ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง บมจ.ฟอร์ท อีเอ็มเอส “FEMS” เสนอขาย IPO จำนวน 320 ล้านหุ้น เตรียมเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ฯ SET ระดมเงินลงทุนเครื่องจักรใหม่เสริมเทคโนโลยี ขยายกำลังการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มโซลูชั่นครบวงจร พร้อมขยายพื้นที่โรงงานและคลังสินค้า สร้างโอกาสและศักยภาพการแข่งขัน
นายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ APM ในฐานะที่ปรึกษาการเงิน บริษัท ฟอร์ท อีเอ็มเอส จำกัด (มหาชน) หรือ FEMS เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เริ่มนับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ของ FEMS ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 เรียบร้อยแล้ว
โดย FEMS จะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 320 ล้านหุ้น คิดเป็น 28.57% ของจำนวนหุ้นสามัญที่จำหน่ายและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO มูลค่าที่ตราไว้ (Par Value) 0.50 บาทต่อหุ้น และจะนำหุ้นสามัญทั้งหมดเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี หมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ETRON)
นายสุพล ค้าพลอยดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ APM ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยว่า FEMS มีจุดเด่นด้านบริการที่ครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากไอเดียของลูกค้า การจัดหาวัตถุดิบเพื่อการผลิต การออกแบบสายการผลิต จนถึงการผลิตสินค้าเพื่อส่งมอบให้แก่ลูกค้าตามแผน ด้วยการผลิตที่ได้มาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับจากลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ควบคู่กับจุดแข็งด้านความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ดูแลลูกค้าแบรนด์ระดับโลกมากว่า 30 ปีของผู้บริหาร ที่สามารถประเมินแนวโน้มของธุรกิจและกระแสความต้องการของตลาดได้ชัดเจน ซึ่งภายหลังจากการระดมทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อว่าจะผลักดันให้สามารถขยายธุรกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพและสร้างโอกาสในการเติบโตในอนาคต
นายพิชัย ดวงทวีทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟอร์ท อีเอ็มเอส จำกัด (มหาชน) หรือ FEMS ผู้ให้บริการผลิตสินค้านวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร (One-Stop Solutions) กล่าวว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของ FEMS นับเป็นอีกก้าวที่สำคัญที่จะยกระดับมาตรฐานของบริษัท ด้วยภาพลักษณ์ที่ดีในการบริหารงานและมาตรฐานการดำเนินงานตามมาตรการกำกับดูแลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่โปร่งใส และตรวจสอบได้ นอกจากนี้ ยังได้รับความน่าเชื่อถือต่อลูกค้า คู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ส่งเสริมการเจรจาติดต่อธุรกิจได้ง่ายมากขึ้น
โดยภายหลังการระดมทุน บริษัทจะนำเงินที่ได้ไปลงทุนเครื่องจักรเทคโนโลยีใหม่ประสิทธิภาพสูง เพื่อเพิ่มสายการผลิต รวมถึงการลงทุนปรับปรุงพื้นที่และวางระบบภายในของโรงงานและคลังสินค้าแห่งที่ 3 ซึ่งจะสนับสนุนให้ FEMS มีความพร้อมด้านศักยภาพและการขยายการผลิต เสริมโซลูชั่นต่างๆ ให้ครบวงจรมากขึ้นรองรับความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันและอนาคต และอีกส่วนหนึ่งจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการเพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจ
“การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในครั้งนี้ ถือเป็นการเพิ่มโอกาสการเติบโตระยะยาว จากการผลิตสินค้านวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่จำเป็นต้องพัฒนาให้ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ อีกทั้ง การทำงานของ FEMS ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมตามข้อกำหนดของภาครัฐ ด้วยการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสังคม” นายพิชัย กล่าว
ทั้งนี้ปัจจุบัน FEMS ผลิตสินค้าให้กลุ่มลูกค้าในประเทศและต่างประเทศประมาณ 70% ส่วนอีก 30% เป็นการผลิตสินค้าให้กับกลุ่มบริษัทฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น โดยบริการผลิตสินค้า 2 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 งานประกอบแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board Assembly: PCBA) สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ และกลุ่มที่ 2 งานผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูป (Box-Build) สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น แผงวงจรควบคุมในเครื่องปรับอากาศ เครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า เครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) เป็นต้น โดยให้บริการใน 2 รูปแบบ คือ การรับเหมาผลิต (Turn Key) และการรับจ้างประกอบ (Consign Part)
สำหรับ FEMS มีทุนจดทะเบียน 560 ล้านบาท ทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 400 ล้านบาท มีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิที่เหลือหลังจากหักสำรองต่างๆ ทุกประเภทตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ การจ่ายเงินปันผลดังกล่าวจะขึ้นกับกระแสเงินสด แผนการลงทุน เงื่อนไขทางกฎหมาย และจะต้องไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานปกติของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งผลประกอบการตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้รวมในปี 2563 – 2565 อยู่ที่ 821.8 ล้านบาท 2,046.9 ล้านบาท และ 4,586.4 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 0.04 ล้านบาท 150.2 ล้านบาท และ 366.2 ล้านบาทตามลำดับ และในงวด 6 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทมีรายได้รวม 2,428.1 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 159.2 ล้านบาท