ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย

ช่วงนี้ดูเหมือนชาวโลกจะลืมเลือนสงครามรัสเซีย-ยูเครน ไปเกือบหมด สังเกตได้จากการเลือนหายไปของหัวข้อข่าวในสื่อทั้งหลาย

ทั้งนี้เพราะมันเกิดสงครามในตะวันออกกลางถ้าจะพูดให้ถูก คือ การสู้รบระหว่างฮามาส-อิสราเอล ซึ่งทำให้สหรัฐฯต้องรีบเร่งส่งกำลังทหาร อาวุธ และเงินช่วยเหลือโดยรีบด่วน เนื่องจากอิสราเอลมีอิทธิพลสูงต่อการเมือง การเงิน และสื่อต่อรัฐบาลสหรัฐฯ

แต่สหรัฐฯ ก็คงไม่อาจปล่อยให้จีนขยับขึ้นมาเป็นภัยคุกคามอินโดแปซิฟิก โดยเฉพาะที่ไต้หวัน ซึ่งสหรัฐฯถือว่าเป็นหมากสำคัญในการกดดันภัยคุกคามจากจีน ทั้งด้านจุดยุทธศาสตร์ทางทหาร และการลงทุนด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งในแง่เศรษฐศาสตร์การเมืองมันคือกุญแจควบคุมการเติบโตทางเทคโนโลยีของจีนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมทหาร

ในด้านการเงินจากนี้ไปหนึ่งเดือนสภาสูงและสภาผู้แทนสหรัฐฯกับฝ่ายบริหารจะต้องต่อรองกันอย่างหนักเรื่องการจัดสรรงบประมาณไปสนองตอบยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของสหรัฐฯ ในสงคราม 2 ด้าน กับสงครามในอนาคตตามวิสัยทัศน์ของสหรัฐฯอีกหนึ่งด้าน นี่ยังไม่นับปัญหาชายแดนใต้กับปัญหาในเมียนมาที่กำลังปะทุรุนแรงขึ้นมาในขณะนี้

ตามข้อมูลสหรัฐฯจัดเงินให้ยูเครน 61.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้อิสราเอล 14.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคง เฉพาะกรณีของอิสราเอลสหรัฐฯต้องใช้เงินอุดหนุนปีละ 3 พันล้านดอลลาร์และกำลังเพิ่มเป็น 4 พันล้านดอลลาร์ จึงเป็นภาระสูงสำหรับประชาชนผู้เสียภาษี แต่เป็นประโยชน์ยิ่งต่ออุตสาหกรรมการผลิตอาวุธ

อย่างไรก็ตามสภาผู้แทนฯที่มีพรรครีพับลิกัน คุมเสียงข้างมากไม่เห็นด้วยกับส่วนเพิ่มนี้ เพราะมันเหมารวม แต่ต้องการให้แยกงบสนับสนุนออกไปเป็นรายๆ โดยให้ตรวจสอบการเงินช่วยยูเครนใหม่ เพราะต้องการรู้แหล่งที่มาของเงินช่วยเหล่านั้น

แต่ประธานาธิบดีไบเดน ยืนยันว่าจะวีโต้ร่างพ.ร.บ.เงินช่วยเหลือที่เสนอโดยรีพับลิกัน และสภาสูงก็ยืนยันว่าต้องทำเป็นแพ็กเกจ โดยรวมเงินช่วยเหลืออิสราเอลและไต้หวันเข้าไปด้วย

อนึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็ได้มีการประกาศจะให้เงินช่วยเหลือทางทหารยูเครน เป็นเงินรวม 425 ล้านดอลลาร์ ตามโครงการ PDA ที่เป็นอำนาจทางประธานาธิบดี

ทว่าในกรณีเงินช่วยเหลืออิสราเอลนั้นง่ายดาย โดยไม่มีข้อโต้แย้งโดยเฉพาะจากพรรครีพับลิกัน ส่วนในเดโมแครตก็ไม่รู้มีปัญหาแม้จะมีผู้สนับสนุนปาเลสไตน์ที่จะคัดค้านก็เป็นเสียงส่วนน้อย มีแต่จะให้เพิ่มรวมทั้งโครงการร่วมมือผลิตและพัฒนาอาวุธร่วมกัน

ดังนั้นเงินช่วยเหลือของสหรัฐฯต่ออิสราเอล จึงจะผ่านฉลุยและน่าจะเป็นก้อนรวมกับเงินช่วยยูเครนและไต้หวัน เพื่อให้การช่วยเหลืออิสราเอลดูมีน้ำหนัก แม้ว่าเมื่อวันที่ 3 พ.ค.สภาผู้แทนได้อนุมัติเงินช่วยเหลืออิสราเอลไปแล้ว 14.3 พันล้านดอลลาร์ อนึ่งประธานวุฒิสภา Chuck Schumer ได้ประกาศล่วงหน้าว่าจะไม่มีการลงคะแนนเสียงในเรื่องนี้ เพราะมันผ่านอยู่แล้ว

สำหรับไทเปแม้ว่าจะขัดแย้งกับ “นโยบายจีนเดียว” ของสหรัฐฯ แต่ก็มีการดำเนินกลวิธีตีสองหน้า ด้วยการจัดตั้งสำนักงานผู้แทนการค้า-การลงทุน ด้วยเหตุผลหลักคือการลงทุนด้านการพัฒนาสินค้าไฮเทค และการวิจัยทางไฮเทคที่ต้องการปิดกั้นจีน โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวกับการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ เช่น ไมโครชิป ขนาดเล็กกว่า 5 นาโนเมตร

ทั้งนี้ตามแผนยุทธศาสตร์ล่าสุดสหรัฐฯถือว่าจีนเป็นภัยคุกคามสหรัฐฯมากกว่ารัสเซีย เพราะเป็นการคุกคามอย่างเป็นระบบ ซึ่งรวมทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และภูมิรัฐศาสตร์ การให้เงินช่วยเหลือหรือลงทุนในไต้หวัน จึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไรใน CAPITOL HILL

อย่างไรก็ตามประเด็นอยู่ที่ว่าสหรัฐฯในสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อย่างในปัจจุบัน สามารถแบกรับภาระการเงินที่หนักหน่วงได้หรือไม่

ลองพิจารณาดูสถานการณ์ในตะวันออกกลาง แม้ว่าอิสราเอลจะเป็นต่อในทางทหาร และได้รับการสนับสนุนทั้งการเงิน การทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ แต่การสู้รบของอิสราเอลนั้นใช้อาวุธที่มีราคาสูง เช่น การป้องกันทางอากาศจากจรวดราคาถูกของฮามาส กับไอร่อนโดม ที่มีราคาแพง ตลอดจนอาวุธอื่นๆหากยิ่งทำสงครามยืดเยื้อ เศรษฐกิจอิสราเอลที่ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว เพราะเงินเฟ้อสูง จะทำให้อิสราเอลยิ่งเป็นภาระของสหรัฐฯมากขึ้น

ในขณะที่กลุ่มประเทศมุสลิม แม้รัฐบาลจะไม่อาจเปิดหน้าทำสงครามโดยตรงกับอิสราเอล แต่แรงกดดันจากประชาชนในประเทศจะทำให้กลุ่มประเทศมุสลิมต้องทำบางอย่างเพื่อสนับสนุนฮามาสให้คงสภาพที่จะทำการรบต่อไป ในรูปแบบจรยุทธ์ รวมทั้งกองกำลังติดอาวุธที่มีอยู่จำนวนไม่น้อย แยกแยะ เป็นกลุ่มย่อยๆก็จะปฏิบัติการก่อกวนฐานทัพ สหรัฐฯ ไม่หยุดหย่อน

รัสเซียเองในฐานะพันธมิตรกับซีเรีย ก็คงจะต้องแสดงบทบาทปกป้องดามัสกัสมากกว่าที่เป็นอยู่ แม้จะประกาศเป็นกลางก็ตาม

ด้านสงครามยูเครนประเทศที่โล่งอกที่มันถูกกลบด้วยการสู้รบฮามาส กับอิสราเอลก็ได้พักหายใจ เพราะเศรษฐกิจย่ำแย่ จึงเป็นภาระเดี่ยวของสหรัฐฯที่ต้องสนับสนุน และยุทธศาสตร์การทำแซงก์ชัน รัสเซีย ก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะเศรษฐกิจรัสเซียยังโตได้ 2.5% เงินเฟ้อก็ลดลง ตรงข้ามยุโรปที่กระอักต่อผลของการแซงก์ชัน

ถ้ายูเครนจะขยายการรบเพื่อทำลายแนวต่อต้านของรัสเซีย มันก็จะเป็นภาระที่หนักขึ้นต่อสหรัฐฯอย่างแน่นอน เพราะการรบอย่างโฉบฉวยด้วยโดรนไม่อาจยึดดินแดน 5 รัฐคืนได้ สุดท้ายจะเป็นอย่างจอร์เจียหรือไม่

เรื่องไต้หวัน การเลือกตั้งปลายปีนี้จะเป็นเครื่องชี้ชะตาหากพรรค ก๊กมินตั๋ง ได้เป็นรัฐบาล อาจประกาศตัวรวมกับจีน ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการจลาจลในประเทศ จีนกับสหรัฐฯก็จะต้องเผชิญหน้ากัน นั่นก็หมายถึงการระดมสรรพกำลังในการสู้รบอันรวมถึงภาระที่หนักหน่วงทางเศรษฐกิจอีกด้วย

นี่ยังไม่นับการเผชิญหน้ากันอย่างรุนแรงในเมียนมาร์ระหว่าง สหรัฐฯ -อินเดีย และจีน-รัฐบาลทหาร จนทำให้สหรัฐฯต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพราะไม่อาจโยนภาระให้อินเดียอย่างเดียว ซึ่งทางอินเดียนั้นไม่มีจุดยืนแน่นอน แต่คำนึงแต่ผลประโยชน์ที่ตนจะได้รับ เช่น เวลานี้ถอนตัวจากธนาคาร BRICS แต่ยังคงเป็นสมาชิกไปอยู่กับ SCO แต่ก็ยังไปร่วมกับ QUAD ล่าสุดก็ประกาศเข้าข้างอิสราเอล โดยไม่สนใจมติของสหประชาชาติที่ต้องการให้หยุดยิง เพื่อการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม

จุดจบของจักรวรรดินิยมในการขยายอำนาจจนเกินกำลังก็คงจะเกิดขึ้นอีกไม่นานนี้ ปัญหาคือก่อนจบบทบาทจะสร้างสงครามโลกขึ้นด้วยไหม