Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 36.10 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ  35.89 บาทต่อดอลลาร์ กังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดและความเสี่ยงเสถียรภาพการคลังของไทย

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (แกว่งตัวในกรอบ 35.88-36.10 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะปรับฐาน หลังราคาทองคำปรับตัวลดลงหนัก นอกจากนี้ เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากความกังวลเสถียรภาพการคลังของไทย ซึ่งได้สะท้อนผ่านแรงขายหุ้นและบอนด์โดยนักลงทุนต่างชาติในช่วงวันศุกร์
 
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงในช่วงปลายสัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดและความกังวลเสถียรภาพการคลังของไทย

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ และข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือนของจีน พร้อมติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลักและลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในเดือนตุลาคม โดยนักวิเคราะห์ต่างมองว่า การปรับตัวลดลงของราคาพลังงานอาจส่งผลให้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น +0.1%m/m หรือ +3.3%y/y ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ทว่า ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมผลของราคาอาหารและพลังงาน อาจยังคงเพิ่มขึ้น +0.3%m/m หรือ +4.1%y/y หลังราคาสินค้าบางส่วนอาจชะลอตัวในอัตราน้อยลง อาทิ ราคารถยนต์มือสอง ซึ่งการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ช้ากว่าที่เฟดต้องการ อาจทำให้บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดยังคงมองว่า เฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ หรือ คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน (ซึ่งต้องรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในสัปดาห์นี้) อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า แนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณชะลอตัวลงมากขึ้น กอปรกับแนวโน้มการบริโภคของสหรัฐฯ ที่จะชะลอลงมากขึ้น ท่ามกลางแรงกดดันจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น (หลัง 20% ชาวอเมริกันจะเริ่มกลับมาจ่ายหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ Student Loans) และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ก็อาจทำให้ เฟดไม่สามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ นอกจากนี้ หากสมมติฐานเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนักและเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) นั้นถูกต้อง เราคงมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยลง ได้เร็วขึ้นและมากกว่าที่ตลาด รวมถึงเฟดกำลังคาดการณ์อยู่ ซึ่งภาพดังกล่าว อาจส่งผลให้ ทั้งบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์มีแนวโน้มปรับตัวลดลงได้พอสมควร 

▪ ฝั่งยุโรป – ตลาดประเมินว่า เศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 3 อาจขยายตัวเพียง +0.1%y/y กดดันโดยภาวะเงินเฟ้อสูงและอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนที่มีทิศทางชะลอลง อาจทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) พิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับล่าสุด เช่นเดียวกันกับธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ก็อาจตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง หากอัตราเงินเฟ้อ CPI อังกฤษ เดือนตุลาคม ชะลอลงสู่ระดับ 4.7% จาก 6.7% ในเดือนก่อนหน้า หลังภาพรวมเศรษฐกิจอังกฤษก็ชะลอตัวลงเช่นเดียวกันกับเศรษฐกิจยูโรโซน ทั้งนี้ ในช่วงนี้ นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญฝั่งยุโรป เราประเมินว่า สกุลเงินฝั่งยุโรปอาจผันผวนไปตาม ทิศทางตลาดหุ้นยุโรป ซึ่งต้องรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน

▪ ฝั่งเอเชีย – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจรายเดือนของจีน โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างมองว่า เศรษฐกิจจีนแม้จะมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้น ในเดือนตุลาคม สะท้อนผ่านยอดค้าปลีกที่อาจโต +7.7%y/y ส่วนยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) และยอดการลงทุนสินทรัพย์ถาวร (Fixed Assets Investment) อาจขยายตัว +4.5% และ +3.1% ตามลำดับ ทว่าภาพการฟื้นตัวดังกล่าวก็ยังมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ทำให้นักวิเคราะห์บางส่วนประเมินว่า ธนาคารกลางจีน (PBOC) อาจลดอัตราดอกเบี้ย MLF 1 ปี ลง -10bps สู่ระดับ 2.40% เพื่อช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ตลาดมองว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 3 อาจพลิกกลับมาหดตัวลง -0.4% จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังภาคการส่งออกชะลอตัวลง ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ ขณะเดียวกัน ยอดการนำเข้าก็ปรับตัวสูงขึ้นตามการอ่อนค่าของเงินเยนญี่ปุ่นและราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยโมเมนตัมเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ชะลอลงอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังไม่สามารถใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น อาทิ การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ได้ในปีนี้ ทั้งนี้ ในส่วนนโยบายการเงิน ตลาดมองว่า ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) อาจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 6.50% หลังจาก BSP ได้เซอไพรส์ตลาดด้วยการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งก่อน จากความกังวลแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงช้ากว่าที่ BSP ต้องการ

▪ ฝั่งไทย –ตลาดการเงินไทยอาจผันผวนไปตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อมาตรการ Digital Wallet โดย หากพิจารณาจากแรงขายหุ้นและบอนด์ รวมถึงการอ่อนค่าลงของเงินบาทล่าสุด อาจประเมินได้ว่า ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลต่อความเสี่ยงเสถียรภาพการคลังของไทยมากขึ้น

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า ปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่ หลังตลาดกลับมากังวลทั้งประเด็นแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดและความเสี่ยงเสถียรภาพการคลังของไทย นอกจากนี้ ทั้งสองปัจจัยดังกล่าวยังส่งผลให้ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติมีทิศทางไม่แน่นอน อนึ่ง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีนออกมาดีกว่าคาด ก็อาจช่วยให้ทั้งเงินหยวนและสกุลเงินเอเชียแข็งค่าขึ้น หรือชะลอการอ่อนค่าได้ ทั้งนี้ เราประเมินว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจจำกัดอยู่ในโซน 36.25-36.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นโซนที่ผู้เล่นในตลาดอาจรอจังวะทยอยขายเงินดอลลาร์

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อได้ หากตลาดยังคงกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด โดยเฉพาะในกรณีที่ อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด หรือ เร่งตัวขึ้นสวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ แต่หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด และสะท้อนภาพการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจมากขึ้น ก็อาจกดดันให้ เงินดอลลาร์ พร้อมกับบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลง เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงนี้ ตลาดการเงินยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลต่อเสถียรภาพการคลังของไทยที่กลับมาอีกครั้ง รวมถึง ความกังวลต่อทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจจีนและสถานการณ์สงครามในตะวันออกกลาง ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 35.60-36.30 บาท/ดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.00-36.20 บาท/ดอลลาร์

 

#ค่าเงินบาท #เฟด #ดอกเบี้ย  #เงินบาทอ่อน #พูนพานิชพิบูลย์  #ตลาดเงินตลาดทุน #KrungthaiGLOBALMARKETS #ธนาคารกรุงไทย