วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ทำเนียบรัฐบาล นายวุฒิสาร ตันไชย ประธานการประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ เปิดเผย ว่า ในวันเดียวกันนี้มีการเชิญผู้แทนจาก กกต. มาร่วมหารือเรื่องขั้นตอนทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อสอบถามเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การทำประชามติว่าตามกรอบกฎหมาย เงื่อนไขเวลาต่างๆ ในการกำหนดการทำประชามติแล้ว จะต้องมีขั้นตอนและเงื่อนไขอย่างไร ซึ่ง เราก็อยากจะทราบว่า หากจะทำประชามติ จะมีการใช้งบประมาณเท่าไร

นายวุฒิสาร กล่าวว่า นอกจากนี้จะหารือว่าการทำประชามติจะสามารถ ทำแบบการลงอิเล็กทรอนิกส์ได้หรือไม่ หรือการทำประชามติที่ง่ายขึ้น เนื่องจากการทำประชามติครั้งนี้อาจจะแตกต่างจากการเลือกตั้งทั่วไป เพราะไม่มีส่วนได้เสียแบบตรงไปตรงมา เพราะฉะนั้นถ้าจะทำให้ง่ายขึ้น จะทำได้หรือไม่อย่างไร และจะมีการสอบถามจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ว่า การตั้งคำถาม การทำประชามติ ซึ่งหลักการทำประชามติมีทั้งผลผูกพันกับคำถาม นั่นก็คือผูกพันกับรัฐบาล หรือ เป็นประชามติแบบปรึกษาหารือ เพราะถ้าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจจะมีประเด็นหลายเรื่อง ที่จะมีการสอบถาม ในเชิงหารือกับประชาชน ดังนั้นสิ่งเหล่านี้จะหารือกับกกต.รวมถึงกรอบเวลา ที่จะมีการเลือกตั้ง

"อย่างการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งผมเข้าใจว่าปีหน้า หรืออาจจะต้นปี 68 จะมีการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งจะมีการเลือกตั้งทั้งประเทศ เราจะสามารถพ่วงกับการทำประชามติได้หรือไม่ และจะหารือกับ กกต. เพื่อให้ทราบแนวทางว่าถ้าจะออกแบบ และถ้าข้อพิจารณาของอนุกรรมการชุดนี้เห็นว่า จะสามารถทำประชามติ จะทำได้กี่ครั้งอย่างไร จะได้นำกรอบพิจารณา และระยะเวลาเหล่านี้ไปพิจารณา" 

ผู้สื่อข่าวถามว่าได้มีการกำหนดไทม์ไลน์ ที่จะสรุปข้อมูลทั้งหมดเมื่อใด นายวุฒิสาร กล่าวว่า ตามที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้ชี้แจงไปว่า ประมาณสิ้นปีนี้คงจะได้ข้อยุติเบื้องต้น เพื่อนำเสนอให้กับคณะกรรมการชุดใหญ่ เพราะอนุกรรมการ 2 ชุดที่กำลังทำงานอยู่ในขณะนี้ ซึ่งคณะอนุกรรมการที่ทำงานมากหนักหน่อยในขณะนี้คือชุดของนายนิกร จำนง ที่ไปรับฟังความคิดเห็น ซึ่งวันที่ 15 พ.ย.นี้ ก็จะมีการรับฟังความคิดเห็นที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เกี่ยวกับเนื้อหาสาระที่จะแก้ไขการจัดทำรัฐธรรมนูญ

นายวุฒิสาร กล่าวว่า อนุฯชุดของตน จะพิจารณาในลักษณะข้อกฎหมาย เป็นการศึกษาข้อกฎหมายของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ผูกพันอยู่ว่าสรุปแล้วการทำประชามติจะต้องทำกี่ครั้ง เพราะนโยบายรัฐบาลประกาศว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องคงหมวด 1 หมวด 2 ซึ่งก็ต้องมาดูว่าการยกเว้นหมวด 1 หมวด 2 จะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ อย่างไรก็ตามคณะอนุฯชุดนี้อาจมีการทอดเวลา ด้วยการรับฟังข้อมูล จากคณะอนุฯชุดที่สอง และรับฟังความเห็นของคนทั่วไป ขณะเดียวกัน ก็จะไปหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง และ คนที่เป็นนักกฎหมายทั้งหลาย เพื่อมาช่วยกันให้คำตอบ

เมื่อถามว่า แสดงว่าเหลือเวลาไม่ถึง 2 เดือน นายวุฒิสาร กล่าวว่า ตามกรอบเวลาก็น่าจะเป็นอย่างนั้น อย่างน้อยที่สุดก็น่าจะได้ข้อสรุปเบื้องต้น ที่จะนำเสนอ แต่น่าจะมีความชัดเจนว่าหากจะทำ ต้องทำอย่างไร ทั้งนี้ต้องหารือกับคณะกรรมการชุดใหญ่ก่อน

เมื่อถามว่า มีการกำหนด การประชุมครั้งสุดท้ายในช่วงสิ้นปีเมื่อไหร่ นายวุฒิสาร กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับประธานที่จะนัดประชุม ซึ่งปลายเดือนนี้ คิดว่าน่าจะมีการประชุมร่วมกัน และอีกครั้งหนึ่งคือในช่วงเดือนธันวาคม