วันที่ 13 พ.ย.2566 เวลา 14.30 น. ที่รัฐสภา ตัวแทนศิษย์เก่า โรงเรียนเทพศิรินทร์ และโรงเรียนสวนกุหลาบ ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายโสภณ ซารัมย์ สส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร  กรณีดราม่าบังคับนักเรียนแปรอักษรในกิจกรรม “จตุรมิตรสามัคคี”

โดยน.ส.พิมพ์กาญจน์ กีรติวิราปกรณ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษก กมธ. กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมาจากกิจกรรม “จตุรมิตรสามัคคี” การแข่งขันฟุตบอลประเพณีของโรงเรียนชายล้วนเก่าแก่ 4 โรงเรียน คือ ร.ร.เทพศิรินทร์ ร.ร.สวนกุหลาบ ร.ร.กรุงเทพคริสเตียน และร.ร.อัสสัมชัน ในอดีตกิจกรรม “จตุรมิตรสามัคคี” ได้ช่วยสร้างสายสัมพันธ์ และมิตรภาพให้กับนักเรียนจาก 4 โรงเรียนนี้มาหลายรุ่น แต่จากข้อมูลของนักเรียนปัจจุบันที่เข้าร่วมกิจกรรมบางส่วน กิจกรรมนี้ได้ถูกยกระดับให้กลายเป็นประเพณี ที่ต้องประชันกันซึ่งเกียรติยศ ชื่อเสียง อลังการของการแปรอักษร และเชียร์ลีดเดอร์ จนทำให้หลายโรงเรียนต้องยกระดับงบประมาณ และขยายเวลาจัดเตรียมกิจกรรมเป็นหนึ่งปีการศึกษา โดยปรับชั่วโมงการเรียนวิชาชุมนุมหรือชมรม มาเป็นชั่วโมงเตรียมกิจกรรมจตุรมิตร
    
น.ส.พิมพ์กาญจน์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันจากข้อมูลที่ได้รับแจ้ง การจัดกิจกรรมจตุรมิตรในปัจจุบัน มีประเด็นปัญหาที่น่าห่วงใย ดังนี้ 1.การบังคับนักเรียนให้ต้องลงชื่อ และเข้าร่วมทำกิจกรรมทุกครั้ง ตั้งแต่ฝึกซ้อมจนกระทั่งวันจัดกิจกรรมจริง เพื่อยืนยันว่าเด็กจะผ่านในรายวิชาชุมนุมหรือชมรม 2.กรณีดังกล่าวอาจถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิเด็กนักเรียน ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 หลายประการ เช่น การปล่อยให้นักเรียนเดินแถวออกจากโรงเรียนไปยังสนามศุภชลาศัยเอง การให้นักเรียนนั่งอยู่บนอัฒจันทร์อย่างแออัดในสภาพอากาศที่ร้อนหรือเสี่ยงฝนตก

การให้แปรอักษรติดต่อนานหลายชั่วโมงโดยไม่มีการเปลี่ยนตัว ไม่อนุญาตให้นักเรียนไปเข้าห้องน้ำหรือไปรับประทานอาหาร มีการกดดันให้รอจนกว่าคนที่ไปก่อนหน้าจะกลับมาถึงจะไปได้ เป็นเหตุให้เด็กต้องปัสสาวะใส่ขวดน้ำหรืออุจจาระใส่กล่องอาหารที่ทานแล้ว 3.การต่อเติมอัฒจันทร์เดิมให้มีขนาดรองรับจำนวนเด็กให้มากขึ้น ตามกำหนดการคือต้องมีนักเรียนขึ้นอัฒจันทร์เพื่อแปรอักษรจำนวน 1,250 คนต่อโรงเรียน ทุกโรงเรียนจึงต้องต่อเติมอัฒจันทร์ในส่วนของทางเดินใกล้ประตูทางออก เพื่อเสริมเก้าอี้ที่นั่งทำให้ทางเดินแคบขึ้น นักเรียนต้องนั่งกันอย่างแออัดมากขึ้น และมีโอกาสที่ส่วนต่อเติมจะทรุดตัวลง หากต่อเติมไม่ดีหรือรองรับน้ำหนักของเด็กมากเกินไป ซึ่งยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าโครงสร้างอัฒจันทร์ได้รับการตรวจสอบจากวิศวกรเป็นที่เรียบร้อยหรือไม่ และสามารถรองรับน้ำหนักนักเรียนได้สูงสุดเท่าไหร่ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสวัสดิภาพของนักเรียนได้
     
น.ส.พิมพ์กาญจน์ กล่าวว่า 4.หากระหว่างดำเนินกิจกรรมแล้วเกิดอุบัติเหตุ เด็กเป็นลม และต้องเอาตัวเด็กออกมา การเคลื่อนย้ายเด็กจะเป็นไปได้อย่างยากลำบาก เพราะความแออัด และอาจส่งผลกับการแปรอักษรที่อาจผิดพลาด เนื่องจากไม่มีเด็กสำรองเข้าไปช่วยแปรอักษร หรือหากมีก็หนีกลับมา เนื่องจากสภาพความเป็นอยู่บนอัฒจันทร์ โดยล่าสุดหลังจากกลุ่มศิษย์เก่าโรงเรียนเครือจตุรมิตร ออกมาเรียกร้องให้ทั้ง 4โรงเรียน “ยกเลิกการบังคับ” แปรอักษร ระหว่างทางที่จะไปสนามศุภชลาศัย รวมถึงการติดป้ายผ้าบริเวณสะพานลอยหลายจุด เพื่อบอกถึงความลำบากของนักเรียนขณะต้องขึ้นอัฒจันทร์เพื่อแปรอักษร ภาพดังกล่าวถูกแชร์ผ่านโซเชียลมีเดียจำนวนมาก ผ่าน #เลิกบังคับแปรอักษร ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์หลายทิศทางนั้น
    
"กมธ.การศึกษาฯ ไม่ได้คัดค้านกิจกรรมแปรอักษรในงานจตุรมิตรสามัคคี เราเข้าใจดีว่าสำหรับนักเรียนหลายคน นี่คือโอกาสครั้งเดียวในชีวิตที่จะได้ร่วมทำกิจกรรมนี้ และเป็นกิจกรรมสำคัญที่สืบทอดกันมานานกว่า 60 ปี แต่กมธ.ก็มีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อสิทธิ และสวัสดิภาพความปลอดภัยของนักเรียน ที่ไม่ควรเกิดขึ้นจากการบังคับ กมธ.การศึกษา จึงยินดีรับฟัง และให้พื้นที่กับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นมุมมองของนักเรียนปัจจุบัน ผู้ร้องเรียนให้ได้มาบอกเล่าปัญหา และพร้อมประสานไปยังคณะผู้จัดกิจกรรม จตุรมิตรสัมพันธ์ และผู้อำนวยการโรงเรียนทั้ง 4 แห่ง รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียจากกิจกรรม เพื่อหาทางออก ปรับปรุงแก้ไขร่วมกัน ให้กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมความสมัครสมานสามัคคีที่จะเป็นความทรงจำที่งดงาม สำหรับคนทุกรุ่นอย่างแท้จริง" น.ส.พิมพ์กาญจน์ กล่าว
    
ด้าน นายโสภณ กล่าวว่า ยุคปัจจุบันต้องมีเวทีให้เด็กแสดงออก แต่เมื่อมีผู้ร้องเรียน หลักของ กมธ.จะให้ผู้เกี่ยวข้องชี้แจง และกมธ.จะซักถามปัญหาต่างๆ อย่างไรก็ตาม เราไม่ขัดข้องในการกิจกรรมของโรงเรียน แต่หากสิ่งใดที่ไม่เหมาะสมก็ต้องปรับปรุง อะไรที่สร้างความลำบากทางกายภาพก็ไปลดลง