"ชัยชนะ" อัดนโยบายเงินดิจิทัล เข้าทำนองกลับไม่ได้ ไปไม่ถึง เตรียมหาทางลงโดยการออก พ.ร.บ. หวังโยนบาปสส.ที่ไม่เห็นด้วยว่าเป็นผู้ขวางไม่ให้ดำเนินนโยบาย ชี้แค่รักษาแบรนด์ "เพื่อไทย" เรื่องประชานิยม แนะหานโยบายที่มีความเหมาะสม หลังชาวบ้านบอกขอเงินที่ใช้ได้จริง ไม่ใช่เงินสกุลในอากาศ

วันที่ 12 พย.2566 นายชัยชนะ เดชเดโช  ส.ส.นครศรีธรรมราชและรักษาการรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์  กล่าวถึงกรณีนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่หลายฝ่ายมีการวิพากษ์วิจารณ์ในขณะนี้ว่า นโยบายดังกล่าว ถือเป็นการเทหน้าตักอีกเรื่องของพรรคเพื่อไทยในช่วงของการจัดตั้งรัฐบาล เพราะต้องการจะดันให้เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อหวังคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อๆไป โดยหวังว่าจะสามารถสร้างภาพจำให้กับประชาชนในเรื่องของประชานิยม ซึ่งตลอดมาถือว่าถ้านึกถึงพรรคเพื่อไทย ก็ต้องนึกถึงนโยบายทำนองนี้ รวมทั้ง ยังเป็นการทุ่มหมดหน้าตักทางด้านตัวบุคคล

โดยนายเศรษฐา ตั้งใจที่จะมาควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ด้วยตนเอง มีการส่งขุนพลคู่ใจอย่าง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ มาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ และ เอาข้าราชการประจำที่เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจอย่าง นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ มาเป็นมือไม้ โดยหวังเกลี้ยกล่อมให้ข้าราชการประจำคล้อยตามนโยบายดังกล่าว แต่ปรากฏว่า มาจนถึงวันนี้ ก็ไม่มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงฯ แสดงท่าทีว่าจะสนับสนุนนโยบายนี้ รวมทั้ง เท่าที่มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ก็ไม่มั่นใจว่า นโยบายนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง เหมือนกับการนำเงินที่ไม่รู้ว่ามีจริงหรือไม่ มาใช้ดำเนินนโยบายโดยวัดดวงแบบไปตายเอาดาบหน้า และก็ได้สะท้อนกลับมาอย่างจริงจังว่า ขอเป็นเงินสดที่ใช้ได้จริง ณ วันนี้ ไม่ใช่เงินสกุลในอากาศที่เขาต้องรอกระบวนการต่างๆ มากมาย ซึ่งเชื่อว่ามีช่องทางในการทุจริตตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ

"ผมเชื่อว่า นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท นั้น เข้าทำนองที่ว่า ‘กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง’ เพราะก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทยก็โฆษณาหาเสียงว่า จะดำเนินนโยบายโดยไม่มีการกู้เงินมาอย่างแน่นอน แต่ปรากฏว่า สุดท้ายก็ต้องหาทางลงแบบไม่ให้เสียหน้ามาก โดยเปิดช่องให้มีการตราเป็นพระราชบัญญัติ เพื่อที่ต้องการให้ สส. ที่ไม่เห็นด้วย ลงมติไม่เห็นชอบ และหวังจะโยนบาปว่า ที่ทำนโยบายไม่ได้ เพราะ สส. ที่ลงมติไม่เห็นชอบ จะได้มาเป็นข้ออ้างเพื่อเรียกร้องความสงสารจากประชาชน

ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ควรนำเสียงจากประชาชนมาปรับปรุงนโยบายดังกล่าว ซึ่งถือว่า ยังมีเวลาที่จะเปลี่ยนแปลงแนวทางในการทำนโยบาย โดยยึดถือประโยชน์ที่ประชาชนจะได้เป็นสำคัญ มากกว่าจะดันทุรังเพื่อให้คนไม่กี่คนได้ประโยชน์บนความทุกข์ของประชาชนและลูกหลานในอนาคตด้วย" นายชัยชนะ กล่าว

นายชัยชนะ กล่าวว่า ตนเข้าใจว่า พรรคเพื่อไทยต้องการรักษาแนวทางประชานิยมที่ทำให้ตนเองได้คะแนนนิยมมาตลอดในการเลือกตั้ง และนโยบายนี้ถือเป็นการเทหมดหน้าตักของจริง ซึ่งผมเห็นว่า น่าจะเป็นเที่ยวสุดท้าย เพราะก่อนหน้านี้ เรื่องนโยบายจำนำข้าว ก็มีการดำเนินการไปจนสุดซอย แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาปรากฏว่า ประเทศติดหนี้โครงการดังกล่าวมหาศาล จนต้องมีการตั้งงบประมาณเพื่อชดใช้เงินคงคลังมาตลอดหลายปี และเชื่อว่ารัฐบาลนี้ก็จะต้องตั้งงบประมาณชดใช้โครงการที่พรรคเพื่อไทยเอง เป็นผู้ก่ออีกด้วย

ซึ่งนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท นั้น ตนเกรงว่า หากดึงดันทำไปแล้ว จะส่งผลเสียต่อประเทศในระยะยาว เพราะไม่สามารถคาดเดาไว้ว่า อัตราเงินดิจิทัลจะมีอัตราแลกเปลี่ยนเท่าใดในช่วงเวลาที่ดำเนินโครงการ ซึ่งมีความเสี่ยงมาก เพราะฉะนั้น ถ้ารัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ต้องการอยากจะกระตุ้นเศรษฐกิจของประชาชนจริงๆ ก็ต้องหานโยบายที่มีความเหมาะสม เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีความสบายใจ และเต็มใจที่จะช่วยเหลือและเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ประสบความสำเร็จตามที่ผู้วางนโยบายคาดหวังเอาไว้