นายกฯ ย้ำพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน เดินหน้าแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตเป็นเรื่องจำเป็น ยอมรับพท.-ปชช. กังวลไม่ผ่านวินิจฉัยกฤษฎีดา ทำแผนสะดุด วันนอร์ พร้อมสนับสนุนรัฐบาลเปิดประชุมถกกม.กู้เงิน ด้าน ภูมิธรรม เปิดทำเนียบฯ เชิญ 15 กลุ่ม ภาครัฐ-ประชาสังคม-เอกชน ถกแก้ไขรธน. ก่อนสรุปเสนอรัฐบาลทำประชามติต้นปี 67
เมื่อวันที่ 14 พ.ย.66 เวลา 16.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น ณ นครซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 15 ชั่วโมง ) ที่โรงแรมเดอะริทซ์คาร์ลตัน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์กรณีที่พรรคเพื่อไทยจะเตรียมแผนสำรองหากพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ตเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ผ่านการตีความจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่า ไม่เฉพาะพรรคเพื่อไทยอย่างเดียวที่กังวล แต่ประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัดที่ประสบปัญหาสะสมมาโดยตลอดในเรื่องของจีดีพีที่ไม่เติบโตมานาน ทุกคนมีความเป็นห่วงว่านโยบายนี้จะเป็นอย่างไร ซึ่งตนเคยพูดไปแล้วว่าประเทศไทยอยู่ในสภาพเศรษฐกิจวิกฤติและมีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ถือเป็นนโยบายสำคัญที่เราจะผลักดันให้เกิดขึ้น และมั่นใจว่าจะมีการผลักดันให้เกิดขึ้น
วันนี้โฟกัสเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต และที่ผ่านมารัฐบาลแสดงจุดยืนชัดเจนที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ และมีขั้นตอนชัดเจน อีกทั้งต้องคอยฟังทางคณะกรรมการกฤษฎีกา และขออนุมัติจากรัฐสภา ที่ชัดเจนออกมาด้วย ยืนยันว่าน้อมรับทุกคำแนะนำ หากเกิดอะไรขึ้น เราแก้ไขปรับปรุงได้ และเชื่อมั่นว่านโยบายดิจิทัล วอลเล็ตมีความชัดเจนในการรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย
ด้าน นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เป็นร่างกฎหมายสำคัญของรัฐบาล ดังนั้นอยู่ที่รัฐบาลจะประสานมายังสภาฯ ซึ่งพร้อมให้ความร่วมมือ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ส่งร่างกฎหมายดังกล่าวมาให้สภาฯ พิจารณา หากอยู่ในช่วงปิดสมัยประชุม รัฐบาลสามารถขอเปิดสมัยประชุมวิสามัญเพื่อพิจารณาได้
ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติรักแผ่นดิน เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต.ขอให้ตรวจสอบโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตเข้าข่ายหลอกลวงหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองตามมาตรา 73( 5 ) ( 1 )ประกอบมาตรา 159 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. 2561 หรือไม่ ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ถึง 10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจถูกสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกำหนด 20 ปี
โดยเห็นว่าในช่วงหาเสียงเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยและนายเศรษฐาแคนดิเดตนายกฯของพรรคในขณะนั้น พูดมาโดยตลอดว่าจะไม่มีการกู้เงินมาใช้กับโครงการนี้ แต่จะใช้การบริหารงบประมาณปกติ มีการทำหนังสือที่ลงนามโดยหัวหน้าพรรคเพื่อไทยชี้แจงมายัง กกต. ตามมาตรา 57 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองถึงที่มาของเงินที่จะใช้ ถือเป็นพยานหลักฐานชัดเจน ว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ดำเนินการกู้เงินมาใช้กับโครงการนี้ แต่เมื่อได้เป็นรัฐบาลและนายเศรษฐาในฐานะนายกฯได้แถลงเมื่อเร็วๆนี้ ว่าจะดำเนินการกู้เงินโดยออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท จึงขัดแย้งกับสิ่งที่พรรคเพื่อไทยได้ชี้แจงมายัง กกต.ก่อนหน้านี้ จึงเห็นว่าเข้าข่ายเป็นการหลอกลวง จูงใจให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มาลงคะแนนเสียงให้กับพรรคตนเองหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณา ศึกษาแนวทางในการจัดทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่าง ในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เปิดตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเชิญตัวแทน 15 กลุ่ม จากหน่วยงานรัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน สื่อมวลชน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล และรับฟังความเห็นเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 โดย นายภูมิธรรม กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีบุคลากรจากองค์กรต่างๆ ซึ่งไม่ได้อยู่คณะกรรมการฯ เช่น ไอลอว์ สมัชชาคนจน พีมูฟ ทหาร ตำรวจ และหลายภาคส่วน รวมถึงฝ่ายค้าน อย่างพรรคก้าวไกล และเวทีนี้จะเป็นเวทีสุดท้าย แต่หากข้อมูลไม่เพียงพอก็จะรับฟังข้อข้อมูลเพิ่มเติมได้ ก่อนจะสรุปภายในสิ้นเดือนนี้ ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลจะพยายามดำเนินการให้เร็วที่สุด เชื่อว่าภายในสิ้นปีนี้จะจบได้ ดังนั้นต้นปีใหม่จะได้แนวทางเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ยืนยันว่าการรับฟังความคิดเห็นในส่วนของ ส.ส.และส.ว. คณะกรรมการฯได้รับข้อมูลแล้ว รวมถึงภาคส่วนอื่นๆ ซึ่งจะนำแนวทางที่ได้ศึกษาเสนอรัฐบาลจัดทำประชามติต่อไป
ส่วนกรณีที่พรรคก้าวไกลไม่ให้ความร่วมมือแสดงความคิดเห็นนั้น นายภูมิธรรม กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน ยืนยันว่า คณะกรรมการฯชุดนี้รับฟังความคิดเห็นทุกกลุ่ม และพยายามเดินหน้ารับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายค้าน เพราะทุกอย่างสำคัญหมด แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของคณะกรรมการฯชุดนี้ โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้เสร็จภายใน 4 ปี ของรัฐบาลชุดนี้ และจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ผ่านให้ได้ ส่วนจะต้องแก้ไขกฎหมายประชามติหรือไม่นั้น ขอศึกษาเรื่องนี้ก่อน
ด้าน นายนิกร จำนง ในฐานะประธานอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวเปิดการประชุม ว่า การรับฟังความคิดเห็นในวันนี้ ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อหาทางออก กฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตยทันสมัย และเป็นที่ยอมรับ นอกจากจะเชิญกลุ่มตัวแทนแล้ว ยังมีผู้สังเกตการณ์ เข้าร่วมรับฟังด้วย