เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 คณะของมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) นำโดยนางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาและเจ้าหน้าที่ฝ่ายงานด้านสิทธิมนุษยชนและสถานะบุคคลของพชภ.ได้นำคณะเจ้าหน้าที่อำเภอแม่จัน นำโดยนายวรากร สิทธิเดชะ ปลัดอำเภองานทะเบียนและบัตร และน.ส.ณัฎฐ์นรี มงคลดี ปลัดอำเภองานสำนักงาน ลงพื้นที่หมู่บ้านเฮโก หมู่ที่ 19 ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงรายเพื่อติดตามเรื่องการพิจารณาการขอสัญชาติไทยตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ.2543 ของกลุ่มผู้เฒ่า “ชาวเขาติดแผ่นดิน” ซึ่งมีการระบุรายการสถานที่เกิดไม่ตรงตามข้อเท็จจริง
ทั้งนี้ พชภ.ได้ดำเนินการแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติที่เป็นชาวเขาดั้งเดิม แต่ถูกบันทึกรายการสถานที่เกิดผิด โดยร่วมกับสำนักทะเบียนอำเภอแม่จัน กรมการปกครอง และนักวิชาการด้านกฎหมายสัญชาติ นำไปสู่การมีหนังสือลงวันที่ 13 กันยายน 2562 โดยอธิบดีกรมการปกครอง ทำให้เกิดกรณีตัวอย่างที่แก้ไขปัญหาได้สำเร็จอย่างไรก็ตาม พชภ.พบว่ามีผู้เฒ่าชาวลีซูอีก 3 ราย ที่ถูกบันทึกรายการสถานที่เกิดผิดจากความจริง ทั้งนี้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ร่วมพิสูจน์ทางสารพันธุกรรม หรือการตรวจ DNA กับคู่ตรวจที่เป็นบุคคลสัญชาติไทย และพบว่าผู้เฒ่าทั้ง 3 คนมีผลตรวจตรงกับบุคคลสัญชาติไทย เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน และมีการทำประชาคมหมู่บ้านรอบรับแล้ว
นางเตือนใจกล่าวว่า ผู้เฒ่าหมู่บ้านเฮโก 8 คน เป็นชาวลีซอหรือชาวเขาดั้งเดิมที่เกิดในประเทศไทย แต่ถูกลงบันทีกสถานที่เกิดผิดเพราะผู้สำรวจไม่เข้าใจเรื่องภาษา และลงบันทึกผิดว่าเกิดนอกเขตประเทศไทย ขณะนี้ทั้ง 3 คนยังไม่ได้ถูกส่งชื่อไปที่กรมการปกครองหลังจากพิสูจน์ดีเอ็นเอแล้วเมื่อ 8 เดือนก่อน ขั้นต่อไปหากนายอำเภออนุมัติและกรมการปกครองตรวจสอบหลักฐานต่างๆ ถูกต้องแล้ว ก็ต้องทำหนังสือแก้ไขสถานที่เกิด และทำหนังสือรับรองการเกิดในประเทศไทยย้อนหลัง จากนั้นจึงยื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทยตามระเบียบ 43 (การได้สัญชาติไทยตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ.๒๕๔๓)
“ผู้เฒ่าลีซอกลุ่มนี้อายุเกิน 70 ปีปีแล้ว คนที่อายุมากสุด 88 ปี แก่ชรามาก เดินต้องใช้ไม้เท้า จึงควรดำเนินการแก้ไขให้พวกท่านอย่างเร่งด่วนเพราะนอกจากพวกท่านอายุมากแล้ว สุขภาพก็ไม่ดี พวกท่านพิสูจน์ดีเอ็นเอแล้ว 3 คน ส่วน อีก 5 คนที่ไม่มีคู่ตรวจดีเอ็นเอ เพราะอายุเกิน 80 ปีเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ไม่เหลือใครที่จะมาร่วมพิสูจน์ แต่ได้มีการทำประชาคมหมู่บ้านโดยมีผู้แทนดีเอสไอ กรมการปกครอง สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติภาคประชาสังคมและสำนักงานผู้แทนทะเบียนแม่จัน มาร่วมเป็นพยาน กรณีนี้จะเป็นกรณีศึกษาสำหรับผู้ที่ถูกบันทึกข้อมูลผิด ซึ่งอธิบดีกรมการปกครองหนังสือเวียนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้แจ้งสำนักทะเบียนทุกแห่งว่าหากมีการบันทึกข้อมูลผิด สามารถแก้ไขตามความเป็นจริงได้โดยใช้พยานที่น่าเชื่อถือ” ครูแดง กล่าว
นางเตือนใจกล่าวว่า การแก้ไขครั้งนี้ควรต้องเร่งด่วน เพราะผู้เฒ่าอายุมากแล้ว เรื่องออกจากอำเภอภายในเดือนธันวาคมนี้เพราะพิสูจน์ดีเอ็นเอและทำประชาคมกันมาแล้วเกือบครบ 1 ปีที่มีการแก้ไขบันทึกที่ผิดพลาด เชื่อว่าหากเรื่องเข้าสู่กรมการปกครองและกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารจะเห็นใจและเข้าใจประเด็นนี้ และคงช่วยเร่งรัดโดยเฉพาะปีหน้าเป็นปีสังคมผู้สูงวัย ควรแก้เรื่องนี้ให้เป็นกรณีตัวอย่าง
“เป็นความฝันของผู้เฒ่าที่ต้องการบัตรประชาชน หรือได้รับการรับรองสิทธิเหมือนกับคนรุ่นเดียวกันที่ได้สัญญาติไทยกันหมดแล้ว เหลือเพียงผู้เฒ่ากลุ่มนี้ที่ถูกบันทึกผิด เราจึงควรช่วยกันสานฝันของพวกท่านให้เป็นจริง เพราะพวกท่านต่างร่วมกันพัฒนาประเทศไทยมายาวนาน และเลี้ยงดูลูกหลานให้เป็นกำลังของบ้านเมือง”นางเตือนใจ กล่าว