วันที่ 16 พ.ย.66 ที่สำนักงานอัยการสูงสุดนายณรงค์ ศรีระสันต์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดเปิดเผยว่า สำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินงานเชิงรุกให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและประสานงานเรื่องต่าง ๆ แก่ครอบครัวแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลตามนโยบายเร่งด่วนของอัยการสูงสุด โดยช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบไปแล้วกว่า 800 ราย
วันที่ 16 พ.ย.66) ที่สำนักงานอัยการสูงสุด นายณรงค์ ศรีระสันต์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า หลังจากสำนักงานอัยการสูงสุดได้มีหนังสือแจ้งแนวทางการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยและครอบครัว ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล ตามนโยบายเร่งด่วนของนายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด ที่มอบหมายให้สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย แก่ประชาชน (สคช.) ทำงานเชิงรุกในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งปรากฏว่ามีแรงงานไทยจำนวนมากได้รับผลกระทบโดยตรงมีทั้งกรณีเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บ และยังมีครอบครัวของแรงงานไทยที่ต้องได้รับผลกระทบทางอ้อมอีกด้วย โดยกรณีดังกล่าวอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี (อจ.คช.) ทุกจังหวัดจำนวน 76 แห่ง และ สคช.จ. สาขา จำนวน 36 แห่งทั่วประเทศ ได้ประสานงานกับจังหวัดเพื่อทราบชื่อและที่อยู่ของแรงงานไทยที่ไปทำงานประเทศอิสราเอลในเขตพื้นที่รับผิดชอบว่ามีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวหรือไม่ จากนั้นพนักงานอัยการได้ลงพื้นที่ไปเยี่ยมบ้านแรงงานดังกล่าวและเร่งให้ความช่วยเหลือตามแนวทาง ที่สำนักงานอัยการสูงสุดได้วางไว้ และรายงานผลการดำเนินการให้ความช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่อง
โดยมีภาพรวมของการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยและครอบครัวในกรณีความเดือดร้อนด้านต่าง ๆ เช่น กรณีแรงงานไทยที่เสียชีวิต ได้ประสานงานเรื่องการจัดตั้งผู้จัดการมรดกจนแล้วเสร็จ และหากมีหนี้สินในระบบหรือนอกระบบพนักงานอัยการจะให้ความช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ให้กับแรงงานไทยหรือครอบครัวด้วย กรณีได้รับบาดเจ็บจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้รับสิทธิตามกฎหมายหรือสิทธิจากสัญญาประกันภัยที่ลูกจ้างเอาประกันเองหรือนายจ้างเอาประกันให้ กรณีแรงงานกลับมาแล้วไม่มีงานทำมีความกังวลว่าจะขาดรายได้ สำนักงานอัยการสูงสุดได้ให้คำแนะนำและช่วยประสานสำนักงานจัดหางานจังหวัดสำนักงานแรงงานจังหวัด สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องที่เพื่อช่วยหางานใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ได้เร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งสิทธิประโยชน์ที่แรงงานจะได้รับกรณีต้องเดินทางกลับเนื่องจากภาวะสงครามดังกล่าว เช่น เงินสงเคราะห์ก่อนครบกำหนดสัญญาจ้างคนละ 15,000 บาท และเงินที่รัฐมอบให้ คนละ 50,000 บาท รวมทั้งสิทธิในการกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน ได้คนละ 150,000 บาท (โดยเงื่อนไขพิเศษ) ผ่อนชำระ 20 ปี และกรณีอื่น ๆ ซึ่งได้พิจารณาให้ความช่วยเหลือตามความเหมาสม โดยมีแรงงานไทยจากประเทศอิสราเอล และครอบครัวมาขอรับความช่วยเหลือในภาพรวมจากทั่วประเทศ จำนวน 880 ราย (ข้อมูลถึงวันที่ 16 พ.ย. 2566) ดังนี้
โดยมีพื้นที่ และจำนวนผู้ขอรับความช่วยเหลือ (ราย)สำนักงานอัยการภาค 1จำนวน 24ราย สำนักงานอัยการภาค 2 จำนวน62รสบสำนักงานอัยการภาค 3 จำนวน 147รายสำนักงานอัยการภาค 4 จำนวน 287รสยสำนักงานอัยการภาค 5 จำนวน 157รายสำนักงานอัยการภาค 6 จำนวน142รายสำนักงานอัยการภาค 7 จำนวน28รายสำนักงานอัยการภาค 8 จำนวน 28 รายสำนักงานอัยการภาค 9 จำนวน5 รายรวม 880ราย
นายณรงค์ กล่าวอีกว่าช่วงนี้รัฐบาลได้ประกาศเชิญชวนให้แรงงานไทยที่ยังอยู่ในประเทศอิสราเอลเดินทางกลับมาประเทศไทยก่อนเพื่อความปลอดภัย หากท่านใด ที่ซื้อตั๋วเครื่องบินเดินทางกลับเองก็สามารถนำหลักฐานมาเบิกจากทางราชการได้ หรือหากต้องการความช่วยเหลือก็สามารถร้องขอได้ที่สถานกงสุลไทย นอกจากนี้ แรงงานไทยและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอลยังสามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือทางกฎหมายจากสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนและการบังคับคดีจังหวัด (สคช.จ.) และสาขาทั่วประเทศได้ หรือติดต่อขอรับคำปรึกษาทางกฎหมายเบื้องต้นได้ที่ สายด่วน 1157