เมื่อวันที่ 9 พ.ย.66 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า...

PM2.5...ผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวม,,,

PM2.5 นั้นได้รับการศึกษาวิจัยทั่วโลก ชี้ให้เห็นว่าทำให้เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพตามมามากมาย

ทั้งเรื่องมะเร็งปอด รวมถึงปัญหาของระบบทางเดินหายใจ อาทิ หอบหืด หลอดลมอักเสบเรื้อรัง และอื่นๆ

นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคไตเสื่อมเรื้อรัง

และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจนต้องไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล และการเสียชีวิต

...ผลต่อสตรีที่มีครรภ์...

สำหรับสตรีที่มีครรภ์ ก็พบว่าการสัมผัสกับฝุ่นละอองขนาดเล็กเหล่านี้จะส่งผลต่อทารกในครรภ์ด้วย โดยสัมพันธ์กับภาวะน้ำหนักตัวน้อย และปัญหาอื่นๆ ระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น

...สิ่งที่ควรทำในฤดู PM2.5...

การปฏิบัติตัวในยุคปัจจุบัน จึงต้องหมั่นอัพเดตสถานการณ์ ประเมินสภาพแวดล้อมรอบตัว และหาทางป้องกันตัวจากฝุ่นละออง PM2.5 เหล่านี้

การลดละเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งในพื้นที่ที่มีฝุ่นละอองมาก

การออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน ควรใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ

ที่บ้าน ที่ทำงาน ที่สถานศึกษา ควรมีการติดตั้งระบบระบายอากาศให้ดี รวมถึงการหาเครื่องฟอกอากาศที่มี HEPA filter และมีสมรรถนะในการฟอกอากาศเหมาะสมกับพื้นที่ห้อง

สภาพแวดล้อมในสังคม เช่น สถานีขนส่งสาธารณะใต้ดิน เคยมีงานวิจัยต่างประเทศชี้ให้เห็นว่ามีโอกาสที่มีระดับฝุ่นละอองขนาดเล็กสูงกว่าปกติถึงสองเท่า หากไม่มีระบบระบายอากาศที่ดีพอ ดังนั้นจึงควรมีการตรวจประเมินเป็นระยะ และพัฒนาระบบการระบายและกรองอากาศให้มีประสิทธิภาพ

การมีเครื่องวัดคุณภาพอากาศ เพื่อใช้ประเมินได้ จะเป็นประโยชน์ ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน หรือพกติดตัวเวลาตะลอน

หากมีโรคประจำตัว สูงอายุ หรือเด็กเล็ก ควรใส่ใจป้องกันเป็นพิเศษ และหากมีโรคที่มีโอกาสกำเริบได้ง่าย เช่น หอบหืด ควรพกยาพ่นไว้ติดตัวด้วยเผื่อฉุกเฉิน