ซูเปอร์โพล ห่วงใยโจรไซเบอร์ใช้นโยบายรัฐหลอกลวงประชาชน แนะรัฐเร่งเสริมสร้างความตระหนักต่อความปลอดภัยทางไซเบอร์ก่อนวันกดปุ่มแจกเงินให้ประชาชนผ่านทางมือถือ

     เมื่อวันที่ 12 พ.ย.66 ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้งสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (Super Poll) ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ กล่าวในฐานะผู้แทนภาคประชาชนในกรรมการผู้ทรงคุณวุฒินโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) เปิดเผยผลการศึกษาเรื่อง ภัยอยู่กับมือ เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลจากผลสำรวจและแหล่งอื่นๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.0 เคยถูกหลอกลวงในโลกออนไลน์จากการใช้โซเชียล และแม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์เกินครึ่งหรือร้อยละ 51.2 เคยตกเป็นเหยื่อขบวนการมิจฉาชีพในโลกออนไลน์หลายรูปแบบ เช่น ลิงก์ล่อเหยื่อ เข้าใช้บริการระบบออนไลน์ไม่ได้ การถูกดูดเงินออกไปจากบัญชี และอื่นๆ ปัญหาอันตรายเหล่านี้คือภัยอยู่กับมือของประชานทุกคน 

     การที่รัฐบาลจะแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้ประชาชนกว่า 50 ล้านคนทั่วประเทศ รวมเป็นเงินกว่า 5 แสนล้านบาท จึงกลายเป็นบ่อน้ำมันทรัพยากรอันมีค่ามหาศาลล่อตาล่อใจให้ขบวนการ โจรไซเบอร์ กล้าลงทุนเข้ามาโจมตีระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ของรัฐบาลและที่โจมตีง่ายที่สุดคือโทรศัพท์มือถือของประชาชน จึงกลายเป็น ภัยอยู่กับมือที่รัฐบาลและหน่วยงานความมั่นของชาติจะนิ่งนอนใจต่อไปไม่ได้ เพราะการโจมตีทางไซเบอร์ไปยังมือถือของประชาชนกำลังเป็นปัญหาใหญ่อยู่ทั่วโลกในเวลานี้

     ที่น่าพิจารณาคือ การสื่อสารกับประชาชนที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง แถลงต่อประชาชนทั้งประเทศถึงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านแอปพลิเคชันไปยังมือถือของประชาชนเป็นส่วนใหญ่ทั้งประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนระดับอำเภอทุกอำเภอและการพัฒนาเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งเสริมสร้างความตระหนักต่อความปลอดภัยทางไซเบอร์มาเป็นวาระสำคัญเร่งด่วนก่อนวันกดปุ่มแจกเงินให้ประชาชนผ่านทางมือถือ เพราะจุดอ่อนที่สุดของการโจมตีทางไซเบอร์โดย โจรไซเบอร์ คือ ปลายทาง (End Point) นั่นคือโทรศัพท์มือถือของประชาชนและนั่นคือข้อมูลส่วนตัวของประชาชน เลขที่บัตรประชาชน เลขที่บัญชีธนาคาร การทำธุรกรรมทางการเงินของประชาชนผ่านทางโทรศัพท์มือถือตกอยู่ในอันตรายที่เรียกว่า ภัยอยู่กับมือ

     ที่น่าพิจารณาอีกคือ การที่นายเศรษฐาประกาศจะพัฒนาเป๋าตัง ไปสู่การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนที่ทำให้เกิดความปลอดภัยสูง ความโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล ป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น และการนำเทคโนโลยีความปลอดภัยสูงไปใช้ประโยชน์พัฒนาประเทศมิติอื่น ๆ นั้นถือได้ว่านายเศรษฐาคนแรกของประเทศไทยและคนแรกๆ ของโลกที่กล้าจะใช้เทคโนโลยีความปลอดภัยสูงมาทำให้บ้านเมืองขาวสะอาดลดปัญหาทุจริตคอรัปชั่นและความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชนได้ผลสำเร็จอย่างยั่งยืน ถ้านโยบายของรัฐบาลชุดนี้ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันไม่ถูกสกัดเสียก่อน
   
  ผศ.ดร.นพดล กล่าวต่อด้วยว่า จากการประชุม ก.ต.ช. ครั้งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้รับมอบนโยบายจากนายกฯ  และมีโอกาสสนทนารับทราบแนวทางการดูแลความปลอดภัยของประชาชนจาก พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) คนปัจจุบัน ทำให้ได้รับรู้ถึงความตั้งใจและแนวทางในการดูแลรักษาความสุขสงบและความปลอดภัยของประชาชนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

      จากการศึกษาพบว่า ผบ.ตร.คนใหม่ ให้ความสำคัญออกมาตรการป้องกันและปราบปรามควบคู่ไปกับการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ตั้งแต่ก่อนเป็น ผบ.ตร.จนถึงวันนี้ รัฐบาลและทุกภาคส่วนจึงควรนำขึ้นมาเป็นวาระสำคัญของชาติอีกวาระหนึ่งที่ควรทำควบคู่ไปกับการเตรียมการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของรัฐบาล โดยพิจารณาจากข้อมูลที่พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ แถลงผลงาน 1 เดือน ว่ามีสถิติรับแจ้งความปัญหาภัยออนไลน์ที่สามารถอายัดได้ทันกว่าพันล้านบาทจากคดีภัยออนไลน์กว่าสามแสนคดี มูลค่าความเสียหายกว่าสี่หมื่นล้านบาท โดยมีการหลอกลวงหลายรูปแบบ เช่น คดีหลอกซื้อขายสินค้าและบริการฯ หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน หลอกให้กู้เงิน กรณีนี้จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าเป็นปัญหาภัยไซเบอร์