กรุงเทพมหานคร เปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อการจัดการมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร “เปิดโลกขยะ กทม.” โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายและแผนการบริหารจัดการมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้การจัดการเป็นไปตามหลักวิชาการและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบการเสวนาและเปิดรับฟังความคิดเห็น เรื่อง “การพัฒนาระบบการจัดการขยะของกรุงเทพมหานคร” ซึ่งกรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดขึ้นเพื่อระดมความคิดเห็นและข้อเสนอต่อการจัดการมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็น “มหานครปลอดภัย-ปลอดมลพิษ” สอดคล้องตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี พ.ศ. 2556 – 2575

ปัจจุบัน กทม.มีการบริหารจัดการมูลฝอยและของเสียอันตรายด้วยแนวคิดขยะเหลือศูนย์ (Zero waste management) และมีการนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) รวมถึงทำให้ขยะเหลือน้อยที่สุดและกำจัดที่เหลือ (residue) ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิผล พร้อมทั้งมีนโยบายที่จะพัฒนาระบบกำจัดมูลฝอย เพื่อลดผลกระทบต่างๆ จากการฝังกลบ

นายภาณุวัฒน์ อ่อนเทศ ผู้อำนวยการส่วนบริการจัดการมูลฝอย รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล สำนักสิ่งแวดล้อม เล่าความเป็นมาว่า ช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ขยะในพื้นที่กทม.ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากประชาชนกลับบ้านต่างจังหวัด และจะกลับมาเพิ่มตั้งแต่เดือน พฤษภาคมตลอดจนฤดูฝน เพราะเป็นฤดูกาลผลไม้ วงจรขยะหมุนเวียนแบบนี้ตลอดปี โดยปี 2528 กทม.มีขยะประมาณ 3,260 ตัน/วัน ปี 2561 ขยะเพิ่ม 10,706 ตัน/วัน ปี 2565 ขยะเฉลี่ยอยู่ที่ 8,979 ตัน/วัน และปี 2566 เฉลี่ย 8,775 ตัน/วัน ลดลงจากปี 2565 เฉลี่ย 204 ตัน/วัน หรือ 74,460 ตัน ลดค่าใช้จ่ายกระบวนการกำจัด 1,900 บาท/ตัน (ค่าเก็บขนส่ง 1,200 บาท ค่ากำจัด 700 บาท) ประหยัดเงินกทม.141,474,000 บาท จากมาตรการลดและคัดแยกขยะก่อนทิ้ง ขยะสูงสุดของชาวกรุงคือเศษอาหาร 46% เข้าไปมีส่วนทำลายขยะที่ควรนำกลับมาใช้ได้ สร้างกลิ่นเหม็น เน่าเสีย ก่อมลพิษและก๊าซพิษ กทม.ต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อแยกออกจากขยะอื่น ไม่นับรวมการแยกขยะอันตรายและขยะประเภทต่าง ๆ เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี เช่น ขยะที่ต้องนำไปฝังกลบ นำไปเผา นำไปหมักย่อยสลาย และนำไปรีไซเคิล ทั้งหมดต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น หากมีการแยกมาให้ กทม.ตั้งแต่ต้นทางบ้านเรือน แล้วเขียนป้ายกำกับว่าแต่ละถุงคือขยะประเภทใด เช่น ขยะอันตราย หลอดไฟ เศษแก้ว เศษอาหาร เป็นต้น จะช่วยประหยัดงบประมาณ สามารถนำไปใช้อย่างอื่นได้มาก พนักงานเก็บมูลฝอยไม่สามารถคัดแยกที่ต้นทางก่อนนำขึ้นรถให้ได้ เพราะใช้เวลานาน ติดปัญหาการจราจร

ด้านนายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.ใช้พื้นที่ราว 1,012 ไร่ เพื่อจัดการขยะทั้งหมดในแต่ละวัน แบ่งเป็น ศูนย์กำจัดขยะสายไหม 52 ไร่ รับขยะจากโซนเหนือของกรุงเทพฯวันละ 2,000 ตัน ที่หนองแขม 378 ไร่ รับขยะจากฝั่งธนบุรีและพระนครวันละ 4,000 ตัน และที่อ่อนนุช 582 ไร่ รับขยะจากฝั่งตะวันออกวันละ 3,000 ตัน ยังไม่นับรวมพื้นที่คัดแยกและฝังกลบที่ จ.กาญจนบุรี นครปฐม ฉะเชิงเทรา เฉลี่ยวันละ 1,000 ตัน รวมถึงการทำสัญญากับภาคเอกชน เช่น โครงการเตาเผาผลิตไฟฟ้าที่หนองแขมวันละ 900 ตัน และคัดแยกวันละ 1,000 ตัน และมีแผนสร้างโรงเตาเผาผลิตไฟฟ้าขนาด 1,000 ตัน/วันเพิ่ม ที่หนองแขมและอ่อนนุช ปัจจุบันลงนามสัญญามอบให้เอกชนดำเนินการ เริ่มก่อสร้างช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า เพื่อผลิตไฟฟ้าสูงสุด 30 เมกะวัตต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินปลายปี 2569 นอกจากนี้ กทม.ต้องจ้างเอกชนกำจัดขยะโดยการหมักทำปุ๋ยที่อ่อนนุชกว่า 1,600 ตัน/วัน

“ภาพรวมการจัดการขยะของกทม.ในปัจจุบัน ใช้ระบบเตาเผามูลฝอยที่เปิดดำเนินการแล้วประมาณวันละ 500 ตัน คิดเป็น 5% และการผสมผสาน เช่น การคัดแยก รีไซเคิล และทำเชื้อเพลิงขยะมูลฝอย(RDF) ประมาณ 4,400 ตันต่อวัน คิดเป็น 49.54% และการฝังกลบประมาณ 4,100 ตันต่อวัน คิดเป็น 45% เป้าหมายของ กทม.ต้องการลดขยะฝังกลบลง คาดว่าเมื่อสร้างเตาเผาเสร็จ ขยะฝังกลบจะเหลือประมาณ 15% ระบบเตาเผาเพิ่มเป็น 28% ระบบผสมผสานเพิ่มเป็น 57% นี่คือนโยบาย กทม. ณ ปัจจุบัน” นายชาตรี กล่าว

ขณะที่ นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯกทม.ในฐานะคนรุ่นใหม่ผู้ดำเนินการด้านจัดการขยะ กทม.และพ่วงตำแหน่งผู้บริหารด้านความยั่งยืนกรุงเทพมหานครคนแรก กล่าวว่า กทม.มีนโยบายให้บริษัทต่างประเทศมาลงทุนในกรุงเทพฯ เพื่อผลักดันเศรษฐกิจ แต่ผู้ลงทุนถามว่า สามารถซื้อไฟฟ้าที่เป็นพลังงานทดแทนอย่างเดียวได้หรือไม่ เพื่อจะนำไปรายงานผลด้านสิ่งแวดล้อมกับบริษัทแม่ในต่างประเทศ ว่าการลงทุนดังกล่าวไม่สร้างก๊าซคาร์คาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึง ถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ขยะในอาคารของผู้ลงทุนจะไม่ส่งไปฝังกลบ ยินดีแยกที่แหล่งกำเนิด แต่ขอให้มีปลายทางจัดการรองรับ เพื่อให้สินค้าของเขาตรงตามมาตรการรักษาสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายประเทศกำลังตื่นตัวในการสนับสนุนสินค้าและบริการที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ หากมีการแยกเศษอาหารอย่างเป็นทางการ มีเกษตรกรพร้อมมารับไปทดแทนอาหารสัตว์ที่มีราคาสูงขึ้น ขยะที่เกิดขึ้นมีค่าทั้งหมด หากทุกฝ่ายมีส่วนร่วมคัดแยกเพื่อผู้รับ ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย และเป็นผลดีต่อเมือง

“มาตรการและโครงการทั้งหมดที่ กทม.พยายามส่งเสริมพัฒนา จะเป็นไปได้มากขึ้นถ้ามีการ  ปรับปรุงกฎหมายให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการและรับผิดชอบขยะของตนเอง ที่ผ่านมา กทม.เน้นการรณรงค์ขอความร่วมมือ ซึ่งได้ผลส่วนหนึ่งและประหยัดงบประมาณลงได้ แต่หากมีกฎหมายเพิ่มเติมอาจทำให้คนเห็นความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะการช่วยแยกขยะที่ต้นทาง เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ดำเนินงานต่ออย่างมาก ขยะจะถูกกระจายไปสู่ผู้ที่ต้องการง่ายขึ้น ดีกว่าทิ้งเป็นขยะกำพร้า เพราะไปไม่ถึงผู้รับ เรื่องง่ายที่สุดขณะนี้คือ ช่วยแยกขยะเปียกกับขยะแห้ง เพื่อโอกาสในการนำไปจัดการต่อ ปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่นรับซื้อขยะถึงบ้าน หรือมีการนัดหมายรับขยะตามจุดต่าง ๆ และประเมินราคาทันที โดยกทม.พยายามส่งเสริมผู้ผลิตขยะกับผู้ต้องการขยะให้มาเจอกัน แต่หากไม่ได้รับความร่วมมือ การจูงใจด้วยอัตราค่าจัดเก็บขยะที่สูงขึ้นก็หลีกเลี่ยงได้ยาก” นายพรพรหม กล่าว