ปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคาม ร่วมกับ สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด ดำเนินการเปิดกิจกรรม (kick off ) รณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย ครั้งที่ 1 และป้องกันโรคเฮโมรายิกเซพติซีเมีย  

  ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลโนนราษี  นายวรกร อินทแพทย์ ปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานเปิดงานโครงการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย และวัคซีนป้องกันโรคเฮโมรายิกเซฟติซีเมีย (โรคท้องอืด) ให้แก่ โค โดยมีนายนายศฎายุทธ ไชยะลาด   นายอำเภอบรบือ นายบุญเยี้ยม คำโฮง นายก อบต.โนนราษี และนายณัฐวุฒิ ประทีปวณิช รองประธานสหกรรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด นายสุวิทย์ บุตรโคตร ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่าย พร้อมด้วยสัตวแพทย์หญิงอัญชลี คำใสย์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ    เข้าร่วมพิธีเปิดงานครั้งนี้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค โดยเป็นการดำเนินการก่อนรอบรณรงค์ฉีดวัคซีนปกติ เพื่อให้สัตว์มีระดับภูมิคุ้มกันที่สามารถป้องกันโรคได้ เป็นการป้องกันความเสียหาย ที่อาจจะเกิดขึ้นแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโค อีกทั้งเป็นการสร้างความเข้าใจให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม ให้ตระหนักรู้ถึงความรุนแรงของโรค ซึ่งจะเป็นแนวทางในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย  โดยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในพื้นที่ อ.บรบือ รวมทั้งปศุสัตว์อำเภอ 13 อำเภอ เข้าร่วมโครงการ Kick Off เปิดการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยรอบที่ 1/2567 (kick-off)และรณรงค์ฉีดวัคซีนโรคเฮโมรายิกเซพติซีเมีย โค กระบือ จำนวน  3,876 ตัว ภายใน 48 ชม. จากนั้นทางปศุสัตว์จังหวัดได้ลงพื้นที่ไปที่บุญมีฟาร์ม เพื่อไปฉีดวัคซีนให้กับโคนมเจ้าของฟาร์มที่มีโคนมเลี้ยงอยู่ 42 ตัว 

นายวรกร อินทแพทย์ ปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคาม  กล่าวว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากเท้าเปื่อย วัวทั่วไปปีละ 2 ครั้ง ส่วนวัวนมปีละ 3 ครั้ง โดยทางปศุสัตว์มีการฉีดวัคซีนให้ฟรี หากเกษตรกรคนใด ยังไม่ได้นำวัวไปฉีดวัคซีน ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เพื่อทำการฉีดให้ฟรี สำหรับอาการโรคปากเท้าเปื่อย สัตว์จะมีอาการซึม ไข้สูง น้ำลายไหล มีเม็ดตุ่มใส พุพอง เกิดขึ้นภายในปาก ลิ้น เหงือก เพดานปาก ข้างแก้ม ซอกกีบต่อมาเม็ดตุ่มจะแตกเป็นแผล สัตว์แสดงอาการขาเจ็บ เดินกะเผลก น้ำลายไหลมากขึ้น มีแผลในปาก ลิ้น เท้า และหัวนม

ส่วนสาเหตุ ที่เกิดโรคปากเท้าเปื่อยในโคนม มาจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้ง ที่ส่งผลต่ออาหารของวัว คือหญ้าขาดแคลน และอาจจะไม่สมบูรณ์ ทำให้สภาพวัวอ่อนแอ และติดเชื้อได้ง่าย เบื้องต้นได้แนะนำให้เกษตรกร ควบคุมการเข้าออก ฟาร์ม อย่างละเอียด มีการฆ่าเชื้อทุกครั้ง ผ่านอ่างเก็บน้ำยาฆ่าเชื้อ หมั่นสังเกตอาการของวัว งดการนำสัตว์เข้ามาเลี้ยงใหม่จากโคที่ไม่ทราบแหล่งที่มา หรือจากพื้นที่ที่มีโรคระบาด หลีกเลี่ยงให้บุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าฟาร์ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอกเลี้ยงโคและโรงรีดนม  เลือกซื้ออาหารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ว่าไม่มีโรคปากและเท้าเปื่อยระบาด ที่สำคัญทำความสะอาดและทำลายเชื้อโรคที่โรงเรือน ถังนมและอุปกรณ์ต่างๆ