“นักวิชาการด้านไซเบอร์” ปลื้ม “รัฐบาล-ตร.” เห็นความสำคัญความปลอดภัยทางไซเบอร์รองรับแจกเงินดิจิทัล ขณะที่ “ซูเปอร์โพล” เผยผลสำรวจ“ภัยอยู่กับมือ” พบบปชช.-จนท.รัฐเคยตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์ ห่วงเงินดิจิทัลล่อตาล่อใจโจรไซเบอร์ 

วันที่ 12 พ.ย. 2566 ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้งสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (Super Poll) และศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยจอร์ชทาวน์ วอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ กล่าวในฐานะผู้แทนภาคประชาชนในกรรมการผู้ทรงคุณวุฒินโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) เปิดเผยผลการศึกษาเรื่อง ภัยอยู่กับมือ เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลจากผลสำรวจและแหล่งอื่น ๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.0 เคยถูกหลอกลวงในโลกออนไลน์จากการใช้โซเชียล และแม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์เกินครึ่งหรือร้อยละ 51.2 เคยตกเป็นเหยื่อขบวนการมิจฉาชีพในโลกออนไลน์หลายรูปแบบ เช่น ลิงก์ล่อเหยื่อ เข้าใช้บริการระบบออนไลน์ไม่ได้ การถูกดูดเงินออกไปจากบัญชี และอื่น ๆ ปัญหาอันตรายเหล่านี้คือ ภัยอยู่กับมือของประชานทุกคน การที่รัฐบาลจะแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้ประชาชนกว่า 50 ล้านคนทั่วประเทศ รวมเป็นเงินกว่า 5 แสนล้านบาทจึงกลายเป็นบ่อน้ำมันทรัพยากรอันมีค่ามหาศาลล่อตาล่อใจให้ขบวนการ “โจรไซเบอร์” กล้าลงทุนเข้ามาโจมตีระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ของรัฐบาล และที่โจมตีง่ายที่สุดคือ โทรศัพท์มือถือของประชาชน จึงกลายเป็นภัยอยู่กับมือที่รัฐบาลและหน่วยงานความมั่นของชาติจะนิ่งนอนใจต่อไปไม่ได้ เพราะการโจมตีทางไซเบอร์ไปยังมือถือของประชาชนกำลังเป็นปัญหาใหญ่อยู่ทั่วโลกในเวลานี้

ที่น่าพิจารณา คือการสื่อสารกับประชาชนที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแถลงต่อประชาชนทั้งประเทศถึงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านแอปพลิเคชันไปยังมือถือของประชาชนเป็นส่วนใหญ่ทั้งประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนระดับอำเภอทุกอำเภอ และการพัฒนาเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งเสริมสร้างความตระหนักต่อความปลอดภัยทางไซเบอร์มาเป็นวาระสำคัญเร่งด่วนก่อนวันกดปุ่มแจกเงินให้ประชาชนผ่านทางมือถือ เพราะจุดอ่อนที่สุดของการโจมตีทางไซเบอร์โดย “โจรไซเบอร์” คือ ปลายทาง (End Point) นั่นคือโทรศัพท์มือถือของประชาชนและนั่นคือข้อมูลส่วนตัวของประชาชน เลขที่บัตรประชาชน เลขที่บัญชีธนาคาร การทำธุรกรรมทางการเงินของประชาชนผ่านทางโทรศัพท์มือถือตกอยู่ในอันตรายที่เรียกว่า ภัยอยู่กับมือ 

ที่น่าเป็นห่วงคือ ภัยอยู่กับมือของประชาชนนี้ควรนับรวมภัยต่อความมั่นคงของชาติ ภัยต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่อยู่กับโทรศัพท์มือถือของประชาชนทุกคนด้วย โดยขบวนการโจรไซเบอร์พร้อมจะลงทุนใช้เทคโนโลยีมาโจมตีเอาเงินที่มีมูลค่าเป็นแสนล้านบาทจากนโยบายแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาล เพราะโจรไซเบอร์เคยโจมตีระบบความปลอดภัยสูงทางไซเบอร์กับระบบบล็อกเชนมาแล้วเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน ขบวนการโจรไซเบอร์ทำให้เกิดความเสียหายหลักหมื่นล้านบาท แต่สำหรับประเทศไทยมูลค่าห้าแสนล้านบาทจึงถือเป็นที่ล่อตาล่อใจให้ขบวนการโจรไซเบอร์ลงทุนโจมตีในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งอย่างแน่นอน 

ที่น่าพิจารณาคือ การที่นายเศรษฐา ประกาศจะพัฒนาแอปพลิเคชันเป๋าตัง ไปสู่การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนที่ทำให้เกิดความปลอดภัยสูง ความโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล ป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น และการนำเทคโนโลยีความปลอดภัยสูงไปใช้ประโยชน์พัฒนาประเทศมิติอื่น ๆ นั้นถือได้ว่านายเศรษฐา จะเป็นนายกรัฐมตรีคนแรกของประเทศไทยและคนแรก ๆ ของโลกที่กล้าจะใช้เทคโนโลยีความปลอดภัยสูงมาทำให้บ้านเมืองขาวสะอาดลดปัญหาทุจริตคอรัปชั่น และความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชนได้ผลสำเร็จอย่างยั่งยืน ถ้านโยบายของรัฐบาลชุดนี้ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ไม่ถูกสกัดเสียก่อน

ผศ.ดร.นพดล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒินโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ด้านผู้แทนภาคประชาชน กล่าวต่อด้วยว่า จากการประชุม ก.ต.ช. ครั้งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการรับมอบนโยบายจากนายกรัฐมนตรี และมีโอกาสสนทนารับทราบแนวทางการดูแลความปลอดภัยของประชาชนจาก พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนปัจจุบัน ทำให้ได้รับรู้ถึงความตั้งใจ และแนวทางในการดูแลรักษาความสุขสงบ และความปลอดภัยของประชาชนอย่างจริงจัง และต่อเนื่องในฐานะผู้นำหน่วยที่ดี เก่ง และกล้า ตามที่สื่อมวลชนจำนวนมากตั้งฉายาเป็นตำรวจสายบุญ เก่งเพราะความรู้ความสามารถและกล้าทำคือทันทีที่ได้รับตำแหน่ง ผบ.ตร. ได้ลงพื้นที่ยุทธศาสตร์ปลายด้ามขวานของประเทศไทยคือสามจังหวัดชายแดนใต้ และทำเรื่องที่ท้าทายยากมากที่สุดอีกเรื่องหนึ่งคือ ป้องกันอันตรายของประชาชนในโลกไซเบอร์

จากการศึกษาพบว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ให้ความสำคัญออกมาตรการป้องกันและปราบปรามควบคู่ไปกับการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ตั้งแต่ก่อนเป็น ผบ.ตร.จนถึงวันนี้ รัฐบาลและทุกภาคส่วนจึงควรนำขึ้นมาเป็นวาระสำคัญของชาติอีกวาระหนึ่งที่ควรทำควบคู่ไปกับการเตรียมการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของรัฐบาล โดยพิจารณาจากข้อมูลที่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ แถลงผลงาน 1 เดือนว่ามีสถิติรับแจ้งความปัญหาภัยออนไลน์ที่สามารถอายัดได้ทันกว่าพันล้านบาทจากคดีภัยออนไลน์กว่าสามแสนคดี มูลค่าความเสียหายกว่าสี่หมื่นล้านบาท โดยมีการหลอกลวงหลายรูปแบบ เช่น คดีหลอกซื้อขายสินค้าและบริการฯ หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน หลอกให้กู้เงิน กรณีนี้จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าเป็นปัญหาภัยไซเบอร์

ที่น่าสนใจคือ การช่วยเหลือประชาชนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้รู้เท่าทันป้องกันภัยออนไลน์ในโลกไซเบอร์คือด้วยความห่วงใยของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ได้เปิดช่องทางเพื่อให้ความรู้และเสริมสร้างความตระหนักความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้แก่ประชาชน สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ “ฉลาดโอน” chaladohn.com ที่ช่วยเหลือประชาชน เพื่อป้องกันภัยการฉ้อโกงออนไลน์ ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลมิจฉาชีพ ได้แก่ เลขบัญชีธนาคาร เบอร์โทร SMS หลอกลวง เว็บไซต์ฉลาดโอนช่วยให้ประชาชนมีเครื่องมือสำหรับใช้ในการตรวจสอบข้อมูลมิจฉาชีพ เป็นเสมือนศูนย์กลาง ในการตรวจสอบข้อมูลของมิจฉาชีพที่อยู่ทั้งในและนอกประเทศ โดยมีระบบการทำงานแบ่งเป็นสี่ระบบ ได้แก่ ระบบเช็กก่อนโอนตรวจสอบข้อมูล ระบบแจ้งคนโกง ระบบช่วยรวมหลักฐาน รับฟัง จัดลำดับเหตุการณ์ และระบบยืนยันตัวตนผู้ขาย โดยระบบจะเริ่มใช้งานได้ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย. เป็นต้นไป 

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังพบด้วยว่า มีประชาชนเข้าไปเช็กคนโกงกว่า 3,389,840 ครั้ง เช็กตัวต้นผู้ขายกว่า 24,629 ครั้ง แจ้งคนโกงกว่า 410,900 ราย ดังนั้น ทุกภาคส่วนควรเร่งหันมาสนใจ ภัยอยู่กับมือ ของทุกคน โดยจำเป็นต้องมีการออกกฎหมายเป็น พ.ร.บ. ความปลอดภัยทางไซเบอร์ ให้ประชาชนทุกคนอยู่ในความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ได้มาตรฐานสากล เพราะจากการสำรวจของซูเปอร์โพลล่าสุด พบว่า เจ้าหน้าที่รัฐด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ส่วนใหญ่หรือกว่าร้อยละ 80 ยังมีความรู้ความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ ISO 27000 และ ISO 31000 ทั้งในส่วนความปลอดภัยของข้อมูลและการจัดการความเสี่ยง อยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง เท่านั้น จึงควรเร่งปรับปรุงยกระดับมาตรฐานคุณภาพของเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยรัฐบาลนำเงินบางส่วนจากแสนล้านบาทมาลงทุนยกเครื่องความรู้ความสามารถ ความตระหนักในความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์น่าจะทำให้ ภัยอยู่กับมือ กลายเป็น ความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยของประชาชนอยู่ในมือทุกคนได้