ยกให้เป็นปีที่สภาพภูมิอากาศวิปริตแปรปรวนที่สุดปีหนึ่งเลยทีเดียวก็ว่าได้
สำหรับ ปี 2023 (พ.ศ. 2566) ที่กำลังผ่านพ้นหมดปีอีกเพียง 1 เดือนครึ่งเท่านั้น
โดยสภาพภูมิอากาศที่วิปริตแปรปรวนข้างต้น ก็เป็นคำกล่าวของบรรดานักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อมโลก จากสถาบันต่างๆ ที่ติดตามศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ อย่าง “สำนักงานให้บริการด้านการติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัส” หรือ “ซี3เอส” แห่ง “สหภาพยุโรป” หรือ “อียู” และ “สำนักงานสมุทรศาสตร์และชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ “เอ็นโอเอเอ” หรือที่หลายคนเรียกแบบย่อๆ กันจนติดปากว่า “โนอา” ล้วนมีผลการศึกษาติดตาม ออกมาไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ อุณภูมิของโลกเรานั้นสูงขึ้น คือ ร้อนขึ้น นั่นเอง
พร้อมกันนั้น บรรดาหน่วยงาน สถาบันเหล่านี้ ต่างก็มีคำเตือนออกมา ด้วยความเป็นห่วงต่อโลกเรา และพลเมืองของโลกเรา ที่จะได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิของโลกที่พุ่งสูงขึ้นนี้ หรือที่เรียกกันว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” หรือ “ภาวะโลกร้อน” ซึ่งถูกยกให้เป็นหนึ่งในวิกฤติของโลกเรา และมนุษยชาติเราที่กำลังเผชิญ
ล่าสุด “สำนักงานให้บริการด้านการติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัส” หรือ “ซี3เอส” ได้ออกมาเปิดเผยผลการศึกษาติดตามสภาพภูมิอากาศของโลกประจำปีนี้ โดยระบุว่า ปี 2023 ที่ใกล้จะผ่านพ้นอีกเพียงเดือนครึ่งนั้น ก็มีอากาศร้อนอย่างสุดๆ จนทุบสถิติของปีต่างๆ เป็นว่าเล่น
ไม่ว่าจะเปรียบเทียบกับปี 2019 (พ.ศ. 2562) ซึ่งเป็นปีที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ เฉกเช่นเดียวกับปี 2023 นี้ แต่อุณหภูมิของโลกเราในปีนี้สูงกว่าเมื่อ 4 ปีที่แล้วที่ 0.4 องศาเซลเซียส ซึ่งสถิตินี้จะดำเนินการจัดเก็บในช่วงเดือนตุลาคมที่เพิ่งผ่านพ้นมา
นอกจากนี้ อุณหภูมิโลกของปี 2023 ก็ยังทุบสถิติเดิมของปี 2016 (พ.ศ. 2559) ซึ่งเป็นปีที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญอีกเช่นกัน ที่ 1.7 องศาเซลเซียส
โดยอุณหภูมิโลกของปี 2023 ที่ทุบสถิติของปีต่างๆ เป็นว่าเล่นนั้น ทาง “ซี3เอส” ก็ยังให้เป็นปีที่โลกมีอุณหภูมิสูงที่สุด หรือร้อนที่สุดในรอบ 125,000 ปี เลยทีเดียว
ทั้งนี้ การที่โลกเราร้อนขึ้น ก็ไปสำแดงออกผ่านภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ ที่มีความรุนแรงขึ้นยิ่งกว่าแต่ก่อน เช่น วาตภัยที่เกิดจากลมพายุในพื้นที่ต่างๆ การเกิดอุทกภัยจากฝนเทกระหน่ำตกลงมาอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน รวมทั้งการเกิดปรากฏการณ์ฟ้าผ่า ซึ่งบรรดานักวิทยาศาสตร์ ระบุว่า ปรากฏการณ์ฟ้าผ่าในปีนี้ถือว่ารุนแรงยิ่งกว่าปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนเป็นประการสำคัญ
โดยปรากฏการณ์ฟ้าผ่าที่เกิดขึ้น ก็ส่งผลกระทบให้เกิด “ไฟป่า” ขึ้นตามมา จากการที่ปรากฏการณ์ฟ้าผ่าเหล่านั้น ไปเกิดขึ้นตามผืนป่าต่างๆ กอปรกับสภาพอากาศที่แห้ง ร้อน แล้ง เมื่อสายฟ้าฟาดถูกต้นไม้ ก็ทำให้ไฟไหม้ต้นไม้ และลุกลามเผาไปทั้งป่า รวมถึงบ้านเรือนของผู้คน ชุมชน ที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งไฟป่าในปีนี้ก็เกิดจากปรากฏการณ์ฟ้าผ่าเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหตุไฟป่าที่เกิดขึ้นกลุ่มประเทศซีกเหนือของโลก เช่น ทวีปอเมริกาเหนือ และภูมิภาคยุโรป ใช่แต่เท่านั้น ไฟป่าในปีนี้ ก็ยังนับว่า รุนแรงยิ่งกว่าไฟป่าปีก่อนๆ อีกด้วย จนถือเป็นวิกฤติที่น่าสะพรึงอีกวิกฤติหนึ่ง เช่น ไฟป่าที่แคนาดา ไฟป่าที่รัฐฮาวายของสหรัฐฯ ไฟป่าที่เกิดประเทศของภูมิภาคยุโรป เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ผืนป่าในเขตร้อนชื้นก็ไม่รอดจากไฟป่าที่เกิดขึ้นโดยปรากฏการณ์ฟ้าผ่าเป็นผู้กระทำ โดยนักวิทยาศาสตร์ เหตุไฟป่าในปีนี้ร้อยละ 77 ก็มาจากการถูกฟ้าผ่า
ทาง “ซี3เอส” ยังระบุถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้อุณหภูมิโลกทะยานพุ่งสูงขึ้นจนทุบสถิติเป็นประวัติการณ์เช่นนี้ว่า มาจากน้ำมือของมนุษย์เราเอง ที่เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ด้วยกิจกรรมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากซากฟอสซิล ซึ่งก็คือ น้ำมันเชื้อเพลิงทั้งหลาย นั่นเอง
โดยในประเด็นเรื่องผลกระทบจากการใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากซากฟอสซิลที่ก่อให้เกิดวิกฤติภาวะโลกร้อนตามมานั้น แม้กระทั่งองค์กรด้านการแพทย์และสาธารณสุขระดับโลก อย่าง “แพทยสมาคมโลก” และ “สมาคมกุมารเวชศาสตร์สากล” ซึ่งมีสมาชิกเกือบ 50 ล้านคน ก็ถึงกับทำจดหมายเปิดผนึกถึงสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี ที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 หรือค็อป28 (COP28) ในระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 12 ธันวาคมที่จะถึงนี้ โดยเนื้อหาภายในจดหมายก็เรียกร้องให้ที่ประชุมสนับสนุนการยกเลิกการใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากซากฟอสซิล ซึ่งเป็นปัจจัยก่อปัญหาภาวะโลกร้อน และสาธารณสุขของมนุษยชาติเราโดยด่วน