วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 ที่ศาลาว่าการ กทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกันแถลงข่าวกรณีฝาบ่อท่อร้อยสายไฟฟ้ายุบตัว บริเวณซอยสุขุมวิท 64/1 เขตพระโขนง เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากรถบรรทุกน้ำหนักเกิน
โดยนายชัชชาติ กล่าวว่า แนวทางแก้ไขป้องกันในอนาคต เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในขณะนี้ ที่ผ่านมา กทม.ร่วมกับกรมทางหลวงกำหนดน้ำหนักรถบรรทุกตามประกาศผู้อำนวยการทางหลวงท้องถิ่น ฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2565 เรื่องห้ามใช้ยานพาหนะที่มีน้ำหนักบรรทุก หรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าที่ได้กำหนด หรือโดยที่ยานพาหนะนั้นอาจทำให้ทางหลวงเสียหาย เดินบนทางหลวงท้องถิ่น ในเขตความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ กทม.ไม่ได้เป็นผู้ชั่งน้ำหนักรถบรรทุกแม้จะสามารถเรียกตรวจได้ เนื่องจาก กรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการ เพราะมองว่ารถบรรทุกส่วนใหญ่วิ่งอยู่นอกเมือง ด่านชั่งน้ำหนักต่าง ๆ จึงอยู่นอกเมือง รวมถึง การตั้งด่านชั่งน้ำหนักในเมืองอาจทำให้รถติดมากขึ้นตลอดจน กทม.ไม่มีเครื่องชั่งน้ำหนักรถ และไม่มีอำนาจไปจับกุมผู้กระทำผิดส่งฟ้องศาล เป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ กทม.เป็นเพียงผู้ส่งหลักฐานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการเท่านั้น
ปัจจุบันยังระบุไม่ได้ว่ารถบรรทุกดังกล่าวมีความผิดโทษฐานบรรทุกน้ำหนักเกินหรือไม่ ต้องรอกรมทางหลวงดำเนินการปรับเปลี่ยนล้อหน้าของรถบรรทุกที่ชำรุดจากอุบัติเหตุ เพื่อนำเข้าระบบชั่งน้ำหนักวัดปริมาณดินที่บรรทุกมาตามมาตรฐานต่อไป ที่ผ่านมา กทม.ทำหน้าที่ตรวจสอบรถบรรทุกกรณีทำวัสดุร่วงพื้นถนน ไม่มีผ้าคลุม โดยเจ้าหน้าที่เทศกิจ ซึ่งวันเกิดเหตุ ยังต้องรอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาถึงก่อน เพื่อจะทำการตรวจวัดน้ำหนักรถบรรทุกได้ กทม.ถูกปฏิเสธไม่ให้ตรวจวัด ซึ่งหากตรวจสอบพบว่าบรรทุกน้ำหนักเกิน 25 ตัน มีโทษคดีอาญา ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท จำคุกไม่เกิน6 เดือน
ส่วนเรื่องฝาบ่อต่าง ๆ บนถนน เป็นการดำเนินงานชั่วคราวระหว่างก่อสร้าง เพื่อเจ้าหน้าที่สามารถเปิดฝาบ่อลงไปก่อสร้างต่อได้ในเวลากลางคืน และปิดในเวลากลางวัน โดยฝาบ่อแต่ละจุดออกแบบให้รับน้ำหนักได้เกิน 25 ตันเท่ากัน แต่มีความปลอดภัยในแต่ละจุดไม่เท่ากัน ปัญหาที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดคือพื้นบริเวณฝาบ่อไม่เรียบ และอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากรถบรรทุก โดยมาตรการป้องกัน กทม.ได้กำชับหน่วยงานให้ดูแลเรื่องความปลอดภัยตามจุดก่อสร้างชั่วคราวต่าง ๆ และจุดก่อสร้างขนาดใหญ่กว่า 317 จุด โดยเฉพาะการควบคุมรถบรรทุกน้ำหนักเกิน หากผู้รับจ้างก่อสร้างปล่อยให้มีการบรรทุกน้ำหนักเกินจะส่งผลต่อการระงับใบอนุญาตก่อสร้างทั้งโครงการ เพราะถือว่าเอาเปรียบ และกทม.มีอำนาจในส่วนนี้ รวมถึงเน้นย้ำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบการก่อสร้างดูแลรับผิดชอบโครงการของตนเอง เช่น การไฟฟ้านครหลวง ดูแลเรื่องฝาบ่อท่อร้อยสายไฟฟ้าลงดินของตนเอง กทม.ดูแลเรื่องฝาบ่อการก่อสร้างท่อระบายน้ำ เป็นต้น ซึ่งต้องทำให้มีความแข็งแรงปลอดภัย
นายวิศณุ กล่าวว่า ปัจจุบัน กทม.กำลังศึกษาวิจัยเครื่องวัดน้ำหนักรถบรรทุกของตนเองร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ทดลองติดตั้งไปแล้วบางส่วน แต่ไม่บอกว่าที่ไหน เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยง โดยเครื่องดังกล่าวเรียกว่า Bridge Weigh In Motion (สะพานชั่งน้ำหนักตามการเคลื่อนไหว) เน้นการติดตั้งบนสะพาน จุดประสงค์หลักคือเพื่อควบคุมน้ำหนักบนสะพาน รวมถึงต้องการนำเทคโนโลยีนี้มาบันทึกข้อมูลเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดี จากการทดลอง พบรถบรรทุกที่มีลักษณะคล้ายคันที่เกิดเหตุเมื่อวานนี้ (8พ.ย.) เครื่องวัดระบุค่าตัวเลขได้เมื่อวันที่ 12 ก.ค.66 เวลา 15.32 น. มีน้ำหนักถึง 61.4 ตัน ซึ่งเป็นข้อมูลเก่าที่พบจากการทดลองเท่านั้น ไม่ได้ชี้ว่าปัจจุบันรถบรรทุกคันดังกล่าวมีความผิดฐานบรรทุกน้ำหนักเกินเป็นเหตุให้เกิดฝาบ่อยุบตัวเมื่อวานนี้ เนื่องจากเทคโนโลยีดังกล่าวอยู่ในขั้นศึกษาทดลอง ยังไม่ยอมรับจากกฎหมาย เพราะเป็นการวัดน้ำหนักขณะรถเคลื่อนที่ อยู่ระหว่างศึกษาวิจัย เช่นความคลาดเคลื่อนของการวัดค่า การบังคับใช้ทางกฎหมาย การแก้กฎหมาย ซึ่งในต่างประเทศมีการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้แล้ว เป็นแนวทางแก้ปัญหาในขณะนี้ ทดแทนการตั้งด่านชั่งน้ำหนักในกทม. เนื่องจากติดขัดด้านพื้นที่และปัญหาการจราจร เบื้องต้นกทม.วางแผนติดตั้ง 10 จุด คาดว่าการศึกษาวิจัยจะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน
นายชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม การติดตั้งเครื่องตรวจวัดเป็นไปเพื่อส่งหลักฐานต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเท่านั้น เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องมีการประสานงานร่วมกันให้ชัดเจนทั้งกรมทางหลวง กทม.และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะหาก กทม.ศึกษาวิจัยและติดตั้งเครื่องวัดสำเร็จ แต่เมื่อส่งต่อข้อมูลผู้กระทำความผิดไปแล้วไม่มีการดำเนินการต่อ เทคโนโลยีนี้ก็ถูกใช้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เป็นไปเพื่อควบคุมป้องกันน้ำหนักบนสะพานเท่านั้น ส่วนเรื่องส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก กทม.ไม่ยุ่งเกี่ยว แต่หากพบต้องคุยกับตำรวจ เพราะที่ผ่านมาอำนาจดูแลเรื่องนี้อยู่กับตำรวจหน่วยงานเดียว หากร่วมกันดูแลควบคุมทั้งกรมทางหลวง ตำรวจ และกทม. จะช่วยเรื่องกระจายอำนาจได้ ทำให้ส่วยน้อยลง