Smart Living Unit “ZEN model” ต้นแบบบ้านแห่งอนาคตที่ประหยัดพลังงานและอยู่สบาย ควบคุมด้วยระบบดิจิทัล เชื่อมโยงทุกอุปกรณ์ในบ้านด้วย Home IoT ผลงานวิจัยของคณะสถาปัตย์ฯ ร่วมกับวิศวฯ จุฬาฯ และ Panasonic Solutions (Thailand) Co., Ltd. เพื่อความเป็นอยู่ที่สบาย ประหยัดค่าไฟ ลดการใช้พลังงานและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน การเปิดแอร์ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส อาจไม่ใช่วิธีการประหยัดพลังงานที่ดีที่สุด และไม่ใช่อุณภูมิที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคนไทย!

ผศ.ดร.เทิดศักดิ์ เตชะกิจขจร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยข้อมูลจากโครงการวิจัย “บ้านประหยัดพลังงานต้นแบบ Smart Living Unit “ZEN model” ที่ท้าทายแนวปฏิบัติที่หลายคนเชื่อและทำอยู่เพื่อร่วมประหยัดพลังงานไฟฟ้าและค่าใช้จ่าย การเปิดแอร์ที่อุณหภูมิ 26 องศาเซลเซียสขึ้นไป และเพิ่มการหมุนเวียนของอากาศภายในห้อง เช่น เปิดพัดลม จะช่วยให้ร่างกายสบายขึ้นและประหยัดค่าไฟได้มากกว่า จากการวิจัย เราพบว่าการปรับอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะช่วยประหยัดพลังงานแอร์ได้ถึง 10% หรือแม้แต่การเปิดแอร์ที่อุณหภูมิ 29 องศาเซลเซียส เมื่อไม่มีคนอยู่ภายในห้อง จะประหยัดมากกว่าการเปิด-ปิดแอร์บ่อยๆ เสียอีก

ตั้งแต่ปี 2565 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ จุฬาฯ และ Panasonic Solutions (Thailand) Co., Ltd. ดำเนินโครงการวิจัย “บ้านประหยัดพลังงานต้นแบบ Smart Living Unit “ZEN model” เพื่อวิจัยหาและสร้างบ้านต้นแบบที่ประหยัดพลังงานและอยู่สบายสำหรับผู้อยู่อาศัยในประเทศไทย โดยปัจจุบัน บ้านต้นแบบ (Prototype) สร้างเสร็จแล้ว ตั้งอยู่บริเวณหน้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และมีผู้สนใจเข้ามาเยี่ยมชมเป็นระยะๆ

บ้านต้นแบบ Smart Living Unit ประกอบด้วย 1 ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องน้ำ และระบบต่างๆ ภายในบ้านถูกควบคุมด้วยระบบดิจิทัล Home IoT (the Internet of Things) ทั้งหมด ปัจจุบัน ยูนิตนี้ใช้สำหรับทดสอบการใช้พลังงานและการสั่งการระบบต่างๆ ภายในบ้าน แต่ในอนาคต เราจะเปิดให้คนเข้ามาทดลองอยู่เพื่อเก็บข้อมูลที่เสมือนจริงขึ้น

ผศ.ดร.เทิดศักดิ์ กล่าวว่า บ้านประหยัดพลังงานต้นแบบนี้เป็น Prototype เพื่อทดสอบความเป็นไปได้ว่าสามารถใช้งานและอยู่อาศัยได้จริง หลังจากนั้นจึงจะคำนวณค่าบริการและค่ากระบวนการในการสร้างบ้านต่อไป บ้านไม่ควรรองรับเฉพาะคนที่มีเงินเท่านั้น แต่ควรจะตอบโจทย์ผู้คนในระดับกลางด้วยเช่นเดียวกัน เราต้องการให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบ้านประหยัดพลังงานและอยู่สบายได้จริงในอนาคต

บ้านต้นแบบประหยัดพลังงาน Smart Living Unit แบบ Zen model นอกจากจะมีการทดสอบเรื่องการประหยัดพลังงานแล้ว ยังมีการทดลองเกี่ยวกับ PMV (Predicted Mean Vote) หรือ “ค่าสภาวะความสบายของคน” ด้วย โดยจะวัดค่าอุณหภูมิ ความเร็วลมของที่อยู่อาศัย และปัจจัยอื่นๆ เช่น ความชื้น การเผาผลาญ (เมทาบอลิซึม) ในร่างกายของผู้อยู่อาศัย กิจกรรมที่ทำ รวมไปถึงเสื้อผ้าที่สวมใส่  และสิ่งที่ท้าทายอีกอย่าง คือการทำให้ระบบควบคุมคุณภาพอากาศ (Indoor Air Quality) ภายในห้องมีความเสถียร ซึ่งทีมวิจัยต้องจัดเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ค้นหาอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสมและสบายที่สุดสำหรับผู้อยู่อาศัย ไม่ว่าภายในบ้านจะมีคนอยู่หนึ่งคน สองคน สามคน อยู่ตอนเที่ยง ตอนเย็น หรือตอนนอน และยังต้องสะท้อนไปที่ค่าไฟว่าจะต้องประหยัดด้วย การสร้างบ้านที่ประหยัดพลังงานไม่เพียงแต่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ยังมีส่วนสำคัญในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ตามโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Bio-Circular-Green Economy Model (BCG) ซึ่งเป็นเรื่องที่จุฬาฯ ให้ความสำคัญและดำเนินการมาตั้งแต่ต้น

“ผมว่าตั้งแต่ช่วงหลังการระบาดของโรคโควิด-19 (Post Covid-19) คนมีความตระหนักมากขึ้นในเรื่องพลังงาน คุณภาพชีวิต และสุขภาพ แทนที่เราจะลงทุนเพียงเฉพาะด้านเทคโนโลยีที่ไกลเกินตัว เราสามารถผนวกความรู้ที่ประยุกต์ได้เลย นำมาจัดการข้อมูลผ่านเทคโนโลยีหรือระบบดิจิทัล เพื่อช่วยให้เราใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยประหยัดเวลา ค่าใช้จ่าย และทำให้การอยู่อาศัยภายในบ้านมีความสบายและมีความสุขยิ่งขึ้น ส่งผลต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยในอนาคต” ผศ.ดร.เทิดศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน คุณสิรินดา มธุรสสุคนธ์ ผู้ประสานงานโครงการ บริษัทพานาโซนิค โซลูชั่นส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า คอนเซ็ปต์ของบ้านต้นแบบ Zen Model จะเป็นที่อยู่อาศัยที่ออกแบบสำหรับพฤตพลัง (ผู้สูงอายุที่ยังมีสุขภาพแข็งแรงอยู่) นอกจากนี้ยังใช้โครงสร้างโมดูลาร์เพื่อความยั่งยืนในการใช้อาคาร ทั้งในด้านความรวดเร็วในการก่อสร้าง รวมไปถึงความสะดวกในการเปลี่ยนแปลงการใช้งาน และสถานที่ในอนาคต บ้านต้นแบบเป็นบ้านกึ่งสำเร็จรูป และที่พิเศษคือมีการออกแบบให้ผนังภายนอกบ้านสามารถเปิดออกได้ เพื่อเปลี่ยนฉนวนกันความร้อน (Insulation) เป็นแบบต่างๆ ทดสอบดูว่าวัสดุกันความร้อนแบบไหนสามารถประหยัดพลังงานได้มากกว่ากัน ที่สำคัญ อุปกรณ์ในบ้านมีทดลองการสั่งการและเชื่อมโยงถึงกันทั้งหมดผ่านระบบ Home IoT  (Internet of Things) ได้แก่ ระบบแอร์ ไฟฟ้า ระบบปรับอากาศ ระบบเสริมอื่นๆ เช่น ม่าน ฯลฯ