เมื่อวันที่ 11 พ.ย.66 นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก สมชัย ศรีสุทธิยากร ระบุว่า...
หรือ พ.ร.บ. เงินกู้ คือ ทางลงของเศรษฐา
การใช้แหล่งเงิน ดิจิทัล 10,000 บาท จากการออกเป็น พ.ร.บ.เงินกู้ อาจไม่ใช่การหาทางออกแต่เป็นการหาทางลงให้คุณเศรษฐา
รัฐบาลไม่กล้าออกเป็น พ.ร.ก. ที่ทำได้โดยมติ ครม. ในสมัยปิดสภา ทั้ง ๆ ที่ปากพร่ำว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนฉุกเฉิน เพราะรู้ว่า ออก พ.ร.ก. คือ คุก และ การออกเป็น พ.ร.บ. มีข้อแก้ตัวได้ว่าถ้าไม่สำเร็จ เป็นเพราะคนอื่นแทน
แต่ตอนที่คุณเศรษฐา ยิ้มแย้มตอนบอกว่า จะออก เป็น พ.ร.บ.นั้น อาจไม่รู้ไม่เข้าใจกลไกการออก พ.ร.บ. ทั้งในด้านขั้นตอนทางกฎหมายและความเขี้ยวของฝ่ายการเมือง
วันแรกที่ พ.ร.บ.เข้าสภา อำนาจต่อรองของเพื่อไทยจะเป็นศูนย์ การยกมือแต่ละมือของพรรคร่วมรัฐบาล คือ การคงอยู่หรือล้มหายของนายกรัฐมนตรีชื่อเศรษฐา เพราะหาก พ.ร.บ. ไม่ผ่านสภา นายกมี 2 ทางเลือก คือ ยุบสภาหรือลาออก
หากดันจนผ่านสภาผู้แทนได้ ยังมีด่านของวุฒิสภา หากวุฒิสภายับยั้ง ก็ต้องรออีก 180 วัน จึงจะเสนอกลับมาใหม่ได้
ยังไม่คิดถึงกรณีถูกร้องศาลรัฐธรรมนูญว่าการออก พ.ร.บ.เงินกู้ ขัดรัฐธรรมนูญ ขัดวินัยการเงินการคลังของรัฐ
ดูเส้นทาง พ.ร.บ. เงินกู้ ที่มีเส้นทางวิบากเช่นนี้ จึงบอกก่อนได้เลยว่า เดือนพฤษภาคม 2567 นั้น คืออีกหนึ่งขายฝันของรัฐบาลเพื่อไทย
พอถึงพฤษภา อาจบอกว่า ใจเย็น ๆ อีกครั้ง เพราะกระบวนการทั้งหมดทั้งสภาผู้แทน วุฒิสภา หรืออาจไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ น่าจะไม่น้อยกว่า 8 เดือน
และโอกาสแจกได้จริง มีเพียง 50/50 หรือครึ่งต่อครึ่งเท่านั้น
ไม่แน่นัก การรู้ว่า ออก พ.ร.บ. มันยากเย็นขนาดนี้ อาจเป็นการหาทางลงที่ไม่ใช่ทางออกของคนยิ้มซื่อ ๆ ที่ชื่อเศรษฐา ทวีสิน
อาจเป็นทางลงจากตำแหน่ง แต่ไม่ใช่ทางออกของการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท