สมาคมนายหน้าประกันภัยไทยแถลงการณ์ “กรณีตัวแทนประกันชีวิตลักลอบนำข้อมูลส่วนบุคคลนับล้านรายชื่อขายให้มิจฉาชีพ”
วันที่9พ.ย.2566-จากกรณีที่มีข่าวเรื่อง การจับกุมตัวแทนประกันชีวิตลักลอบนำข้อมูลส่วนบุคคลนับล้านรายชื่อขายให้มิจฉาชีพ และข่าวจับกุมโปรแกรมเมอร์สร้างแอปพลิเคชันสแกนใบหน้าปลอมให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้ถอนเงิน
ล่าสุดสมาคมนายหน้าประกันภัยไทยได้ออกแถลงการณ์ว่า สมาคมฯ รวมถึงคนกลางประกันภัยทุกภาคส่วน มีความกังวลเป็นอย่างมาก เพราะการกระทำดังกล่าวมีแต่ผลกระทบเป็นวงกว้างต่อความเชื่อมั่นของประชาชนผู้ทำประกันทุกคน โดยการกระทำดังกล่าวทำให้ประชาชนเกิดความกังวลใจว่าข้อมูลส่วนตัวจะรั่วไหลไปที่บริษัทอื่นหรือไม่ รวมถึงส่งผลกระทบกับทั้งตัวแทนและนายหน้าผู้ประกอบวิชาชีพภายใต้จรรยาบรรณอย่างถูกต้องในการสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ที่กำลังตัดสินใจทำประกันอีกด้วย
สมาคมฯ ขอเรียนแจ้งให้ทราบว่า ทั้งธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัย ไม่มีระบบยืนยันตัวตนโดยใช้การสแกนใบหน้าลูกค้า มีเพียงการขอ ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ เพื่อวัตถุประสงค์ในการขอเอาประกันภัยเท่านั้น ไม่มีกรณีการขอเลขที่บัญชีธนาคารลูกค้า (ยกเว้นกรณีที่ลูกค้าขอเคลมแล้ว จึงจำเป็นต้องให้ลูกค้าแจ้งเลขบัญชีเพื่อโอนเงินสินไหมเท่านั้น)
คำว่า “โบรกเกอร์ (Broker)” หมายถึง ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจการเป็นนายหน้า ซึ่งมีทั้งนายหน้าประกันภัยประเภทบุคคลธรรมดาและประเภทนิติบุคคล โดยธุรกิจของ “โบรกเกอร์ที่เป็นบริษัทนายหน้านิติบุคคล” ต้องดำเนินการตามกฏและระเบียบภายใต้การกำหนดของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
รวมถึง ภาคธุรกิจประกันภัยเรามี Compliance and Corporate Governance สูง การกำกับดูแล ความเสี่ยง และการปฏิบัติตามข้อกำหนด ต้องจัดทำกฏ ระเบียบ คู่มือการดำเนินงานให้พร้อม
ในฐานะผู้ทำหน้าที่ดำเนินงานเกี่ยวกับนายหน้าการประกันชีวิตและนายหน้าประกันวินาศภัย ทางสมาคมฯ ตระหนักและให้ความสำคัญต่อการดำเนินการตามกฏระเบียบที่ถูกต้องโดยเฉพาะนโยบายการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า ซึ่งมีหน้าที่ที่ต้องดำเนินการให้สอดคล้องตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนในการทำประกันภัยเท่านั้น
สมาคมฯ และนายหน้าทุกท่านมีความห่วงใยและพร้อมร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือ ป้องกันและติดตามผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายให้ถึงที่สุด รวมถึงพร้อมให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงานในการส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ เพื่อช่วยให้คนไทยมีภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์และใช้เทคโนโลยีออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย มิให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่อยู่ในวิชาชีพประกันภัย และสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจของประชาชนให้กลับมา
ทั้งนี้ สมาคมฯ ต้องการฝากไปยังบุคคลหรือบริษัทนายหน้าฯ ขอให้ยึดหลักจรรยาบรรณของวิชาชีพที่มีเกียรตินี้ โดยต้องตระหนักและเคารพถึงสิทธิของผู้ร่วมวิชาชีพเดียวกัน และร่วมมือกันสอดส่อง ป้องกัน มิให้ผู้กระทำความผิดทำการทุจริตในรูปแบบต่าง ๆ โดยให้นึกถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ลูกค้าและประชาชน ควรต้องติดตามและตรวจสอบใบอนุญาตนายหน้าจากทาง เว็บไซส์ของ คปภ. ว่ามีอยู่จริงและยังคงสถานะอยู่หรือไม่ เพื่อลดความเสี่ยงในการตกเป็นเหยื่อจากมิจฉาชีพซึ่งอาจจะมาในรูปแบบต่าง ๆ ต่อไป ตรวจสอบทะเบียนใบอนุญาตตัวแทน / นายหน้า (oic.or.th)