ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
โลกที่แบ่งขั้ว เช่น ขาว-ดำ ชาย-หญิง คือโลกที่แตกต่างแยกแย้ง ความจริงโลกต้องการความประสานกลมกลืนนั้นมากกว่า
คนทั่วไปมีคติหรือความเชื่อในใจอยู่แล้วว่า ชายก็ต้องแสดงความเป็นชาย และหญิงก็ต้องแสดงความเป็นหญิง ในทำนองเดียวกันกับที่มองกมลว่าเขาต้องเป็นสุภาพบุรุษ และมองกมลาว่าเธอต้องเป็นสุภาพสตรี ซึ่งความจริงนั้นทั้งสองคนกลับแสดงลักษณะที่ตรงกันข้าม เพราะกมลนั้นเป็น “แต๋ว” และกมลานั้นเป็น “ทอม” ดังนั้นคนส่วนมากอีกนั่นแหละที่มักจะประเมินคู่ชีวิตแบบนี้ว่า “ประหลาด-พิสดาร”
กมลาเข้ามาทำงานที่มหาวิทยาลัยก่อนกมลสัก 2 ปี แต่เมื่อทั้งสองคนมาเจอกันในมหาวิทยาลัยก็พบว่าเป็นนิสิตรุ่นเดียวกัน เพียงแต่กมลาจบมาแล้วสอบเข้าเป็นข้าราชการในมหาวิทยาลัยนี้ได้ทันที แต่กมลต้องไปเป็นลูกจ้างในหน่วยราชการอื่นมาก่อน แล้วจึงสอบโอนย้ายเข้ามาภายหลัง กมลาเป็นข้าราชการสาย ข. คือเป็นฝ่ายบริการการศึกษา ส่วนกมลเป็นข้าราชการสาย ค. คือเป็นฝ่ายอาคารสถานที่ (ในขณะที่สาย ก.คือสายวิชาการหรือเป็นพวกอาจารย์) ซึ่งทั้งสองคนก็สนิทสนมกันอย่างรวดเร็ว เมื่อทราบในกันและกันว่าจบจากมหาวิทยาลัยเดียวกันในปีการศึกษาเดียวกัน และยิ่งทั้งคู่มีชื่อสะกดคล้าย ๆ กัน ก็ทำให้เพื่อนบางคนที่รู้จักทั้งสองคนนี้พยายามจับคู่ให้เป็น “คู่จิ้น” กันมาโดยตลอด
กมลาเป็นคนนนทบุรี มาจากครอบที่มีฐานะปานกลาง อาศัยอยู่กับพ่อแม่และพี่น้องอีก 3 คนในบ้านจัดสรรนอกอำเภอเมือง ส่วนกมลมาจากครอบครัวชาวชนบททางภาคอิสาน มีฐานะค่อนข้างยากลำบาก ต้องต่อสู้ดิ้นรนมาอย่างหนัก บ้านที่พักก็ยังต้องเช่าอยู่ในย่านชุมชนแออัดใกล้ ๆ ตลาดท่าน้ำเมืองนนท์ ทั้งสองคนใช้รถบริการของมหาวิทยาลัยที่จัดไว้รับส่งบุคลากร โดยร่วมเดินทางบนเส้นทางเดียวกันทั้งเช้าและเย็น จึงทำให้ทั้งสองคนได้สนทนากันบ้าง แต่ก็ไม่ได้แสดงตัวตนจริง ๆ ออกมา เพราะกลัวมีคนจับผิดได้เรื่อง “ลักเพศ” ของทั้งคู่นั้น จนเมื่อทั้งสองคนได้ประกาศว่าได้ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันในอีก ๓ ปีต่อมา จึงได้สร้างอาการช็อกให้กับคนในที่ทำงานหลาย ๆ คน
แม้ว่าผมจะได้รู้จักทั้งสองคนมาตั้งแต่ตอนที่ไปตรวจสอบหลักทรัพย์ที่ทั้งคู่มาขอกู้เงินปลูกบ้านเมื่อหลายปีก่อนหน้านั้น แต่ผมก็ได้มาสนิทสนมกับทั้งคู่เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ที่ผมได้มาเป็นรองอธิการบดีดูแลงานอาคารสถานที่ ซึ่งกมลก็อยู่ในฝ่ายอาคารสถานที่ในตำแหน่งหัวหน้างานที่สำคัญงานหนึ่ง คืองานเกี่ยวกับการจัดที่พักอาศัยให้กับนักศึกษาและผู้ใช้บริการอาคารที่พักและประชุมสัมมนาของมหาวิทยาลัย หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “งานแม่บ้าน” ในขณะที่กมลาก็เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริการนักศึกษา ที่ต้องมาคอยดูแลนักศึกษาในเวลาที่นักศึกษามาอบรมเพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องกิจกรรมการอบรมต่าง ๆ ทำให้ผมได้พบกับกมลาบ่อย ๆ ด้วยเช่นกัน ในเวลาที่ผมต้องไปตรวจตราความเรียบร้อยในอาคารที่พักและอาคารหอประชุมดังกล่าว
ในฐานะที่กมลเป็นลูกน้องโดยตรงของผม ทำให้เราได้คุยกันอยู่ตลอดเวลา และยิ่งต้องไปตรวจตราความเรียบร้อยต่าง ๆ ด้วยกัน กมลก็ต้องคอยติดสอยห้อยตามผมจนดูเหมือนว่าเป็น ท.ส.คนสนิทนั่นเทียว บ่อยครั้งที่ต้องตรวจตราอาคารสถานที่ในเวลาค่ำคืน ก็ต้องรับประทานอาหารเย็นด้วยกัน ทำให้เรามีเวลาคุยกันมากขึ้น จึงได้ทราบว่า “ชีวิตรัก” ของสองคนนี้ “น่าทึ่ง” แต่ไม่ใช่ในแนวแปลกประหลาดอย่างที่คนในมหาวิทยาลัยหลาย ๆ คนร่ำลือ แต่น่าทึ่งในแนวที่ “น่าจดจำ” และดูไว้เป็นแบบอย่าง
กมลเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯในตอนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้ว ที่เลือกมาเรียนในมหาวิทยาลัยด้านการเกษตรแห่งนี้ ก็เพราะอยากนำความรู้ไปใช้ในการทำเกษตรที่บ้านนอก ขณะที่เรียนเขาเป็นคนที่เงียบมาก ๆ ไม่ค่อยสุงสิงหรือคุยกับใคร ซึ่งอาจจะเป็นด้วยเขาต้องคอยปิดบังเพศสภาพที่แท้จริงที่ไม่ได้มีความเป็นชายอย่างที่เห็นอยู่ภายนอก ทั้งนี้เขาก็ไม่เคยเห็นหรือรู้จักกับกมลามาก่อน แม้ว่าจะเรียนในมหาวิทยาลัยเดียวกันในเวลาพร้อม ๆ กันนั้น ส่วนกมลาก็เลือกเรียนในคณะด้านสังคมศาสตร์ โดยวาดหวังว่าอยากจะทำงานในหน่วยงานราชการมาตั้งแต่ต้น เป็นคนที่มีเพื่อนมาก ด้วยนิสัยที่ออกจะเป็นผู้ชาย และมีน้ำใจกว้างขวาง เธอจึงออกจะป๊อบปูลาร์พอสมควรในตอนที่เป็นนิสิตนั้น
กมลจบแล้วก็ไปทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวรายเดือนในหน่วนราชการแห่งหนึ่ง โดยในตอนสมัครสอบเข้าไประบุว่าเป็นงานเกี่ยวกับการประชุม คือ จัดเตรียมเอกสารการประชุม และประสานงานการประชุม แม้จะเงินเดือนไม่มาก แต่ก็อยากไปทำเพื่อให้มีรายได้และหาประสบการณ์ ทว่าเมื่อไปทำจริง ๆ แล้วก็กลายเป็นว่าต้องทำงานคล้าย ๆ กับเป็น “นักการ” คือจัดห้องประชุม เสิร์ฟเครื่องดื่มกับของว่าง และเก็บกวาดทำความสะอาด แต่ก็ต้องทนทำอยู่ถึง 2 ปี กระทั่งมีประกาศสอบในตำแหน่งงานอาคารสถานที่ของมหาวิทยาลัยที่เขาได้มาเจอกับกมลานี้ เขาก็สอบเข้ามาได้เพราะกรรมการสัมภาษณ์ชอบใจว่าสามารถทำงานที่ละเอียดจุกจิกได้อย่างผู้หญิง และทำงานหนักได้ด้วยความแข็งแรงแบบผู้ชาย
กมลเล่าให้ฟังว่าได้เจอกมลาครั้งแรกบนรถบัสที่ให้บริการรับส่งบุคลากรของมหาวิทยาลัย โดยเขาชอบที่จะขึ้นไปนั่งทางด้านหลังเช่นเดียวกันกับกมลา แต่ก็ไม่เคยได้พูดคุยกัน จนเมื่อได้ไปร่วมพิธีทอดกฐินพระราชทานของมหาวิทยาลัย ซึ่งปีนั้นเป็นปีที่สองที่เขาได้ทำงานในมหาวิทยาลัย ส่วนกมลาได้ทำงานมา 4 ปีแล้ว ด้วยตำแหน่งงานของเขาที่มาจากงานบริการด้านที่พัก ทำให้เขาได้ช่วยคณะกฐินดูแลจัดที่พักให้กับผู้เดินทาง รวมถึงอยู่ในฝ่ายดูแลด้านสุขภาพ ที่ต้องคอยดูแลบุคลากรที่อาจจะเจ็บป่วย หรือปฐมพยาบาลเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งเขาก็ยินดีอาสาด้วยความเต็มใจ
กฐินพระราชทานปีนั้นไปทอดที่วัดวรนาถบรรพต ในจังหวัดนครสวรรค์ ชาวบ้านเรียกว่าวัดหลวงพ่อทองเขากบ เพราะมีพระเกจิชื่อดังแม้จะมรณภาพไปนานแล้ว คือหลวงพ่อทอง และบริเวณวัดตั้งอยู่บนเชิงเชาที่ชื่อเขากบ และมีพระเจดีย์องค์ใหญ่อยู่บนยอดเขานั้น ซึ่งสามารถนั่งรถเก๋งหรือรถปิกอัพขึ้นไปได้ แต่คณะของมหาวิทยาลัยใช้รถบัส ใครที่ต้องการไปนมัสการพระเจดีย์บนยอดเขาก็ต้องเดินขึ้นไป ซึ่งก็มีบันไดทำไว้ แต่ค่อนข้างชันและบางช่วงก็ชำรุด กมลอยู่กับหน่วยพยาบาลข้างล่างไม่ได้ขึ้นไป สักครู่ก็มีคนมาร้องเรียกว่ามีคนตกบันไดขาเคล็ด แล้วก็มีคนอื่น ๆ หิ้วปีกประคองผู้บาดเจ็บเข้ามา ซึ่งก็คือกมลา ตอนแรกกมลไม่กล้าไปจับต้องเนื้อตัวเพราะเห็นว่ากมลาเป็นผู้หญิง แต่พอกมลาเห็นอาการเก้ ๆ กัง ๆ ของกมลก็บอกว่าไม่เป็นไรจับได้ กมลจึงไปพันผ้ายางยืดรัดข้อเท้าให้ เมื่อจับน้ำเสียงที่พูดและได้เห็นอากัปกิริยาของกมลาอย่างใกล้ชิด จึงรู้ว่ากมลาไม่ใช่ “หญิงแท้” แต่เป็นผู้ชายคนหนึ่งที่อยู่ในร่างของผู้หญิงเท่านั้น
เสร็จจากการทอดกฐิน ขากลับทั้งคู่ได้นั่งติดกันเพราะกมลถือโอกาสที่จะได้มาดูอาการบาดเจ็บของกมลา กมลาเองก็เริ่มชอบนิสัยของกมล และเมื่อเริ่มทำงานในสัปดาห์ใหม่ที่มหาวิทยาลัย บนรถบริการรับส่งของมหาวิทยาลัยทั้งคู่ก็เริ่มสนทนากัน สำหรับกมลแล้วไม่ได้คิดอะไรมาก เพียงแต่อยากมีเพื่อนดี ๆ สักคน ที่ไว้วางใจและพูดคุยได้อย่างสนิทสนม ซึ่งกมลาก็มีนิสัยแบบนั้น เวลาผ่านไปอีกปีหนึ่งทั้งคู่ก็เป็นเพื่อนสนิทกันมาก ๆ แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะถึงขั้นที่จะได้ “ฝากชีวิต” คือฝากผีฝากไข้อยู่ด้วยกันแบบคู่ผัวตัวเมีย
คนที่เคยอ่านวรรณคดีเรื่องสังข์ทองตอนนางรจนาเลือกคู่ คงจำวลีที่ว่า “เห็นรูปทองอยู่ข้างใน” นั้นได้ แล้วทั้งคู่นั้นเห็น “ทอง” อะไรในตัวกันและกัน ที่ทำให้ชีวิตคู่ของทั้งสองคนนี้ดูราบรื่นและมั่นคงมาได้อย่างยาวนาน?