ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต

“ในความเป็นชีวิตหนึ่ง...หากใครก็ตามได้มีโอกาสเรียนรู้ กระทั่งเกิดผัสสะต่อความเรียบง่าย...ชีวิตนั้นย่อมเป็นสุขได้ด้วยจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์...นัยของความเรียบง่ายนั้น หาใช่ “ความยากไร้” ...หาใช่ความตระหนี่ถี่เหนียว หรือ เป็นการปฏิเสธตัวเอง..

แต่อย่างใดไม่..แต่แท้จริงแล้ว..มันคือการฟื้นฟูสุขภาวะ ในท่ามกลางความมั่งคั่งทางวัตถุ..ซึ่งขาดแคลนด้านจิตวิญญาณมากขึ้นในทุกๆวัน..ความเรียบง่ายจะทำให้เรา มีชีวิตที่วุ่นวายน้อยลง..มีความเครียดที่น้อยกว่าใครอีกหลายคนบนโลกนี้ที่กำลังประสบชะตากรรมอยู่..ท่ามกลางสังคมบริโภคที่ผู้คนต่างใช้ชีวิตกันอย่างบ้าคลั่ง..เหตุนี้..เราจึงสมควรที่จะต้องปฏิเสธ..ความรู้สึกที่ว่าตัวเองขาดแคลน จำเป็นที่จะต้องมีสิ่งจำเป็นใหม่ๆอยู่เสมอ..หรือเช่นเดียวกับ การมุ่งหวังที่จะมีชีวิต อย่างสมถะจนไม่เข้าใจถึงเนื้อแท้ของความสุข”

ทั้งหมดนี้..คือต้นรากแห่งสาระของหนังสือที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าต่อการรังสรรค์ภาวะชีวิตอย่างสร้างสรรค์ในสังคมบริโภคดั่งทุกวันนี้.. “ความเรียบง่ายไร้กาลเวลา” (Timeless Simplicity: Creative Living in a Consumer Society) ผลงานเขียนของ.. “จอห์น เลน” (John Lane) ศิลปิน นักการศึกษา และ นักเขียนความเรียง ผู้ได้ดำเนินชีวิตจวบจนวาระสุดท้าย ตามสาระที่ถ่ายทอดอยู่ในหนังสือของเขา..ไม่ว่าจะเป็น..ความเรียบง่ายไร้กาลเวลา/ความงามข้ามกาลเวลา/ต้นไม้สายใยชีวิต/ศิลปะกับความศักดิ์สิทธิ์/ความเงียบ/และ..สู่วัยชราอย่างมีศิลปะ/... “การเลือกที่จะมีชีวิตที่เรียบง่าย..หรือการปล่อย ให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยตัวมันเองนั้น..เป็นเรื่องของความสมัครใจ เป็นเรื่องที่ต้องเลือกทำกันเอง..ไม่ใช่ใครจะสั่งให้ใครทำกันได้..ข้าพเจ้าเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้น เมื่อเกิดความรู้สึกไม่แค่เอือมระอา แต่ขาดความพอใจ ทั้งๆที่ได้รับสิ่งตอบแทนอย่างมากมาย..”

คำถามสำคัญ ณ ที่นี้ก็คือว่า...ทำไมคนบางคนถึงเลือกที่จะมีชีวิตไม่ซับซ้อน..มีความตื่นเต้นหรือวุ่นวายน้อยลง..ความเรียบง่ายอย่างเต็มใจของหนังสือเล่มนี้ระบุว่า..มันคือความพยายามที่จะตอบคำถาม ทั้งในแง่ของการหาหนทางสร้างความพอใจอันใหญ่หลวงให้แก่ตน รวมทั้งการล่วงละเมิดชีวิตบนโลกอย่างไม่ยับยั้ง..

โดยทั่วไปแล้ว..เป็นที่ทราบดีว่า...ในสังคมทุนนิยม มักจะให้ค่าเงินตราว่าเป็นสิ่งมีค่าสูงสุด..ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะนิยามกันว่า..เป้าหมายทางเศรษฐกิจคือผลตอบแทนสูงสุดที่ได้รับ..เหตุนี้..บรรทัดฐานทางวัฒนธรรมที่นิยมกัน จึงมุ่งกระตุ้นการแข่งขัน และ ลัทธิปัจเจกชนนิยม ..การบริโภค ระดับรายได้ ราคาหุ้น รายได้ประชาชาติ จึงกลายเป็นมาตรวัดความก้าวหน้า..และ ความสำเร็จ หลักฐานนี้..จะเห็นได้จากข้อเท็จจริงที่ว่า..แต่ละวันจำนวนเงินมากกว่าสองแสนล้านดอลลาร์ จะหมุนเวียนไปทั่วโลกเพื่อมุ่งแสวงหากำไร ที่จะได้มาอย่างรวดเร็ว..

“อาคารสูงที่สุดในนครลอนดอน ไม่ใช่มหาวิหารอีกแล้ว แต่กลายเป็นอาคารพาณิชย์..ในวัฒนธรรมที่ใช้เงินเป็นตัวตั้ง ทุกคนจำเป็นต้องใช้เงินเป็นตัวกลางสำคัญในการแลกเปลี่ยน เพื่อที่จะซื้อหาสิ่งจำเป็นในชีวิต อย่างเช่น ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า หรือ อาหาร..

แต่ถ้าคุณไม่พอใจกับชีวิตที่คุณเป็นอยู่..รู้สึกว่าคุณขาดบางสิ่งที่คุณไม่อาจให้คำนิยามแก่มันได้..และกำลังมองหาความยินดีน่าพอใจที่ประเสริฐกว่านั้น..สิ่งที่ข้าพเจ้าเรียกว่า.. “มีชีวิตอย่างเรียบง่าย” อาจทำให้คุณสนใจได้..และ ถ้าอย่างนั้น การมีชีวิตอย่างเรียบง่าย หรือ ความเรียบง่ายอย่างเต็มใจ คืออะไร?”

ว่ากันว่า...ความเรียบง่ายอย่างเต็มใจ เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขทั้งภายในและภายนอก..มันหมายถึงความตั้งใจอย่างแน่วแน่ ความซื่อสัตย์ และ ความจริงใจภายใน พร้อมๆกับหลีกเลี่ยงความวุ่นวายภายนอก หลีกเลี่ยงการครอบครองหลายสิ่งหลายอย่าง..ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายสำคัญของชีวิต.. มันหมายถึงการจัดระเบียบและโน้มนำพลังและความอยากของเรา..การต้องสำรวมในบางทิศทาง..เพื่อชีวิตจะได้รับความอุดมสมบูรณ์ในอีกด้านหนึ่ง..มันจักเกี่ยวข้องกับการปลดปล่อย..การจัดการชีวิตเพื่อเป้าหมายบางอย่าง..

แต่ละคนนั้น..ย่อมมีเป้าหมายในชีวิตที่แตกต่างกัน กับเป้าหมายของอีกคน...ดังนั้น..ระดับของความเรียบง่ายจึงเป็นเรื่องของปัจเจก แต่ละคนที่จะต้องจัดการกันเอาเอง..ประเด็นแห่งสำนึกคิดดังกล่าวนี้..อุบัติขึ้นตั้งแต่ปี..ค.ศ.1936..แต่การปฏิบัตินั้นมีมาเนิ่นนาน และ เก่าแก่กว่านั้นมากมายนัก...มันมีมานานอย่างไร้กาลเวลา..การลดละความอยากเป็นคุณธรรม ที่ทั้งชาวพุทธ ชาวคริสต์ ผู้นับถือลัทธิเต๋า ชาวมุสลิม ชาวสโตอิก และชาวเอสซีน ยอมรับกัน.. ท่านนบีมูฮัมหมัด ..แห่งศาสนาอิสลาม ระบุว่า.อิสลามไม่ห้ามการค้า..และการแสวงหากำไร..แต่เน้นย้ำในเรื่องของการบริจาค ..

นอกจากนั้นก็ยังมีผู้ปฏิบัติในแนวทางนี้อีกหลายท่าน.อย่าง..นักบุญฟรานซิส แห่งอัชสิสิ..คานธี..ออริเกน...วิทเฮ็นนสไตน์ และ โดเฮ็น อาจารย์เซนชาวญี่ปุ่น ซึ่งต่างมีความเชื่อศรัทธาในลักษณะนี้..เช่นเดียวกับ เจ้าชายสิทธัตถะ และ พระเยซูคริสต์..ซึ่งบรรดาพวกท่านเหล่านี้..ล้วนใช้ชีวิตอย่างสมถะ..จนแทบไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า..ชีวิตของเหล่าพวกท่านเต็มเปี่ยมน้อยไปกว่าบุคคลในยุคสมัยปัจจุบัน อย่างเช่น โดนัลด์ ทรัมป์ รูเพิร์ต เมอร์ด็อค อกา ข่าน หรือ ดยุคแห่ง เวสมินเตอร์..ชีวิตของบุคคลที่ได้กล่าวถึงมา..ล้วนไม่ซับซ้อนวุ่นวาย ไม่ฟุ่มเฟือย แต่ไม่ได้หมายความว่า ท่านเหล่านี้ขาดความพอใจ..ท่านเหล่านี้ต่างมีความสุขที่อิ่มเอิบทุกท่าน..

เท่าที่ปรากฏ ศาสดาของศาสนาใหญ่ๆ และ สาวกของท่าน จะไม่สร้างความสุขภายใน ด้วยของนอกกาย..แต่มุ่งหวังความเต็มเปี่ยมในจิตใจ..เหมือนเช่น..ปราชญ์คนสำคัญและนักทดลองชีวิต “เฮนรี เดวิด ธอโร” ได้เขียนไว้ในหนังสือเล่มสำคัญและมีชื่อของเขา “วอลเดน”..เอาไว้อย่างน่าพินิจพิเคราะห์ว่า..

“ไม่มีใครอีกแล้วในโลก ที่ภายนอกจะยากจนไปกว่า นักปรัชญาโบราณ ไม่ว่าชาวจีน ชาวฮินดู เปอร์เซีย หรือ กรีก แต่..ภายในจิตใจท่านเหล่านั้น มั่งคั่งอย่างไม่มีใครเทียบ ..ไม่มีใครที่จะสังเกตชีวิตมนุษย์ได้อย่างเที่ยงธรรม ถ้าเขาไม่มองไปจากจุดที่เรียกว่า.. “ความพอใจที่จะยากจน...”

“จอห์น เลน” ได้แสดงทัศนะที่น่าใส่ใจต่อการดำรงอยู่ว่า.. ควาามเต็มใจที่จะเรียบง่ายนั้น ไม่ใช่ความอ่อนแอ ไม่ใช่ความยากไร้สิ้นหวังในเชิงของความขัดสน และไม่ใช่ความเรียบง่ายประเภท “กลับสู่ผืนดิน” ที่สมาชิกยังชีพอยู่บนที่ดินแปลงเล็กๆของตนเอง...มันจะไม่เกี่ยวกับหลักการผลประโยชน์ร่วมกัน หลักการใดหลักการหนึ่ง ไม่ใชอุดมคติ แต่เป็นแนวโน้มทางศีลธรรมและปัญญา ซึ่งเป็นวิญญาณแห่งยัคสมัย และแท้ที่จริง ความเต็มใจเรียบง่ายไม่เกี่ยวกับอุดมคติอะไรเลย..จิตวิญญาณนี้หมายรวมถึงการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย พึ่งตนเอง ดั่งเเนวทางของ “ธอโร” การยึดมั่นอยู่กับ “การเต็มใจเรียบง่าย” นับเป็นสิ่งสำคัญ..มันคือหลักการที่ไม่ได้ปฏิบัติกันอย่างชนิด..ต่างระดับ แต่จักต้องเท่าเทียมกัน รวมทั้งจะต้องมั่นคงด้วยภาวะของจิตสำนึกอีกด้วย..

“เต็มใจเรียบง่าย” ...บอกนัยยะว่า..ในแง่ของของการปฏิบัตินั้น ต้องรวมถึงการตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตให้เรียบง่ายขึ้น และต้องทำอย่างเต็มใจ..โดยหันหลังให้กับความยุ่งเหยิงวุ่นวายที่ไม่จำเป็น หันหลังให้กับการทำงานที่น่าเบื่อ..งานที่ทำเพื่อหวังมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้น..ซึ่งมันก็ได้สูญเสียความหมายดั้งเดิมไปเสียแล้ว.. เพียงแต่ให้เราตั้งใจใหม่..โดยหันไปสู่ชีวิตที่ดูเผินๆในภายนอก ก็เป็นเสมือนว่า..มันคือเครื่องธรรมดาๆ..ตัวอย่างเช่น..มีความสุขกับการทำสวน การเดิน การปั่นจักรยาน การอ่านหนังสือ การฟังดนตรี การทำขนมปัง หรือ การสนทนากับกัลยาณมิตร..ซึ่งการกระทำเหล่านี้..จะเสียค่าใช้จ่ายไม่มาก ไม่ต้องการ การดูแลรักษาที่ยุ่งยากซับซ้อน..แต่เป็นการใส่ใจต่อความจำเป็นในชีวิตซึ่งไม่อาจแยกจากวัฒนธรรมแห่งชีวิต และเป็นสิ่งที่ให้ความสุขสบายใจ ที่ต้องใส่ใจต่อคุณค่าทางจิตวิญญาณของมนุษย์..

ดั่งนี้..การดำเนินชีวิตเรียบง่ายด้วยความเต็มใจนั้น..จึงคือการแสดงออกถึงเสรีภาพของมนุษย์ ในการที่จะเลือกยิ่งกว่าทำตามคำสั่ง..ยิ่งกว่าจะเดินตามลัทธิบริโภคนิยมที่ครอบงำเราอย่างไม่หยุดยั้ง..เป็นการเลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างมีสติมากขึ้น มีส่วนร่วมกับชีวิตโดยตรงด้วยหัวใจ..การได้ลิ้มรสและสัมผัสสิ่งต่างๆอย่างแท้จริง..ประสบการณ์ในปัจจุบันขณะ ความสุขที่ได้รับจากการทำงานอย่างสร้างสรรค์..

ทว่า..การเสียโอกาสที่จะได้รับประสบการณ์เช่นนี้..จะเปิดช่องทางให้ความเบื่อหน่ายรุกล้ำเข้ามาในหัวใจมนุษย์ได้อย่างมีชั้นเชิงแนบเนียน..และ ในตอนนั้นแหละ ที่เราจะรู้สึกอยากเติมเต็มช่องว่างนี้ ด้วยสิ่งทดแทนที่ทำให้สบายใจ..เช่น..เสื้อผ้าใหม่ๆ เกมใหม่ๆ หรือ วันหยุดพักผ่อน ซึ่งบังคับให้เราต้องออกไปจับจ่ายใช้เงินอยู่เป็นประจำ.. “การซื้อเพื่อบำบัดโรค” หรือ...สิ่งที่คอยผลักดันให้เราออกไปซื้อของอยู่เป็นประจำ..คือความเบื่อ..หาใช่ความอยากได้สิ่งของ..และ นี่คือ..ความพยายามที่จะเติมเต็มชีวิตที่ขาดความอิ่มเอิบพอใจ..

“ประสบการณ์บอกข้าพเจ้าว่า..ยิ่งเราสูญเสียพลังชีวิตมากเท่าไร..เราก็ยิ่งต้องพึ่งพิงความสุขเล็กไปน้อยๆมากเท่านั้น..

 แต่เราต้องตีให้แตกว่า..ความสุขนั้นหมายความว่าอย่างไร?”

ที่สุดแล้ว..คนเราทุกคนจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้เพื่อที่จะเป็น..ผู้ที่มีชีวิตอย่างเต็มเปี่ยม หรือ ผู้ที่พอใจในชีวิต อันหมายถึง..ผู้ที่ได้สำรวจศักยภาพของตนเอง..เมื่อได้สำรวจตนเองก็จะเห็นชีวิตที่มั่งคั่ง ชีวิตที่รู้จักตัวเองด้วยความพอใจ..ส่วนคนที่ขาดความพอใจในชีวิตนั้น มักจะต้องพึ่งพิงสิ่งอื่น..สิ่งกระตุ้นจากภายนอกจนเกินพอดี..การต้องพึ่งพิงสิ่งภายนอก การพึ่งพิงกลุ่มเพื่อความมั่นใจ การพึ่งพิงกับสิ่งลวงล่อของชีวิตสมัยใหม่..เหล่านี้คือ “ลักษณะสภาพจิตใจบริโภคนิยม”..

มันเป็นความจำเป็นที่จะต้องเน้นย้ำว่า..ความเรียบง่ายอย่างเต็มใจนั้น..ไม่ใช่การยอมรับมาตรฐาน..เพราะความเรียบง่ายไม่อาจวัดกันได้ด้วยจำนวน เช่นบอกไม่ได้ว่า ต้องมีรายได้เท่าไร..หากแต่มันเป็นเรื่องของจิตใจ..ไม่ใช่ใบสั่งตามมาตรฐานที่สมบรูณ์ที่สุด..คนที่เลือกจะใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย จึงมักต้องหาวิธีซึ่งเป็นทางสายกลางระหว่างความขาดแคลนกับความมั่งคั่ง..โดยจักต้องเน้นที่ความรู้จักประมาณ เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ..จักต้องแสวงหาชีวิตที่มี่มีดุลยภาพ ชีวิตที่ไม่แค่คุ้มครองจิตใจ หรือ..กระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์ และ มีส่วนช่วยเหลือสังคมที่ดีเท่านั้น แต่พร้อมๆกันนั้น จะต้องทำการช่วยเหลือกัน แก้ไขวัฒนธรรมที่มุ่งครอบครองวัตถุมากเกินไป หมกมุ่นอยู่กับการปล่อยใจตามกิเลสมากกว่าจะคำนึงถึงผลของการใช้ชีวิตอย่างเสเพล ฟุ่มเฟือย

“ความเรียบง่ายอย่างเต็มใจ เป็นวิถีสู่การดำรงชีวิตที่มีความสะดวกสบายแต่ไม่ฟุ่มเฟือย.. “สมถะแต่ไม่ตระหนี่”

..เป็นชีวิตที่ดีงามแต่ไม่น่าเบื่อ..เป็นวิถีของผู้ที่ไม่ยึดอยู่กับการแบ่งแยกระหว่างชีวิตกับการงาน..ระหว่างศิลปะกับกิจกรรมของชีวิตในแต่ละวัน..เหมือนอย่างที่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางชอบแบ่งแย่งกัน..”

“สดใส ขันติวรพงศ์” นักแปลอาวุโสผู้ล้ำลึกในศาสตร์แห่งความเป็นชีวิต..แปลผลงานอันงดงามด้วยจิตวิญญาณนี้ออกมา อย่างเต็มไปด้วยพลังของคุณค่า..มันเต็มไปด้วยความเข้าใจในแก่นสารของการวางรากฐานของชีวิต....

“...จอห์น เลน” ..ได้พรากจากชีวิตไป..กว่าทศวรรษหนึ่งแล้ว  แต่เนื้องานอันเกี่ยวเนื่องกับจิตใจของเขายังคงอยู่ เป็นผัสสะอันดิ่งลึกสู่บทเรียนของความหมายแห่งตัวตน..ในนามของ “ศิลปะแห่งชีวิต”..โครงสร้างแห่ง สำนึกคิด..จิตใจ..และ มวลอารมณ์.. เป็นคำสอนซ้อนคำสอนของ..ความหมายอันแท้จริงของการมีชีวิตอยู่..เรียบง่าย..และเต็มใจ!..

“การมีชีวิตเรียบง่ายไม่ได้หมายถึง..การกระทำที่สุดโต่ง ไม่มีทฤษฎีกำหนด..แต่การมีชีวิต..คือการเดินทางเพื่อการค้นพบ ซึ่งในการเดินทางเช่นนี้ อาจรวมถึง..การฟังดนตรี..การรับประทานอาหารกับเพื่อนๆ ..การทำผลไม้กวน..หรือ..การเจริญสติ..”