วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 เวลา 17.00 น. ที่ศาลาว่าการ กทม. นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมการแก้ไขปัญหาการก่อสร้างบนผิวจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีนายฐิติวุฒิ เงินคล้าย รองผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง พร้อมตัวแทนหน่วยงาน ได้แก่ สำนักการจราจรและขนส่งสำนักการระบายน้ำ สำนักการโยธา การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การประปานครหลวง (กปน.) บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) เข้าร่วม

 

นายวิศณุ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เนื่องจาก 2 เหตุการณ์ที่ผ่านมา คือ เหตุฝาบ่อท่อร้อยสายใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง และ ฝาบ่อก่อสร้างท่อส่งน้ำของ กทม.ทรุดหัก ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยกำหนด 4 มาตรการ คือ1.ควบคุมน้ำหนักรถบรรทุก โดยปกติหน่วยงานสามารถพิจารณาด้วยสายตาได้ เพราะรถบรรทุกเปล่ามีน้ำหนักประมาณ 10 ตัน บรรทุกได้จริง 15 ตัน ตามกฎหมายกำหนดไม่เกิน 25 ตัน สังเกตการบรรทุกต้องไม่เกินครึ่งหนึ่งของกระบะ หากพบบรรทุกเกินครึ่งกระบะ ต้องขอให้มีการตรวจสอบ 2.หาวิธีเพิ่มการรับน้ำหนักของฝาบ่อที่มีทั้งหมดให้สามารถรับน้ำหนักเกิน 25 ตัน 3.ปรับฝาบ่อให้ใหญ่ขึ้น และปรับผิวให้เรียบเสมอผิวถนน พร้อมตรวจสอบจุดเสี่ยงเพิ่มความแข็งแรงของฝาบ่อ โดยรองผู้ว่าการ กฟน.ระบุว่า จะดำเนินการให้แล้วเสร็จทั้ง 617 บ่อพัก ภายในต้นปี2567 และ 4.เรื่องดินทรุดตัว เนื่องจาก กฟน.มีเวลาทำงานน้อย ตั้งแต่ 22.00 น.-05.00 น. เพื่อเปิดการจราจร ซึ่งใช้เวลาทำงานจริงไม่กี่ชั่วโมง เพราะต้องเตรียมงานและเก็บงานให้เรียบร้อยก่อนเวลาเปิดถนน 05.00 น. จึงไม่สามารถดันท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินให้เสร็จภายในวันเดียวได้ เป็นสาเหตุของดินทรุดตัว กทม.จึงอนุญาตให้ขยายเวลาการก่อสร้างในวันหยุด

 

ด้านนายฐิติวุฒิ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ในจำนวนฝาบ่อท่อร้อยสายไฟฟ้าของ กฟน. ทั้ง 617 บ่อ ไม่เคยมีปัญหา เพราะออกแบบโดยมีวิศวกรรับรอง สามารถรับน้ำหนักได้เกิน 28 ตัน ซึ่งฝาบ่อที่มีปัญหาใช้งานมากว่า 1 เดือน ยืนยันว่า มีความแข็งแรงแน่นอน แต่เพื่อความสบายใจของประชาชน กฟน.จะออกแบบเพิ่มเติมเพื่อให้แข็งแรงขึ้น โดยการปรับขนาดทุกฝาบ่อให้กว้างขึ้นเพื่อรองรับน้ำหนักเพิ่ม เบื้องต้นยังตอบไม่ได้ว่าสามารถเพิ่มได้กี่ตัน ต้องรอการออกแบบโดยปกติเมื่อเดินท่อร้อยสายเสร็จในแต่ละจุด จะนำฝาบ่อเดิมไปใช้จุดอื่นหมุนเวียน 3-4 ครั้ง จึงเปลี่ยนฝาบ่อใหม่ ในคืนนี้ จะนำชิ้นส่วนของฝาบ่อที่เกิดปัญหาบริเวณถนนสุขุมวิท 64/1 มาตรวจสอบสาเหตุ

 

นายวิศณุ กล่าวว่า สาเหตุที่ไม่ชั่งน้ำหนักรถบรรทุกในที่เกิดเหตุให้เรียบร้อย เนื่องจาก ผู้ยกรถแนะนำให้ตักดินออกก่อนเพื่อลดความเสี่ยง แล้วนำดินที่ตักได้ไปใส่รถอีกคันเพื่อนำไปเท ปัจจุบันนำดินที่เทไว้กลับมาใส่รถบรรทุกคันเดิมแล้ว เพื่อรอการชั่งน้ำหนักต่อไป ทั้งนี้ การบรรทุกน้ำหนักเกินทำให้อายุการใช้งานของถนนและสะพานสั้นลง เบื้องต้นวางแผนสั่งห้ามรถบรรทุกวิ่งผ่านฝาบ่อที่มีการก่อสร้างท่อส่งน้ำของ กทม. 3 จุด เช่น ที่ถนนศรีอยุธยา ราชปรารภ รวมถึงกำลังรวบรวมจุดเสี่ยง เช่น สะพานต่าง ๆ ที่มีการใช้งานมานาน เพื่อห้ามรถบรรทุกวิ่งผ่าน โดยจะมีการหารือและกำหนดมาตรการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร็ว ๆ นี้