วันที่ 12 พ.ย. 2566 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยถึงกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง แถลงข่าวเมื่อวันที่ 10 พ.ย. ถึงการออก พ.ร.บ.กู้เงินมาใช้ในโครงการ Digital Wallet ในวงเงิน 500,000 ล้านบาท นั้น กรณีดังกล่าวมีการวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความเห็นต่างๆ นานา กันอย่างแพร่หลาย แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้นำข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องมากล่าวเพิ่มด้วย เพราะนายกฯ เศรษฐา กล่าวเพียงเฉพาะส่วนว่า การจะออก พ.ร.บ.กู้เงินดังกล่าวนั้น เป็นไปตามมาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

นายเรืองไกร กล่าวว่า การที่นายกฯเศรษฐา พูดถึงเพียงมาตรา 53 เท่านั้น ไม่น่าจะครบถ้วนถูกต้อง เพราะการจะออกกฎหมายกู้เงินดังกล่าว ซึ่งเป็นกฎหมายการเงิน ที่มีทั้งข้อกฎหมายและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องอีกมาก ตนเห็นว่า เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อเงินแผ่นดินที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา จึงต้องทำหนังสือเตือนถึงนายกฯเศรษฐาเพื่อให้ทราบถึงข้อกฎหมายและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปตรวจสอบการจะตราพระราชบัญญัติกู้เงิน ดังกล่าว มาใช้ในโครงการ Digital Wallet นั้น ว่าจะเข้าข่ายฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย หรือไม่ คณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบร่วมกันในฐานะผู้ลงมติในการเสนอร่างพระราชบัญญัติ หรือไม่ ดังนี้

ข้อ 1. เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2566 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลได้ลงข่าวหัวข้อ “เศรษฐา” เดินหน้า Digital Wallet อัดฉีดเงินเข้ากระเป๋าปชช. กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ พร้อมแจงที่มาของงบฯ ย้ำชัด ไม่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ โดยมีความตอนหนึ่งว่า

“นายเศรษฐายังได้ชี้แจงรายละเอียดที่มาของงบประมาณโครงการด้วยว่า คำตอบที่เป็นไปได้มากที่สุดในการดำเนินนโยบายนี้ คือการออก พรบ.เป็นวงเงิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งมีความโปร่งใส ภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุลในระบบรัฐสภา ซึ่งตนมั่นใจว่า จะได้รับการอนุมัติโดยรัฐสภา และเป็นไปตามมาตรา 53 พรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561พ.ร.บ.การกู้เงินดังกล่าวจะระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ในโครงการ Digital Wallet ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และรัฐบาลจะทำการกู้เงิน ก็ต่อเมื่อ มีการนำเงินไปใช้และนำมาขึ้นเป็นเงินสด ซึ่งนี่จะเป็นการทำให้เงินในระบบทั้งหมดใหญ่ขึ้นกว่า 500,000 ล้าน ซึ่งจะหมุนเวียนและกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยยะ ผสมกับงบประมาณ 100,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการที่กล่าวไปทั้งหมด ทุกท่านไม่ต้องห่วงเรื่องของการใช้เงินคืน รัฐบาลจะมีแผนจัดสรรเงินงบประมาณมาเพื่อจ่ายคืนเงินส่วนที่เป็นเงินกู้ตลอดระยะเวลา 4 ปี”

ข้อ 2. การที่นายกฯเศรษฐา กล่าวว่า “… ซึ่งตนมั่นใจว่า จะได้รับการอนุมัติโดยรัฐสภา และเป็นไปตามมาตรา 53พรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 …” นั้น จึงต้องไปดูพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 53 ให้เข้าใจโดยถ่องแท้ ซึ่งบัญญัติว่า

“มาตรา 53 การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะและเฉพาะกรณีที่มีความจําเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติ ของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน

กฎหมายที่ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ การดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้นั้น

เงินที่ได้รับจากการกู้เงินตามวรรคหนึ่ง ให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ เบิกไปใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการตามที่กฎหมายกำหนดได้โดยไม่ต้องนําส่งคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมาย บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

ข้อ 3. เนื่องจากมาตรา 53 ดังกล่าว อยู่ในส่วนที่ 4 การก่อหนี้และการบริหารหนี้ ซึ่งมีตั้งแต่มาตรา 49 ถึงมาตรา 60 โดยมีมาตราที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 53 เกี่ยวข้องด้วย คือ

มาตรา 52 มาตรา 54 มาตรา 57 มาตรา 58 มาตรา 59 ซึ่งคณะรัฐมนตรีต้องทราบดีอยู่แล้ว 

ข้อ 4. โดยที่มาตรา 52 บัญญัติว่า

“มาตรา 52 การกู้เงินของรัฐบาล และการค้ำประกันการชําระหนี้ของหน่วยงานของรัฐ โดยรัฐบาล ให้ปฏิบัติตามที่บัญญัติในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะโดยเคร่งครัด

การก่อหนี้ของหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นไปตามมาตรา 49 รัฐบาลจะค้ำประกันการชําระหนี้นั้นไม่ได้”

ข้อ 5. ดังนั้น การจะออก พรบ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการกู้เงินของรัฐบาล จึงต้องปฏิบัติตามที่บัญญัติในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะโดยเคร่งครัด กรณี จึงควรไปพิจารณาพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ด้วย โดยเฉพาะมาตรา 20 และมาตรา 22 ที่บัญญัติว่า

“มาตรา 20 ให้กระทรวงการคลังกู้เงินได้เฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(1) ชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือเมื่อมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้

(1/1) บริหารสภาพคล่องของเงินคงคลัง

(2) พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

(3) ปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ

(4) ให้หน่วยงานอื่นกู้ต่อ

(5) พัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ

เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศที่ได้รับจากการกู้เงินตาม (2) ถึง (5) ให้นําไปใช้ได้ ตามวัตถุประสงค์ของการกู้เงินหรือตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติโดยไม่ต้องนําส่งคลังตามกฎหมาย ว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง”

“มาตรา 22 การกู้เงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้กระทำได้เมื่อมีความ จำเป็นต้องใช้จ่ายเงินนอกเหนือจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและต้องใช้เป็นเงินตราต่างประเทศ หรือจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินของประเทศ โดยให้กระทรวงการคลังกู้เป็นเงินตราต่างประเทศได้ไม่เกินร้อยละสิบของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

การกู้เงินตามวรรคหนึ่งให้กำหนดวัตถุประสงค์ของการใช้เงินอย่างชัดเจนและเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนดโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี”

ข้อ 5. การจะออก พรบ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท ดังกล่าว จึงควรตกอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ มาตรา 20 (2) และยังต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ในมาตราต่าง ๆ อีกด้วย เช่น

“มาตรา 62 รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลัง ของรัฐมีเสถียรภาพและมั่นคงอย่างยั่งยืนตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ และจัดระบบภาษี ให้เกดความเป็นธรรมแก่สังคม

กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับกรอบการดำเนินการ ทางการคลังและงบประมาณของรัฐ การกำหนดวินัยทางการคลังด้านรายได้และรายจ่ายทั้งเงินงบประมาณ และเงินนอกงบประมาณ การบริหารทรัพย์สินของรัฐและเงินคงคลัง และการบริหารหนี้สาธารณะ”

“มาตรา 133 ร่างพระราชบัญญัติให้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อน และจะเสนอได้ก็แต่โดย

(1) คณะรัฐมนตรี

(2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่ายี่สิบคน

(3) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

ในกรณีที่ร่างพระราชบัญญัติซึ่งมีผู้เสนอตาม (2) หรือ (3) เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน จะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคํารับรองของนายกรัฐมนตรี”

“มาตรา 134 ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน หมายความถึงร่างพระราชบัญญัติ ว่าด้วยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(1) การตั้งขึ้น ยกเลิก ลด เปลี่ยนแปลง แก้ไข ผ่อน หรือวางระเบียบการบังคับอันเกี่ยวกับ ภาษีหรืออากร

(2) การจัดสรร รับ รักษา หรือจ่ายเงินแผ่นดิน หรือการโอนงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน

(3) การกู้เงิน การค้ำประกัน การใช้เงินกู้ หรือการดำเนินการที่ผูกพันทรัพย์สินของรัฐ

(4) เงินตรา

ในกรณีที่เป็นที่สงสัยว่าร่างพระราชบัญญัติใดเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ให้เป็นอำนาจของที่ประชุมร่วมกันของประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานคณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎร ทุกคณะเป็นผู้วินิจฉัย

ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรจัดให้มีการประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณากรณีตามวรรคสอง ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีกรณีดังกล่าว

มติของที่ประชุมร่วมกันตามวรรคสอง ให้ใช้เสียงข้างมากเป็นประมาณ ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด”

“มาตรา 140 การจ่ายเงินแผ่นดิน จะกระทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง หรือกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ เว้นแต่ในกรณีจําเป็นรีบด่วน จะจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ในกรณีเช่นว่านี้ ต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายชดใช้ในพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายหรือพระราชบัญญัติงบประมาณ รายจ่ายเพิ่มเติม หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไป”

“มาตรา 164 ในการบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติ แห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ด้วย

(1) ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ เปิดเผย และมีความรอบคอบ และระมัดระวังในการดำเนินกิจการต่างๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม

(2) รักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ อย่างเคร่งครัด

(3) ยึดถือและปฏิบัติตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

(4) สร้างเสริมให้ทุกภาคส่วนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรม ผาสุก และสามัคคีปรองดองกัน

รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของตน รวมทั้ง ต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในการกำหนดนโยบายและการดำเนินการตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี”

ข้อ 6. ดังนั้น การจะออก พรบ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ที่จะต้องเห็นชอบร่วมกันในคณะรัฐมนตรี จึงไม่อาจพิจารณาเฉพาะจากมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ตามที่นายกฯเศรษฐาแถลงข่าว เท่านั้น แต่ยังต้องอยู่ในบังคับภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติของกฎหมายในมาตราที่เกี่ยวข้องด้วย หากคณะรัฐมนตรีมีการฝ่าฝืน ก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน

นายเรืองไกร กล่าวว่า กรณีตามหนังสือวันนี้ เป็นเรื่องข้อกฎหมายแทบทั้งสิ้น ที่ควรเตือนก่อนที่จะเกิดความเสียหายต่อเงินแผ่นดินซึ่งมีวงเงินสูงถึง 500,000 ล้านบาท กรณี จึงจำเป็นต้องส่งหนังสือเตือนถึงนายกฯเศรษฐาเพื่อขอให้ตรวจสอบการจะตราพระราชบัญญัติกู้เงิน มาใช้ในโครงการ Digital Wallet นั้น ว่าจะเข้าข่ายฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย หรือไม่ คณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบร่วมกันในฐานะผู้ลงมติในการเสนอร่างพระราชบัญญัติ หรือไม่