“สมศักดิ์” เยี่ยม กองทุนหมู่บ้านฯ จี้ ข้อมูลสถิติตัวเลขผู้กู้เงินพร้อมสถานะการกู้ รอด-ไม่รอด กี่กองทุน ทั้งหมดภายใน 1 เดือน ลั่น ผอ.แต่ล่ะฝ่ายต้องฝังตัวในพื้นที่ถึงรู้ปัญหา ยัน กองทุนหมู่บ้านฯยุคนี้ เน้นประหยัด แต่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายกิตติกร โล่ห์สุนทร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พร้อมมอบนโยบายการดำเนินงาน โดยมีนายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ นายกฤษณ์พีรัช คมสุรศิษฐ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ และผู้บริหารกองทุนหมู่บ้านฯให้การต้อนรับ
โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้เดินทางมาตรวจเยี่ยมกองทุนหมู่บ้านฯ ในฐานะประธานกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ซึ่งตนขอมอบนโยบายให้สั้นๆว่า ลูกค้ากองทุนหมู่บ้าน ต้องมีกำลังใจ มีโอกาส และไม่เป็นหนี้ พร้อมก้าวเดินไปข้างหน้าให้ได้ โดยจากการที่ตนรับฟังการรายงานของผู้อำนวยการฝ่ายต่างๆแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า ยังขาดข้อมูล โดยเฉพาะตัวเลขของผู้กู้กองทุนว่ามีเท่าไหร่ สามารถประกอบอาชีพรอดเท่าไหร่ และไม่รอดเท่าไหร่ ทำให้กองทุนหมู่บ้านฯไม่สามารถ เข้าไปช่วยเหลือได้ ซึ่งเริ่มต้น กองทุนหมู่บ้านฯ ให้เงินกู้ 160,000 ล้านบาท กับ 79,610 กองทุน แต่ปัจจุบัน พบว่า มีจำนวน 66,000 กองทุน ที่ยังมีการส่งงบการเงิน ดังนั้น หายไปจำนวน 13,000 กองทุน ซึ่งจากนี้ กองทุนหมู่บ้านฯ ก็จะต้องลงไปดูว่า กองทุนที่ไม่รอด ด้วยสาเหตุอะไร และเขาทำอาชีพด้านไหน
“จากนี้ ต้องบูรณาการในการทำข้อมูลทั้งหมดว่า กองทุนที่ไม่เป็นหนี้ มีจำนวนกี่กองทุน และเป็นหนี้กี่กองทุน เพราะถ้ายังไม่ทราบตัวเลข ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ดังนั้น เราต้องรู้ ถึงจะสามารถเดินหน้าได้ ซึ่งผมขอแนะนำให้ผู้อำนวยการฝ่ายแต่ละด้าน ไปฝังตัวอยู่ในชุมชนหมู่บ้าน จะได้รับรู้ปัญหาจริง เพราะเราเป็นหน่วยงานพัฒนา โดยจะทำอย่างไรให้ประชาชนหลุดพ้นความยากจน เราต้องรีบดำเนินการ ซึ่งถ้าสิ่งที่เราให้กู้ไปแล้ว แต่ไม่สามารถเอากลับมาได้ ก็แปลว่า เราคิดผิด ก็ต้องมาทบทวนให้ดีว่าจะส่งเสริมอาชีพด้านใด โดยหากคิดไม่ออก ผมขอเสนอให้เลี้ยงวัวก่อน เพราะสามารถคำนวนเป็นตัวเลขได้ และมีเงินใช้หนี้แน่นอน” รองนายกรัฐมนตรี
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากที่ตนติดตามกองทุนหมู่บ้านฯ มองว่า การรวบรวมข้อมูลไม่ใช่เรื่องยาก เพราะมีข้อมูลทั้งหมดอยู่แล้ว จึงต้องบูรณาการร่วมกัน โดยกองทุนฯที่จะออกมาใหม่ อาจไม่เหมือนกับในอดีต ที่ผู้รับผิดชอบอาจจะช่วยหางบประมาณมาช่วย แต่ตนไม่ใช่ เพราะจะมาในลักษณะของความประหยัด และทำให้เกิดประสิทธิภาพ ซึ่งกองทุนหมู่บ้าน มีมาแล้ว 22 ปี จะแก้ปัญหาโดยใช้เงินเป็นหลักไม่ได้ โดยต้องใช้ความคิดและความร่วมมือกัน
นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเพิ่มเติมว่า กองทุนหมู่บ้านฯ ถูกขับเคลื่อนมาแล้ว 22 ปี โดยมีกองทุนที่สามารถเดินหน้าได้ ประมาณ 80% จึงถือว่า เป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จ ส่วนกองทุน กว่า 1 หมื่นแห่ง ที่ไม่สามารถเดินหน้าได้ ตนก็ได้สั่งการให้กองทุนหมู่บ้าน ลงไปดูรายละเอียด เพื่อจะได้ดูว่า สามารถเสริมอาชีพด้านใดได้บ้าง โดยจากนี้ ก็ต้องมาร่วมมือกันว่า จะทำอย่างไรให้ทุกกองทุน สามารถเดินหน้าได้ทั้งหมด ซึ่งฝ่ายวิจัยและพัฒนา ก็กำลังเร่งศึกษาการส่งเสริมอาชีพอยู่ เพื่อให้เหมาะสมกับประชาชน และให้กองทุนสามารถกลับมาเดินหน้าได้
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการประชุมว่า นายสมศักดิ์ ได้ให้ผู้อำนวยการฝ่ายแต่ละด้าน รายงานผลการดำเนินงานเป็นรายบุคคล พร้อมเน้นย้ำว่า ให้ทุกฝ่ายร่วมกันทำข้อมูลทั้งหมด เพื่อจะได้สามารถเข้าไปช่วยเหลือกองทุนที่ไม่รอดได้ โดยให้เวลาในการรวบรวมข้อมูล 1 เดือน และรีบรายงานข้อสรุปทันที เราต้องเร่งทำงานให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามแนวทางของรัฐบาลที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำ