เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 12 พ.ย. 2566 (ตามเวลาท้องถิ่นซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ช้ากว่ากรุงเทพฯ 15 ชั่วโมง ) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตที่มีทั้งคนเห็นด้วย เห็นต่างและสนับสนุนว่า ต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจน และไม่อยากให้สังคมไทย ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายตรงข้ามหรือพวกเดียวกันไม่อยากให้มีธง อยากให้รับฟังความคิดเห็นว่ามีข้อดีข้อเสียอะไร แล้วหยิบยกมาพูดคุยกัน 

ผู้สื่อข่าวถาม กรณีที่น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุโครงการดังกล่าวอาจไม่เกิดขึ้นจริง และอาจไม่ผ่านสภา ประชาชนจะไม่มีโอกาสได้รับเงินจริง นายเศรษฐา กล่าวว่า “ผมมั่นใจว่าเสียงของผม อย่างพรรคร่วมรัฐบาลมี 320 เสียง ผมว่าเสียงของผมมั่นคง และเราทำงานเป็นทีม เชื่อว่าผ่าน” 

เมื่อถามย้ำว่า คนไทยจะมีโอกาสได้ใช้เงิน 10,000 บาทหรือไม่ นายกฯ กล่าวย้ำว่า มั่นใจ เป็นหน้าที่ผู้นำรัฐบาลที่ต้องรับฟังเสียงประชาชน โครงการดีเลย์จากที่ประกาศไว้ เพราะทีมงานของเราต้องรับฟังความเห็นทั้งหมด ทั้งเรื่องการออกพ.ร.บ.กู้เงิน, กำหนดเกณฑ์คนรวย ,การจำกัดรายได้ที่พูดคุย และถกเถียงกัน

เมื่อถามว่า โครงการนี้จะมีอุบัติเหตุที่จะทำให้สะดุดหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า มั่นใจว่านโยบายนี้เป็นนโยบายที่ดี เหมาะสม และไม่เกี่ยวกับเรื่องเทคนิคหรือกฎหมาย รัฐบาลยืนยันว่าทำถูกต้องทั้งหมด ซึ่งทางคณะกรรมการกฤษฎีกาคงจะให้ข้อคิดเห็นในเชิงที่เป็นบวก และเราสามารถทำโครงการนี้ได้ แต่มีจุดเดียวคือมีคำถามว่า ตอนนี้เราอยู่ในวิกฤติหรือไม่ได้อยู่ในวิกฤติ มีวิกฤติและความจำเป็นที่ต้องทำหรือไม่ ถ้าบอกว่ามีวิกฤติ และความจำเป็นคือ เรามีจีดีพีติดลบแบบนั้นคงไม่ต้องทำ เพราะจีดีพียังไม่ติดลบ แต่ 9-10 ปี ที่ผ่านมา จีดีพีแค่1.9 %ต่อปี เราไม่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ประเทศอื่นโตกว่าเรา 2 เท่า คู่แข่งของไทยทั้งประเทศเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มีการเติบโต สมัยก่อนอาจจะอยู่ในโลกของเราคนเดียวได้ แต่ปัจจุบันอยู่ในโลกการแข่งขัน ถ้าไม่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ วันหนึ่งอาจไม่มีใครอยากมาลงทุนที่ไทย รัฐบาลเชื่อว่าเราอยู่ในวิกฤติที่ต้องการการกระตุ้น แม้คนอื่นจะบอกว่าไม่จำเป็น ไม่ต้องใช้เงินขนาดนี้ กระตุ้นแค่คนจนที่มีรายได้ต่ำจริงๆก็พอ หากเถียงกันไปอย่างนี้ก็ไม่จบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า โหวตเตอร์พรรคเพื่อไทยบางส่วน รู้สึกผิดหวัง ที่ไม่เข้าเกณฑ์ได้รับเงิน เนื่องจากมีเงินเก็บเกิน 5 แสนบาท ทั้งที่เกิดจากวินัยการออม และมีรายรับไม่เกิน 7หมื่นบาท นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนเข้าใจและเห็นใจ แต่ต้องรับฟังทุกภาคส่วน  ทั้งสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและธนาคารแห่งประเทศไทย มีความชัดเจนไม่ให้แจกคนรวย และมีการสอบถามถึงกำหนดเกณฑ์คนรวย โดยจะต้องกำหนดตัวเลขให้ชัดเมื่อถึงจุดหนึ่ง โดยคนที่มีรายได้เกิน 7 หมื่นบาท และเงินเก็บเกิน 5 แสนบาท รัฐบาลได้ออกโครงการอีรีฟัน หากมีการใช้จ่ายจะได้เงินคืนประมาณ 1 หมื่นบาท เทียบเท่ากับเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ทีมงานคิดมาแล้ว รวมถึงโครงการระยะยาวในกองทุนส่งเสริมการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมใหม่ เป้าหมาย เช่น รถอีวี ไมโครชิพ จำนวน 1 แสนล้านบาท ที่จะเริ่มใช้ในเดือนมิ.ย.2567ที่ต้องทำเร่งด่วน

เมื่อถามว่า กรณีที่ประชาชนมีข้อสงสัยว่าเงินฝาก 5 แสนบาท รวมไปถึงสลากออมสิน หุ้นกู้ กองทุนรวม และเงินเกษียณด้วยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า นับเฉพาะเงินฝากอย่างเดียว ไม่นับกองทุนรวม เพราะตรวจสอบไม่ได้ ส่วนเงินเกษียณ ถ้าอยู่ในบัญชีก็นับรวมด้วย ส่วนเงินสดที่เก็บอยู่ที่บ้านไม่นับ โดยจะเริ่มตรวจสอบว่ามีเงินในบัญชีตั้งแต่เดือนก.ย.66 ทั้งนี้เมื่อครั้งรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เติมเงินในแอปพลิเคชันเป๋าตัง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่พบว่า 15 % ไม่มีการใช้จ่ายเพราะคนไม่ได้ใช้ 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ประชาชนไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะมีเงินพอที่จะนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ทั้งที่ก่อนหน้านี้ประชาชนเชื่อว่าพรรคเพื่อไทย หาเงินได้ ใช้เงินเป็น นายกฯ กล่าวว่า “ ผมเป็นนายกฯที่มาจากพรรคอะไร พรรคเพื่อไทย สื่อก็บอกว่าหาเงินได้ใช้เงินเป็น ผมก็มั่นใจว่าผมหาเงินได้ใช้เงินเป็น ส่วนเรื่องที่มาของการออกจะเป็นพ.ร.บ. เงินกู้ ทางผู้ว่าธนาคารประเทศไทย (ธปท.) ได้บอกเองว่า นายกฯ กู้ดีกว่า ตอนนี้จาก 61% เป็น 64% เพราะเพดานเงินกู้อยู่ที่ 70% ให้กู้เลย ถ้านำมาใส่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตบวกกับโครงการอื่น และหากยกระดับจีดีพีขึ้นไป สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะลดตามไป แม้หนี้จะเพิ่ม แต่ถ้าจีดีพีมากกว่าหนี้จะลดลง”

#เงินดิจิทัล #ดิจิทัลวอลเล็ต #กู้เงิน #แบงก์ชาติ