทางผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ ลำปาง พะเยา และเชียงราย ซึ่งอยู่ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 จำนวน 3 จังหวัด (ยกเว้น จ.ลำปาง) 17 อำเภอ 59 ตำบล มีสถานีและที่หยุดรถไฟรวม 26 แห่ง มีย่านกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า (CY) จำนวน 4 แห่ง

ถ้าจะมองเป็นการลงทุนที่สูงกับงบประมาณแสนล้าน!!!ก็พูดได้ แต่ถ้าผลลัพธ์ออกมาจะได้ทั้งรายได้จากการท่องเที่ยว-การเป็นประตูการค้า งานนี้หักลบ-กลบหนี้ คำตอบอยู่ที่ใจ!!