สทนช.ผนึกกำลัง 5 หน่วยงาน เดินหน้าแผนอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรน้ำอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมนำร่อง “จัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำโขงเหนือ” ก่อนขยายผลครอบคลุมพื้นที่ต้นแบบลุ่มน้ำหลักภาคเหนือ
วันที่ 11 พ.ย.66 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย ติดตามความคืบหน้า “โครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำโขงเหนือ” หนึ่งในแผนการบริหารจัดการน้ำภายใต้แผนแม่บทน้ำ 20 ปี พร้อมกับติดตามสถานการณ์น้ำ เขื่อนแม่สรวย และเขื่อนเชียงราย เพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ บรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งให้กับประชาชนในพื้นที่
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช.ได้ร่วมมือกับกรมพัฒนาที่ดิน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรน้ำ จัดทำบันทึกความเข้าใจ MOU “การอนุรักษ์ ฟื้นฟูระบบนิเวศ และป้องกันการชะ ล้างพังทลายของดินแบบบูรณาการ ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี” พร้อมกับร่วมกันกำหนดพื้นที่นำร่อง 6 ลุ่มน้ำหลักของพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ ลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำโขงเหนือ ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน เพื่อเป็นต้นแบบการดำเนินการบูรณาการอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะพื้นที่ต้นน้ำและพื้นที่เกษตรลาดชันซึ่งเสี่ยงต่อการพังทลายของดิน เป็นการผสมผสานรูปแบบการจัดการพื้นที่โดยใช้มาตรการเชิงนิเวศ (Nature based Solution) ร่วมกับการปรับรูปแบบการใช้ที่ดินให้เหมาะสม เกิดการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
ลุ่มน้ำโขงเหนือ จังหวัดเชียงราย เป็น 1 ใน 6 พื้นที่ลุ่มน้ำต้นแบบของการดำเนินการด้านการอนุรักษ์ระบบนิเวศทรัพยากรน้ำอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้แผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี เนื่องด้วยลุ่มน้ำโขงเหนือ ประสบปัญหาด้านอุทกภัยและภัยแล้งเป็นประจำจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งพื้นที่ป่าไม้ถูกบุกรุกเพื่อทำการเกษตร ทำให้ช่วงหน้าฝนน้ำไหลหลากรวดเร็วและมีปริมาณน้ำหลากสูงขึ้น ลำน้ำตื้นเขิน ความลาดชันลำน้ำตอนล่างน้อยทำให้ความจุลำน้ำไม่เพียงพอต่อการไหลหลากของน้ำจากพื้นที่ตอนบน รวมถึงมีสิ่งกีดขวางทางน้ำทำให้ประสิทธิภาพการระบายน้ำลดลง ที่สำคัญไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภคได้อย่างเพียงพอ เกิดปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องมีการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมและบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
โครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำโขงเหนือ เป็นแนวทางหนึ่งของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของลุ่มน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากผังน้ำจะเป็นตัวกำหนดขอบเขตพื้นที่ทางน้ำหลาก เพื่อใช้เป็นพื้นที่ระบายน้ำแทนการใช้ประโยชน์ด้านอื่นที่จะขวางการไหลของน้ำ อีกทั้งเป็นเกณฑ์ในการออกแบบอาคารหรือประตูระบายน้ำ เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นทั้งการชะลอการไหลของน้ำในฤดูฝนและการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง สอดคล้องกับสภาพปัญหาและบริบทของชุมชน รวมถึงสามารถนำผังน้ำไปเชื่อมโยงกับผังเมือง ใช้เป็นกรอบกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินและการใช้ประโยชน์แหล่งน้ำให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งการกำหนดขอบเขตเส้นทางน้ำอย่างชัดเจน มีการจัดระบบอนุรักษ์ลำน้ำ และแจ้งให้ประชาชนทราบถึงพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยระดับต่างๆ จะช่วยเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินในระบบทางน้ำลดความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตรายและความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน และทำให้ประชาชนตระหนักถึงการทำกิจกรรมใดๆ ที่จะก่อให้เกิดการเบี่ยงเบนทางน้ำหรือสิ่งกีดขวางการไหลของน้ำในระบบทางน้ำ อันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานตามแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งและน้ำท่วม
สทนช.ได้มอบหมายให้บริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัทที่ปรึกษา ศึกษาโครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำโขงเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงรายและพะเยา เพื่อศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับองค์ประกอบของผังน้ำให้ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อนำไปเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำที่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมภัยแล้ง ควบคู่กับการอนุรักษ์ ฟื้นฟูระบบนิเวศ และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรดินและน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
เลขาธิการ สทนช. กล่าวถึงสถานการณ์น้ำของจังหวัดเชียงรายว่า เขื่อนแม่สรวย อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ลาว ประมาณ 148,000 ไร่ ส่งน้ำให้กับพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนแม่สรวยได้รับประโยชน์จำนวน 2,000 ไร่ และต้องส่งน้ำเพื่อการประปาในเขตเทศบาลแม่สรวย ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเก็บกัก 73 ล้านลบ.ม. เต็มความจุอ่าง 100% มีปริมาณน้ำใช้การได้ 70 ล้านลบ ม. ส่วนเขื่อนเชียงราย เป็นโครงการก่อสร้างบนลำน้ำสายแม่กก อ.เมือง จ.เชียงราย เพื่อเก็บกักและยกระดับน้ำในลำน้ำกกและลำน้ำสาขา ควบคุมระดับน้ำเข้าสู่พื้นที่สองฝั่งลำน้ำด้วยระบบส่งน้ำด้วยแรงโน้มถ่วง สำหรับใช้เป็นแหล่งน้ำในการอุปโภคบริโภคและการทำการเกษตรในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง พื้นที่เพาะปลูกประมาณ 78,000 ไร่ ในเขตพื้นที่อำเภอเวียงชัย กิ่งอำเภอเวียงรุ้ง และอำเภอเมือง รวม 57 หมู่บ้าน ดังนั้น การบริหารจัดการน้ำจึงมีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงกิจกรรมการใช้น้ำ เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ รวมถึงต้องบริหารจัดการน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัยควบคู่ไปด้วย