วันที่ 10 พ.ย.66 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ผ่านเฟสบุ๊กในหัวข้อ นายกยืนยันโครงการแจกเงินดิจิทัลทำได้ ระบุว่า...ในการแถลงข่าววันที่ 10 พฤศจิกายน ท่านนายกเศรษฐายืนยันว่า โครงการแจกเงินดิจิทัลนั้น ทำได้อย่างแน่นอนผมขอให้กำลังใจท่าน เพราะว่าถ้าหากเดินหน้าไปแล้ว โครงการนี้ติดหล่ม คงมีประชาชนจำนวนมาก ที่จะเรียกร้องให้ท่านต้องรับผิดชอบ

ท่านแถลงว่า จะเสนอรัฐสภาให้อนุมัติ ออกพระราชบัญญัติเพื่อกู้เงินสำหรับโครงการนี้

 ผมตั้งข้อสังเกตว่า ทีมงานของกระทรวงการคลังอาจจะให้ข้อมูลแก่ท่านไม่ครบถ้วนเพราะในความเห็นของผม การออกพระราชบัญญัติเพื่อกู้เงินสำหรับโครงการนี้ กระทำไม่ได้ ด้วยเหตุผลดังนี้

 
หนึ่ง ท่านนายกคงเล็ง จะใช้ช่องทางใน พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. ๒๕๔๘ 
มาตรา ๒๐๖ ให้กระทรวงการคลังกู้เงินได้เฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(๑) ชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือเมื่อมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้
(๑/๑) บริหารสภาพคล่องของเงินคงคลัง
(๒) พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
(๓) ปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ 
(๔) ให้หน่วยงานอื่นกู้ต่อ
(๕) พัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ 
เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศที่ได้รับจากการกู้เงินตาม (๒) ถึง (๕) ให้นําไปใช้ได้ตามวัตถุประสงค์ของการกู้เงินหรือตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ โดยไม่ต้องนําส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง

 ผมมีความเห็นว่า ช่องทางเดียวที่โครงการเงินดิจิทัล จะใช้ได้ ก็คือ (๒) พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

ส่วนช่องทางอื่นนั้น เป็นปัญหาเฉพาะเรื่อง ที่ไม่สามารถดัดแปลงมาใช้กับโครงการเงินดิจิทัล

สอง แต่ช่องทางกู้เงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม นั้น มีปัญหาอยู่ในกฎหมาย
มาตรา ๒๒ การกู้เงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ให้กระทําได้เมื่อมีความจําเป็นต้องใช้จ่ายเงินนอกเหนือจากงบประมาณรายจ่ายประจําปีและต้องใช้เป็นเงินตราต่างประเทศ หรือจําเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินของประเทศ โดยให้กระทรวงการคลังกู้เป็นเงินตราต่างประเทศได้ไม่เกินร้อยละสิบของงบประมาณรายจ่ายประจําปี

ผมขอเรียนท่านนายกว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยในสมัยของ ม.ร.ว.จตุมงคล และ ม.ร.ว.ปรีดียาธร ร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. ในสมัยของผม ได้พัฒนาตลาดพันธบัตรรัฐบาลเป็นเงินบาทไว้เรียบร้อยแล้ว

เพื่อให้รัฐบาลไทยมีความสะดวกในการกู้ยืมหนี้สาธารณะ สามารถกู้ยืมเป็นเงินสกุลบาท เพื่อไม่ต้องมีความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน และ ธปท. ร่วมกับ ก.ล.ต. ได้พัฒนาความเชื่อมั่น จนกระทั่งมีนักลงทุนต่างชาติ นำเงินดอลล่าร์เข้ามาแลกเป็นเงินบาท แล้วนำไปลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทยเป็นเงินบาท

กล่าวคือ ตลาดเงินตลาดทุนของไทย ได้พัฒนาถึงขั้นที่ รัฐบาลไทยสามารถกู้ยืมและเงินจากต่างประเทศได้ โดยกู้เป็นสกุลเงินบาทซึ่งมีน้อยประเทศกำลังพัฒนา ที่สามารถทำเช่นนี้ได้

สำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัล จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องอาศัยแหล่งเงินกู้ต่างประเทศ  และไม่มีความจำเป็นจะต้องนำเงินไปใช้ในต่างประเทศ จึงไม่เข้าเงื่อนไขในส่วนแรกของมาตรา ๒๒

ส่วนเงื่อนไขส่วนหลังของมาตรา ๒๒ ซึ่งเปิดช่องให้ กรณีจําเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินของประเทศ นั้นการกู้เงินเพื่อแจกเงินดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการอุปโภคบริโภคของประชาชน นั้น 
ย่อมไม่สามารถตีความได้ว่า เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินของประเทศ

 ผมจึงขอให้ข้อมูล เพื่อเป็นประโยชน์แก่สำนักงานกฤษฎีกา และแก่รัฐมนตรี ที่จะร่วมพิจารณาเรื่องนี้